ห่วงคนไทยใช้’สเตียรอยด์’พร่ำเพรื่อ
“กพย.”เผยปัญหาการใช้ยาคนไทย พบประชาชนซื้อยาเอง โดยเฉพาะสเตียรอยด์ซื้อโดยไม่มีใบสั่งแพทย์หรือเภสัชกรในหลายพื้นที่ ห่วงหลงเชื่อยาอันตรายที่อวดอ้างสรรพคุณรักษาได้ทุกโรค ด้าน “อย.”เล็งคุมเข้มให้ขายได้แค่ในโรงพยาบาลเท่านั้น
ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวถึงปัญหาการใช้ยายังคงมีอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทยว่า กพย.ได้รวบรวมกรณีตัวอย่างผลกระทบจากการใช้ยาต่างๆ โดยร่วมกับภาคีเครือข่าย เภสัชกรประจำโรงพยาบาลทุกระดับในการรวบรวมเคส เพื่อจัดทำเป็นหนังสือเรื่องเล่าทุกข์จากยา คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน ขณะเดียวกันก็จะเสนอสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อนำไปพิจารณาหาทางป้องกันปัญหา รวมทั้งหาทางแก้ไข ทั้งนี้ ปัญหาส่วนใหญ่คือ มีการใช้ยาไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการใช้ยาสเตียรอยด์ ซึ่งจัดเป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องมีใบสั่งแพทย์ และเภสัชกรเป็นผู้จ่ายยา แต่ในความเป็นจริงอย่างในพื้นที่ต่างจังหวัด กลับพบการจำหน่ายยากลุ่มนี้โดยไม่มีใบสั่งแพทย์ และไม่มีเภสัชกรประจำร้านด้วยซ้ำ
ผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า ปัญหาที่พบคือ ประเทศไทยมีกฎหมายบังคับใช้ แต่ในทางปฏิบัติกลับทำไม่ได้จริง ซ้ำร้ายในบางพื้นที่ยังพบมีการลักลอบขายยากลุ่มสเตียรอยด์ในร้านขายของชำอีก ซึ่งถือว่าผิดชัดเจน แต่พอไปตรวจสอบก็ไม่พบ ตรงนี้เป็นปัญหาต้องมีการล่อซื้ออีก จึงถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาตื่นตัว ไม่ใช่แค่ออกกฎหมายต่างๆ แต่กลับใช้ไม่ได้จริง สิ่งสำคัญ อย.จะต้องมีการตรวจสอบการกระจายยาอย่างสม่ำเสมอ เช่น เมื่อมีการผลิตยาสเตียรอยด์ออกมา ต้องตรวจสอบว่าจ่ายไปที่แหล่งใด และจ่ายไปให้ใคร มีใบสั่งแพทย์หรือไม่ ต้องทำเป็นสถิติออกมา เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันการผลิตยาสเตียรอยด์ไม่ได้ผิดกฎหมาย และยากลุ่มนี้มีประโยชน์ในการรักษาโดยแพทย์ แต่กลับมีการนำสารสเตียรอยด์ไปผสมกับอาหารเสริม หรือสมุนไพรต่างๆ อวดอ้างสรรพคุณ เมื่อผู้ป่วยใช้ไปนานๆ ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนั้น อย.ต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้
"ยาสเตียรอยด์ จัดเป็นยาควบคุมพิเศษที่ทราบกันดีว่าหากรับประทานโดยไม่ได้รับการควบคุมย่อมส่งผลกระทบต่อร่างกาย ทั้งกดภูมิคุ้มกันในร่างกาย กระดูกบางลง แผลในกระเพาะอาหาร ฯลฯ แต่ก็ยังพบลักลอบผสมอาหารเสริมจำนวนมาก และในยาสมุนไพรทั้งยาน้ำ ยาลูกกลอนมีหมด โดยอ้างว่าสามารถรักษาอาการต่างๆ ได้ ทั้งปวดเมื่อย ปวดหัวเรื้อรัง กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทั้งหมดล้วนผสมสารสเตียรอยด์ นอกจากนี้ ในพื้นที่ชุมชนยังพบการจำหน่ายยาชุดอยู่ ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายนนี้ กพย. จะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์เตือนภัยยาสเตียรอยด์เพื่อให้เห็นถึงพิษภัยของสารดังกล่าว"
ด้าน ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย. ได้พัฒนาระบบและกลไกการดูแลสเตียรอยด์ ตั้งแต่การนำเข้า การผลิต และการจำหน่าย ซึ่งทุกขั้นตอนต้องมีการทำทะเบียน และรายงานข้อมูล ทำให้สามารถทราบข้อมูลแบบทันเหตุการณ์ รวมถึงได้ ออกกฎกระทรวงเพื่อบังคับเรื่องช่องทางการจำหน่ายด้วย หากการแก้ปัญหายังไม่ได้ผล อย.ก็จะพิจารณาการห้ามขายในช่องทางทั่วไป ให้จำหน่ายได้ในโรงพยาบาลเท่านั้นต่อไป นอกจากนี้ ยังมีหน่วยติดตามดูแล ผู้ลักลอบวัตถุดิบเข้ามาในประเทศ รวมทั้งการนำเคมีภัณฑ์ ลักลอบขายให้โรงงานยาบางแห่ง เพื่่อนำไปลักลอบขาย และนำไปเติมในอาหารเสริม โดยได้ประสานกับ บก.ปคบ.หากพบว่า เป็นสถานประกอบการที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง แต่ลักลอบผลิตยาตัวนี้โดยไม่รายงาน หรือร้านขายยาที่ได้รับใบอนุญาตนำมาจำหน่ายโดยไม่รายงาน ก็จะมีโทษการระงับใบอนุญาตต่อไป
ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต