ห่วงคนอีสานฮิตกินเสี่ยงป่วยพยาธิใบไม้ตับ หนุนอสม.ให้ความรู้ใช้หลักสุขบัญญัติ
ที่มา : เว็บไซต์สยามรัฐ
ห่วงคนอีสานฮิตกินเสี่ยงป่วยพยาธิใบไม้ตับ หนุนอสม.ให้ความรู้ใช้หลักสุขบัญญัติ
นพ.สุระวิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การบริโภคปลาน้ำจืดดิบยังเป็นที่นิยมของประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ การอักเสบของท่อน้ำดีมะเร็งท่อน้ำดี และอาจเสียชีวิตได้ตามลำดับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองสุขศึกษา ได้ดำเนินการเฝ้าระวังพฤติกรรมการบริโภคปลาน้ำจืดดิบระหว่างวันที่ 20 มี.ค.-7 เม.ย.66 ร่วมกับสำนักอนามัย กทม.สำนักการศึกษา กทม.สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และศึกษาธิการจังหวัด กลุ่มตัวอย่างจำนวน 12,356 คน จากทุกภูมิภาค พบว่าประชาชนไทยมีพฤติกรรมการบริโภคปลาน้ำจืดดิบ 10.9% โดยภาคอีสานเป็นภาคที่มีการบริโภคมากที่สุด 18.7% รองลงมาเป็นภาคเหนือ 13% ภาคกลาง 8.7% และภาคใต้ 7% ตามลำดับ เมนูที่นิยมรับประทาน ดิบมากที่สุด คือ ปลาร้า แจ่วบองดิบ และลาบปลาน้ำจืดดิบ โดยเหตุผลหลักๆ คือรับประทานตามครอบครัว ญาติพี่น้อง รับประทานเพราะมีเทศกาลหรืองานสำคัญ หาซื้อรับประทานได้ง่าย และคิดว่ารสชาติอร่อยกว่าปลาปรุงสุก
และพบว่าผู้ที่ทำอาหารให้กับครอบครัวมีความเชื่อว่าการทำให้เนื้อปลาสุก ทำได้โดยนำปลาไปสะดุ้งในน้ำร้อนแล้วยกขึ้นทันที หรือแช่ในน้ำโซดา 3 นาที และบีบมะนาวหรือใส่พริกลงในเนื้อปลาซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง นำไปสู่พฤติกรรมการบริโภคปลาน้ำจืดดิบได้ กรม สบส.ได้ดำเนินการขับเคลื่อนตำบลจัดการคุณภาพชีวิตปลอดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี โดยนำร่องในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 30 จังหวัด ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงผ่านกระบวนการสนับสนุนชุดสื่อความรู้ให้กับ อสม. ให้ความรู้เรื่องวิธีการบริโภคปลาน้ำจืดที่ถูกวิธีกับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง พร้อมเตือนภัยพฤติกรรมเสี่ยง
ด้าน นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การบริโภคปลาควรล้างให้สะอาด และปรุงสุกด้วยความร้อนอย่างทั่วถึงก่อนนำมารับประทาน ตามหลักสุขบัญญัติข้อที่4 กินอาหารสุก สะอาด ปราศจากสารอันตราย ไม่ทานสุกๆ ดิบๆ ไม่ใช้เขียง มีด ที่หั่นหรือสับเนื้อปลาน้ำจืดดิบร่วมกันกับวัตถุดิบอื่น เช่น ผักสด ผลไม้ที่สำคัญจะต้องล้างมือให้สะอาดก่อนปรุงอาหารและก่อนรับประทานอาหาร ต้องขับถ่ายในส้วมให้ถูกสุขลักษณะ หากถ่ายไม่ถูกที่ ของเสียที่ลงสู่แม่น้ำลำคลอง จะทำให้ไข่ของพยาธิใบไม้ตับมีโอกาสแพร่กระจายเข้าสู่สัตว์น้ำจืดที่เป็นพาหะของพยาธิใบไม้ตับได้