หารือปัญหา ‘ขายเหล้าให้เด็ก’

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ไทยโพสต์


หารือปัญหา 'ขายเหล้าให้เด็ก' thaihealth


เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายมหาวิทยาลัยปลอดเหล้า เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายองค์กรงดเหล้าจัดเวทีเสวนา "ปัญหาขายเหล้าให้เด็ก ผลกระทบและการบังคับใช้กฎหมาย" ที่เดอะฮอลล์ บางกอกกรุงเทพฯ


"ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล" รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัญหาการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้กับเด็กและเยาวชนไทยยังน่าเป็นห่วง จากรายงานของศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ที่ทดสอบให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านค้า 417 ร้าน ใน 4 จังหวัด พบว่า ร้อยละ 99 สามารถซื้อได้สำเร็จ ทั้งที่เป็นการจำหน่ายที่ผิดกฎหมายสอดคล้องกับข้อมูลของเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ยังพบเห็นการใช้ให้เด็กอายุเพียง 6 ขวบ ไปซื้อเหล้าเบียร์ในร้านสะดวกซื้อ


นอกจากนี้ ศวส.สำรวจจำนวนร้านค้าที่ปฏิบัติตามมาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 300 เมตรรอบสถานศึกษา เปรียบเทียบระหว่างมหาวิทยาลัย 7 แห่ง ที่บังคับใช้กฎหมายเข้มข้นกับ 8 แห่งที่ไม่เข้มข้นในปี 2559 พบว่า ในพื้นที่ที่มีการบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น เจ้าหน้าที่ลงตรวจร้านเหล้ามากกว่า และเห็นว่าร้านค้าลดลงไปมากกว่าตลอดจนยอมรับว่ายอดขายลดลงมาก ส่งผลให้นักศึกษาและประชาชนรู้สึกเดือดร้อนรำคาญลดลง และเห็นการทะเลาะวิวาทตีกันลดลง เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้น


"จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเยาวชนยังเป็นปัญหาใหญ่ ทุกภาคส่วนคงต้องช่วยกัน ภาคธุรกิจควรต้องมีจิตสำนึกปฏิบัติตามกฎหมายไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเยาวชนภาครัฐต้องบังคับใช้กฎหมายให้จริงจังมากขึ้น ภาคประชาชนต้องช่วยกันเฝ้าระวังอย่างเข้มแข็งต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่เยาวชนจะฉลองด้วยการดื่มมากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุเมาแล้วขับ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเยาวชนคือกลุ่มที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากที่สุดในช่วงสงกรานต์ทุกๆ ปี" ดร.นพ.บัณฑิต กล่าว


ด้าน "นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช" ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กล่าวว่า การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเยาวชน แม้จะมีกฎหมายควบคุมแล้ว แต่ยังไม่เห็นผลเท่าที่ควร ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องให้ความร่วมมือเคารพกฎหมาย ฝากถึงผู้ประกอบการ อยากให้คำนึงถึงสิ่งที่ตามมาอย่าโหมการตลาด อย่าหวังแต่กำไรและไม่อยากให้มองว่ากฎหมายควบคุมมีบทลงโทษน้อย แล้วจะขายให้ใครก็ได้ ยิ่งใกล้เทศกาลสงกรานต์ เป็นช่วงที่ขายแอลกอฮอล์แล้วได้กำไรมาก จึงไม่สนใจทำตามกฎหมาย และมักพบปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ เมาแล้วขับทำให้เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งทุกปี อยากแจ้งผู้ประกอบการเรื่องของการเคารพกฎหมายห้ามขายแอลกอฮอล์ให้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 20 ปี หากตรวจพบว่าฝ่าฝืน จำเป็นต้องดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายเด็ดขาด


ขณะที่ "พ.ต.อ.ฤทธินันท์ ปุ้ยพันธวงศ์" ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ที่ผ่านมา ไม่ใช่ร้านค้าอย่างเดียวที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กเยาวชน แต่ซุ้มตามงานเทศกาลต่างๆ ได้แอบขายแอลกอฮอล์ให้กับเยาวชนด้วย ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขายแอลกอฮอล์ให้กับเด็กเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20  ปี โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์เราจึงร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกตรวจตามหมู่บ้านและจุดเสี่ยง เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักในเรื่องนี้ ส่วนช่วงเวลาปกติจะมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตามร้านสะดวกซื้อที่ใกล้กับสถานศึกษา เพื่อตรวจสอบว่ามีการขายเหล้าให้กับเด็กเยาวชนนักศึกษาหรือไม่ ช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ต้องเข้มงวดเป็นพิเศษ โดยได้ตั้งจุดตรวจเพิ่มขึ้นทั้งถนนสายหลักและถนนสายรอง ซึ่งขณะนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มเตรียมตั้งจุด ตรวจแล้วนอกจากนี้เรายังประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่รับผิดชอบให้ตั้งจุดตรวจในหมู่บ้านพร้อมส่งเจ้าหน้าที่ออกสำรวจร้านค้าในชุมชนด้วย


"ช่วงเทศกาลสงกรานต์มีผู้ที่ดื่มสูงมีความเสี่ยงสูงก่อให้เกิดอันตรายทั้งทรัพย์สินและร่างกาย หากเป็นไปได้ไม่อยากให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการจำหน่ายให้กับเยาวชนส่วนผู้ปกครองควรเลิกสนับสนุนให้ลูกหลานดื่มแอลกอฮอล์ และปลูกฝังทัศนคติใหม่เกี่ยวกับการดื่มของมึนเมาจะได้ไม่ต้องมานั่งร้องไห้เสียใจที่ลูกหลานเมาแล้วขับจนถึงแก่ชีวิต" พ.ต.อ.ฤทธินันท์ กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code