หาดหายไปไหน เมื่อความสงสัยอัพเกรดไปสู่การเรียนรู้
ที่มา : เว็บไซต์ The Potential
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ The Potential
“ทรายหายไปไหน เกิดอะไรขึ้นกับหาดสงขลา?” ย้อนกลับไป 5 ปีก่อน คำถามนี้เป็นคำถามที่ติดอยู่ในใจเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ในวันที่เธอได้รู้ข้อมูลเรื่องการกัดเซาะและการพังทลายของชายหาดที่อยู่ไม่ไกลจากที่ตั้งโรงเรียนของเธอ
คงเพราะสัญชาตญาณความเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ในตัว เกรซ-เพรชเชิซ เอเบเล อีเลชุคกู ตัวแทนกลุ่มเยาวชน Beach for Life หรือ หาดเพื่อชีวิต หนึ่งในโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา วิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ทำให้เธอไม่ปฏิเสธคำชักชวนของเพื่อนสนิท ให้สมัครเข้าเป็นสมาชิกรุ่นที่ 3 ของชมรม
ชมรม Beach for Life ก่อตั้งมาได้ราว 6 ปี ชมรมนี้เกิดขึ้นภายใต้ ‘โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา’ ที่ต้องการสร้างพื้นที่การเรียนรู้จากชีวิตจริงให้เด็กและเยาวชนในท้องถิ่น ได้มีโอกาสทำงานเพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาให้ชุมชน ด้วยเชื่อว่าการเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตจะช่วยให้เด็กและเยาวชนเกิดความเข้าใจชุมชนตนเอง และค่อยๆ เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับชุมชน ท้ายที่สุดเด็กและเยาวชนจะลุกขึ้นมาสนใจและใส่ใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง สังคม และโลก
หากใช้ภาษาทางการขึ้นมาหน่อย เราอาจจะเรียกกระบวนการนี้ว่าเป็นกระบวนการสร้างให้คนรุ่นใหม่มี สำนึกความเป็นพลเมือง (Active Citizen) จากการสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Learning by Doing) เส้นทางการเรียนรู้นี้จะสร้างความผูกพันให้เกิดขึ้นระหว่างเด็กและเยาวชนกับชุมชน เป็นการปลูกฝังให้เด็กมีความรักและหวงแหนท้องถิ่นเกิดของตัวเอง ซึ่งโครงการนี้สนับสนุนโดย สงขลาฟอรั่มเพื่อประชาคมพลเมืองเด็ก และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
“เราไม่เคยรู้ ไม่สนใจ และไม่เคยเห็นเลยว่าชายหาดถูกกัดเซาะ ทั้งที่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ก่อนหน้านี้เรามองแต่ว่าชายหาดก็คือชายหาดไง มันก็มีทรายเดินลงไปเป็นทะเล แต่เราไม่ได้เห็นว่าภายใต้สิ่งที่มีตรงนั้นมีปัญหาอยู่ด้วย พอได้เข้าไปช่วยงานอาสากับเพื่อนซึ่งเป็นสมาชิกชมรมรุ่นที่ 2 มันมีโมเมนต์ที่ถามตัวเองว่า ที่ผ่านมาเราทำอะไรอยู่ ทำไมเราถึงไม่รู้เรื่องนี้ และมองไม่เห็นปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทั้งที่หาดอยู่ติดกับโรงเรียนขนาดนี้ ก่อนหน้านี้เราแค่รับรู้แล้วผ่านไป เพราะไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรเกี่ยวข้องกับเรา พอได้เห็นแบบนี้เลยสมัครเข้าชมรมเพราะอยากรู้ อยากไปค้นหาคำตอบ” เกรซ เล่าถึงจุดเริ่มต้นเส้นทางชุบชีวิตชายหาดจังหวัดสงขลาของเธอ
แล้วชายหาดเกี่ยวกับ ‘คน’ ตรงไหน?
เกรซบอกว่า ปัญหาบนพื้นที่หาดที่คนทั่วไปขับรถผ่านไปผ่านมาอยู่ทุกวันนี้ คงไม่เกี่ยวข้องอะไรกับใคร หากไม่มองไปให้ไกลถึงอนาคต และไม่มองให้เห็นภาพกว้างถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการกัดเซาะชายฝั่งและการพังทลายของชายหาด โดยเฉพาะพื้นที่หาดชลาทัศน์ บริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนใช้พักผ่อนหย่อนใจ เคยมีทัศนียภาพที่สวยงามเพราะมีชายหาดกว้างขวางให้วิ่งเล่นได้ แต่การกัดเซาะและการพังทลายของดินทำให้ผืนดินแถบนี้ค่อยๆ หายไป
การกัดเซาะชายฝั่งเริ่มเกิดขึ้นประมาณปี 2545 จากการสร้างสถานีสูบน้ำเสียที่หาดเก้าเส้ง ทำให้หาดถูกกัดเซาะจนถนนพัง ต่อมาได้มีความพยายามแก้ปัญหาโดยการวางโครงสร้างแข็งลงไปบนหาด ซึ่งไม่ได้เป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุแต่กลับทำให้เกิดการกัดเซาะในบริเวณถัดไปคล้ายโดมิโน การกัดเซาะในพื้นที่หาดบริเวณเก้าเส้งไปจนถึงหาดชลาทัศน์ทำให้ผืนดินมีหน้าหาดน้อยลง ต่างกับบริเวณหาดสมิหลา (บริเวณที่มีรูปปั้นนางเงือก) ไปจนถึงแหลมสนที่ผืนดินยังคงความสมบูรณ์ไว้ได้ เพราะอยู่ในบริเวณที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโครงสร้างแข็งดังกล่าว
ทำให้เกิดการรวมตัวกันของนักเรียนโรงเรียนมหาวชิราวุธ 5 คนแรกในโครงการ ก่อตั้งชมรม Beach for Life จากความตั้งใจที่ต้องการพิทักษ์ รักษาและฟื้นฟูชายหาดจังหวัดสงขลา ให้รอดพ้นจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและการพังทลายของดิน เป็นระยะทางกว่า 7.8 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่หาดเก้าเส้งบริเวณโขดหินหัวนายแรง มาตามแนวถนนหาดชลาทัศน์ หาดสมิหลา เชื่อมต่อไปยังชายหาดทางทิศเหนือบริเวณแหลมสนอ่อน โดยมีความหวังและความฝันว่าจะทำให้ชายหาดกลับมามีสภาพเป็นหาดกว้าง มีความเป็นระเบียบ และฟื้นฟูให้กลับมามีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เป็นพื้นที่แห่งความสุขที่เป็นมรดกให้คนรุ่นหลัง นอกจากนี้ เกรซ กล่าวอย่างมุ่งมั่นว่า อยากให้คนในพื้นที่เข้าใจเรื่องหาดทรายและการพังทลายของชายหาด เพราะเชื่อว่าความรู้ความเข้าใจของคนหลาย ๆ คนรวมกันจะช่วยให้เกิดการร่วมมือกันเพื่อดูแลชายหาดได้อย่างยั่งยืน
ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบมาอย่างต่อเนื่องจนถึงตอนนี้ก็น่าจะเกือบ 2 ทศวรรษเข้าไปแล้ว แต่น้อยคนนักจะรู้ถึงสาเหตุที่แท้จริงของการพังทลายและการกัดเซาะบริเวณชายหาด เพราะที่ผ่านมาจังหวัดสงขลายังไม่เคยมีข้อมูลหรืองานวิจัยเกี่ยวกับหาดทรายทั้งระบบมาก่อน ถึงจะพอมีองค์ความรู้อยู่บ้าง แต่หาคนที่เข้าใจเรื่องนี้อย่างจริงจังได้น้อยมาก ทำให้การแก้ปัญหาที่ผ่านมาไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของข้อมูล วิธีการแก้ปัญหาจึงไม่เหมาะกับสภาพพื้นที่ จากความหวังดีจึงกลายเป็นหวังร้าย เพราะโครงสร้างแข็งที่สร้างขึ้นบนพื้นที่ชายหาดเพื่อป้องกัน ทั้งกองหินทิ้ง กระสอบทราย และรอดักทราย กลับกลายเป็นตัวเร่งการทำลายผืนดินบริเวณชายหาด
เคาะประตูบ้าน ทลายกำแพงความกลัว
หลังสมัครเข้าเป็นสมาชิกชมรม เกรซรับหน้าที่เป็นฝ่ายประสาน ติดต่อผู้คน โรงเรียนและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกลุ่ม รวมทั้งดูแลจัดการให้กิจกรรมของชมรมเกิดขึ้นและดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
เกรซเล่าว่า การได้ออกไปทำกิจกรรมกับชุมชน ทำให้รู้จักและสัมผัสความจริงในโลกภายนอก โดยเฉพาะการทำความรู้จักกับความจริงที่อยู่ใกล้ตัว แน่นอนว่าการทำงานช่วงแรกเมื่อต้องออกไปพบเจอและพูดคุยกับคนแปลกหน้า เกรซยังคงรู้สึกได้ถึงความกล้าๆ กลัวๆ ที่มีอยู่ในใจ แต่เมื่อฝึกทำบ่อยขึ้นๆ ‘ความกลัว’ จึงค่อยๆ หายไป กลายเป็น ‘ความมั่นใจ’ เข้ามาแทนที่
“การเรียนในห้องเรียนยังเป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นพื้นฐานความรู้ให้เอาไปต่อยอดได้ แต่ไม่เหมือนการออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียนตรงที่ ในห้องเรียนเราเรียนรู้สิ่งที่คนอื่นจัดมาไว้ให้ในหลักสูตรเหมือนกันทั่วประเทศ ไม่มีตัวอย่างใกล้ตัวให้เห็นเพราะเราท่องจำจากในตำราแล้วเอาไปสอบ แต่เรื่องราวในชีวิตจริงอย่างเรื่องหาดมันใกล้ตัวมาก เป็นการเรียนรู้ที่ไม่ต้องจำ แต่การทำกิจกรรมกับชุมชนช่วยให้เกิดการเรียนรู้รอบด้านและฝึกให้มีทักษะชีวิต ทำให้เรารู้จักปรับตัวเข้าหาผู้อื่น” เกรซอธิบาย
เกรซ เล่าตัวอย่างการเรียนรู้ให้ฟังว่า ช่วงเข้ามาทำโครงการปีแรกเป็นช่วงที่ทางชมรมกำลังเริ่มลงสนามเพื่อเก็บข้อมูลชายหาดทั้งระบบ จึงต้องการอาสาสมัครจำนวนมาก ไม่เฉพาะแค่นักเรียนในโรงเรียน แต่ต้องการความร่วมมือจากเพื่อนนักเรียนโรงเรียนอื่น รวมถึงคนในชุมชน ‘การเคาะประตูบ้าน’ เพื่อเข้าไปให้ข้อมูลและทำความเข้าใจกับชาวบ้านในชุมชนรอบชายหาด เป็นสิ่งที่ Beach for Life ลงมือทำ ประสบการณ์ครั้งนั้นสอนให้เกรซเข้าใจ ‘ความแตกต่าง’ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้รู้จักเปิดใจยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
“ไม่มีใครเห็นด้วยกับเราไปเสียทุกอย่าง เราต้องเข้าใจคนอื่นด้วย แต่เมื่อเรามีหน้าที่สื่อสารข้อมูลให้คนอื่นรับรู้ เราก็ต้องทำให้ดีที่สุด เพราะจากการทำงานเก็บข้อมูลของชมรม เรารู้ดีว่าหากยังแก้ปัญหาชายหาดด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องต่อไป ยิ่งส่งผลเสียต่อชายหาด ซึ่งตรงนี้ก่อนลงพื้นที่ทำงานเรามีการพูดคุยกันในกลุ่มเพื่อเตรียมความพร้อมให้สื่อสารข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันก่อน”
เรียนยังไม่จบแล้วเอาวิชาในห้องเรียนมาใช้ได้จริงหรือ?
“ใช้ได้ค่ะ” เกรซตอบอย่างชัดเจน
ยิ่งสำหรับโครงการ Beach for Life เกรซสามารถนำความรู้การคำนวณมาใช้ได้อย่างเต็มที่
“เรื่องตรีโกณมิติ และกราฟที่ไม่เคยคิดว่าจะได้ใช้นอกจากตอนเรียน เรียนในห้องเรียนไปแล้วจินตนาการไม่ออกว่าจะเอาไปใช้ในชีวิตจริงได้ยังไง ก็ได้นำมาใช้คำนวณตอนทำโครงการเพราะต้องสำรวจพื้นที่หาด หรือเรื่องการรักษาระดับน้ำ เครื่องมือที่อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมออกแบบให้ โดยนำหลักการรักษาระดับน้ำมาใช้อ่านค่า แล้วนำค่าที่ได้ไปคำนวณแปลงเป็นกราฟแสดงหน้าตัดชายหาด หรือแม้แต่เรื่องแรงตึงผิวที่ต้องเลือกอ่านค่าบริเวณท้องน้ำ เพื่อให้ได้ค่าที่แม่นยำ ที่ผ่านมาเวลาเรียนในห้องแล้วไม่ได้ทบทวนไม่ได้ทำโจทย์เราก็ลืม แต่วิชานอกห้องเรียนตรงนี้ ให้เราได้ทำโจทย์ที่ไม่ใช่โจทย์ตามตำรา แต่เป็นโจทย์จากการทำงานบนพื้นที่ เป็นโจทย์จากสถานการณ์เฉพาะหน้า จากสถานการณ์จริงที่ช่วยให้ได้ทบทวนเนื้อหาในบทเรียน ทำให้เข้าใจไม่ใช่แค่จำอย่างเดียว”
นอกจาก teamwork แล้ว ยังต้องมี work life balance
เกรซยืนยันว่า การทำงานของชมรม Beach for Life ค่อนข้างมีตารางชัดเจน เพื่อให้สมาชิกวางแผนชีวิตของตัวเองได้ เพราะนอกจากงานในโครงการแล้ว แต่ละคนยังต้องมีภาระรับผิดชอบอย่างอื่นด้วย ดังนั้น การจัดการเวลาของตนเอง และเคารพเวลาของคนอื่น จึงเป็นสิ่งสำคัญ
“กิจกรรมของเราไม่ได้ทำทุกวันอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นวันเสาร์อาทิตย์ เราจะตั้งวงพูดคุยกันว่า ใครว่างตอนไหน เวลาไหน แล้วในแต่ละเดือนเราจะทำอะไรบ้าง จะได้จัดวันเวลาการทำงานให้สอดคล้องกับตารางของสมาชิก หลายๆ ครั้งต้องทำงานร่วมกับองค์กรภายนอกด้วย เลยต้องมีการวางแผน แต่จะพยายามจัดตารางไม่ให้แน่นจนเกินไป เพื่อให้ทุกคนมีเวลาทำอย่างอื่นได้ด้วย”
เกรซเข้าร่วมชมรม Beach for Life ตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สายวิทย์-คณิต โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา นอกจากความเป็นนักสงสัยและช่างสนใจใคร่รู้ ซึ่งมีติดตัวมาก่อนแล้ว เกรซบอกว่า การทำโครงการกับชุมชนทำให้ได้นำความรู้จากในห้องเรียนมาใช้ประโยชน์จริง เป็นการฝึกฝนทักษะความรู้ แล้วยังได้ประสบการณ์ชีวิตแถมมาอีกต่างหาก กระบวนการเรียนรู้และทักษะที่ได้จากการลงมือทำโครงการตลอดระยะเวลาประมาณ 3 ปี มีส่วนช่วยให้เธอคว้าความฝันสอบเข้าศึกษาต่อคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้สำเร็จ
การเรียนรู้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงจึงไม่ใช่แค่รับรู้ เห็นปัญหาแล้วจบ แต่นำมาสู่การวิเคราะห์ สังเคราะห์ หาทางแก้ไข จนเกิดความเข้าใจและเห็นใจผู้คนรวมทั้งสิ่งที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานั้น กระบวนการเรียนรู้ที่กล่าวมาทั้งหมดช่วยหล่อหลอมคุณลักษณะติดตัวเด็กและเยาวชน ให้เป็น ‘ผู้ตื่นรู้’ ทำให้เมื่อพวกเขารับรู้และเห็นปัญหา พวกเขาจะไม่เพิกเฉยต่อปัญหา
“เราไม่ได้เรียนในห้องเรียนเพราะห้องเรียนเป็นทั้งหมดของเรา แต่เราเรียนในห้องเพื่อเอาความรู้ไปเติมเต็มในส่วนอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะทั้งชีวิตของเราไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในตำราเล่มเดียวหรือในห้องนั้น เราพยายามเอาความรู้ที่ได้จากห้องนั้น ไปเติมในโลกภายนอกของเรา โลกทั้งใบนี้มีหลายด้านให้เราได้เรียนรู้ การลงไปเรียนรู้จากการลงมือทำจะทำให้เราเข้าใจทั้งทฤษฎีและเติบโตทางความรู้สึก เราจะรู้สึกเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นด้วย” เกรซ กล่าวทิ้งท้าย