“หาดสองแคว” พลังการมีส่วนร่วมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามนโยบาย การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ให้อำนาจประชาชนเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหา และปัดเป่าความทุกข์ยากของประชาชนในหมู่บ้านนั้นๆ ที่ผ่านมา อบต.ได้สนองเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญปี 2540 เรื่องการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยการเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่น ร่วมตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจการทำงานของ อบต.ส่งผลให้ อบต.มีการบริหารจัดการที่โปร่งใสมากขึ้น เช่นเดียวกับ อบต.หาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ ที่ใช้หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน บริหารท้องถิ่น จนได้รับรางวัลการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล 6 ปีซ้อน
การที่ อบต.หาดสองแคว ได้ใช้หลักธรรมาภิบาลเข้ามาบริหารจัดการชุมชนของตนเอง จนประสบความสำเร็จส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และนายพงษ์เทพ ชัยอ่อน นายก อบต.หาดสองแคว ที่ได้เข้ามามีบทบาท ในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ทั้งเรื่องขององค์ความรู้การบริหารจัดการธรรมาภิบาลในพื้นที่ โดยเฉพาะโครงการติดดาว โดยเป็นการดึงชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน ทำกิจกรรมต่างๆ ของ อบต.
นายพงษ์เทพ ชัยอ่อน นายก อบต.หาดสองแคว กล่าวว่า อบต.หาดสองแคว ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนทุกเรื่อง เมื่อได้รับการเลือกตั้งเข้ามาแล้ว ก็ได้เปิดเวทีสาธารณะ เพื่อให้ชาวบ้านร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์ นโยบายการหาเสียงว่าเห็นชอบหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เช่น เรื่องตำบลน่าอยู่ สู่เศรษฐกิจพอเพียง ก็มีโจทย์ว่าจะสร้างตำบลให้น่าอยู่ โดยให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไร เพื่อทำให้ชาวบ้านเกิดจิตสำนึกรักชุมชน อบต.ก็จะเปิดเวทีสาธารณะให้ชาวบ้านเข้ามาระดมความคิดเห็น ตามหลักธรรมาภิบาล 6 ข้อ คือ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใสหลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า เสนอต่อที่ประชุมสภาให้เห็นชอบ ดังนั้น การทำงานของ อบต.หาดสองแคว จะมีคณะทำงานภาคประชาชนเข้ามาบริหารงานร่วมกำหนดยุทธศาสตร์กับ อบต.
นายก อบต.หาดสองแคว กล่าวต่อว่า สำหรับกิจกรรมที่ดึงประชาชนเข้ามาร่วม จนเห็นผลเด่นชัดคือ เรื่องตำบลน่าอยู่สู่เศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากร้อยละ 90 ของประชาชนในพื้นที่ ทำการเกษตร อบต.ได้เชิญเกษตรกรทั้ง 7 หมู่บ้าน เข้าร่วมกับ ส.อบต. ที่มีความรู้ความสามารถด้านการเกษตร กำหนดกรอบนโยบายการทำการเกษตรในตำบลว่าจะขับเคลื่อนไปอย่างไร เช่น การทำการเกษตรอินทรีย์ขับเคลื่อนไปอย่างไร เช่น การทำการเกษตรอินทรีย์ ปีนี้ได้ตั้งเป้าหมายไว้ 100 ไร่ เมื่อผ่านกระบวนการดังกล่าว มีประชาชนเข้าร่วม 136 ไร่ และในปี 54 ตั้งเป้าหมายว่า จะมีเกษตรอินทรีย์ 500 ไร่
“ส่วนโครงการจัดการขยะแบบประชาชนมีส่วนร่วม ได้ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ เริ่มตั้งแต่การคัดแยกขยะในชุมชนก่อน โดยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ว่า ขยะมีกี่ประเภท อะไรบ้าง ขยะอะไรบ้างที่แยกแล้วขายไม่ได้ ขยะอันตรายทำอย่างไร ขยะที่ขายได้ทำอย่างไร ” นายพงษ์เทพ กล่าวและว่า เมื่อชาวบ้านเข้าใจ ก็จะจัดการของเขาเอง โดยเริ่มตั้งแต่ในครัวเรือนก่อน เช่น เศษอาหารที่เหลือที่เป็น พืช ผัก ปู ปลา ก็ทำเป็นน้ำหมักชีวภาพ เอาไปใส่ต้นไม้ทำเป็นปุ๋ย ขยะที่รีไซเคิลได้ ก็นำไปใช้ใหม่ ขยะที่ใช้ไม่ได้ ก็เอาไปขายตามกระบวนการที่รับซื้อตามราคา เช่น ขวดแก้ว หรือกระป๋อง หรือถ้าเอาฝาออกก็จะขายได้ในอีกราคาหนึ่ง ส่วนขวดก็จะขายได้อีกราคาหนึ่ง ในเรื่องขยะเป็นพิษ เช่น หลอดไฟกระป๋องสเปรย์ ที่ไม่สามารถขายได้ อบต.จะประชาสัมพันธ์เพื่อรวบรวม แล้วส่งไปทำลายอย่างถูกวิธี ส่วนขยะประเภทถุงพลาสติก มองว่าถ้าปล่อยไว้จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น จนเกิดมลภาวะขึ้นได้ อบต.ก็จะรับซื้อจากครัวเรือน เพื่อเอาไปกำจัดอย่างถูกวิธีโดยรับซื้อกิโลกรัมละ 10 บาท
“กระบวนการทำงานดังกล่าว ถือเป็นการมีส่วนร่วมที่โดดเด่น เพราะเป็นเรื่องที่เริ่มจากชุมชน และประสบความสำเร็จ จึงสามารถถ่ายทอดไปสู่เด็กรุ่นหลัง ในการปลูกจิตสำนึกเรื่องการกำจัดขยะ ปัจจุบัน ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ จะมีเด็กปั่นจักรยาน เพื่อไปเก็บขยะในหมู่บ้านของตนเอง แล้วเอามาล้างและเอามาขาย เพื่อเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง”นายก อบต.หาดสองแคว กล่าว
ด้าน นายวิรัตน์ จำนงรัตนพัน ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ได้เข้ามาสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับคนในตำบลหาดสองแควตั้งแต่ในปี 2546 เริ่มต้นพยายามให้พวกเขาฝึกความรับผิดชอบในหน้าที่ ตั้งแต่ฝ่ายการเมือง ข้าราชการ และภาคประชาชน เน้นเรื่องธรรมาภิบาล คือ ทำงานแล้วต้องคุ้มทุน โดยคำนึงถึงประชาชนที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วม จะเห็นว่าตามหลักธรรมาภิบาลเรื่องของความรับผิดชอบ เรื่องของความคุ้มทุน และการมีส่วนร่วมเป็นเรื่องต้นๆ ที่คนในชุมชนจะต้องเรียนรู้ร่วมกัน เมื่อประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกเรื่องก็จะมีความโปร่งใส และตรวจสอบได้
“การบังคับใช้กฎหมาย โดยเอาหลักนิติธรรมมาใช้ ไม่ค่อยได้ผลนัก ยกเว้นบางเรื่อง เช่น การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยการสร้างจริยธรรมของชุมชนด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ในโครงการจัดการขยะแบบประชาชนมีส่วนร่วม คือ หลักกฎหมายสิ่งแวดล้อม ผู้ก่อเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนในทางที่ประชาชนสร้างขึ้นก็ต้องรับผิดชอบ ดังนั้น การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องแก้ที่เหตุ คือประชาชนเป็นผู้ก่อ ก็ต้องรับผิดชอบเท่ากับบังคับใช้กฎหมายโดยประชาชนไม่รู้ตัว” นายวิรัตน์ กล่าว
สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมจากตำบลหาดสองแคว คือชาวบ้านพยายามที่เรียนรู้ร่วมกัน ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชรา มีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ยึดหลักธรรมาภิบาล และใช้กลไกการทำงานแบบร่วมบูรณาการ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยที่สิ่งเร้าจากภายนอกไม่สามารถเข้ามาทำลายวิถีของชุมชนได้
กระบวนการเรียนรู้อย่างมีคุณค่าและต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชน แกนนำ ผู้นำทุกฝ่ายปรับวิธีคิดจากการเรียนรู้กันเอง มีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยใช้กลไกการทำงานแบบมีส่วนร่วมบูรณาการทุนภายในตำบล พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส เพื่อตอบสนองต่อองค์กรภายนอกก็จะไม่ทำลายวิถีของชุมชน
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
update : 08-12-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน