หัวใจวายคร่าคนไทยชั่วโมงละ 4 คน แนะสังเกตอาการ-เลี่ยงโรค
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดกว่า 3 หมื่นคนเฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 4 คน และมี แนวโน้มการเสียชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ โดยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
นพ.ประดับ สุขุม ผอ.โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดกว่า 3 หมื่นคนเฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 4 คน และมี แนวโน้มการเสียชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ โดยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน พบว่ามีเรื่องของพฤติกรรมมาเป็นส่วนเกี่ยวข้อง เช่น การรับประทานอาหาร ความเครียด การไม่ออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุการเกิดโรคเรื้อรังอื่นๆ ด้วย โดยผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังหรือมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต คอเลสเตอรอลสูง ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคหัวใจได้ด้วย
นพ.ประดับกล่าวว่า สำหรับอาการของคนที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน หรือหัวใจวายเฉียบพลัน จะมีอาการปวดเน้นคล้ายมีอะไรมากดทับหรือจุกแน่นบริเวณกลางหน้าอกหรือยอดอก ซึ่งมักจะเจ็บร้าวมาที่ไหล่ด้านซ้าย บางรายอาจ ร้าวมาที่คอ ขากรรไกรหลัง หรือแขนขวา บางรายอาจรู้สึก จุกแน่นที่ใต้ลิ้นปี่ คล้ายอาการอาหารไม่ย่อยหรือท้องอืดเฟ้อ โรคกระเพาะ ผู้ป่วยมักมีอาการกำเริบเป็นบางครั้ง เช่น ขณะยกของหนัก เดินขึ้นที่สูง ออกกำลังแรงๆ หรือทำงานหนัก ซึ่งในผู้ชายส่วนใหญ่จะแสดงอาการแน่นหน้าอกมาก ส่วน ผู้หญิงมักจะแสดงออกด้วยอาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติ ทั้งนี้ขณะเจ็บหน้าอก ผู้ป่วยจะมีอาการใจสั่น เหนื่อยหอบ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ด้วย ผู้ป่วยที่มีความรู้สึกเจ็บหน้าอกแบบแปลบๆ เวลาหายใจเข้าลึกๆ ไอ หรือจาม หรือเจ็บเวลาก้มหรือเอี้ยวตัว
“การป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน จำเป็นต้องเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ หมั่นตรวจเพื่อดูโรคเรื้อรังอื่นที่จะนำไปสู่โรคหัวใจ โดยการตรวจมีหลายวิธี เช่น คลื่นหัวใจ การสแกน เดินสายพาน เป็นต้น โดยวิธีการตรวจหาจะขึ้นอยู่กับประวัติของผู้ป่วยและอาการด้วย หากไม่มีอาการเลย การตรวจหาความเสี่ยงในเส้นเลือดถือว่าเป็นวิธีที่ค่อนข้างยาก ฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันและเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ” นพ.ประดับกล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด