หอสมุดแห่งชาติ คลังแห่งปัญญาประจำชาติ
“หอสมุดแห่งชาติ” ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวบรวมหนังสือมากไตเติลที่สุดในประเทศ รวบรวหนังสือพิมพ์ที่จัดพิมพ์ในเมืองไทยครบที่สุด รวบรวมตำราความรู้โบราณของไทย เอกสารหลักฐานเก่าแก่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และน่าจะเป็นแหล่งที่รวบรวม “หนังสือหายาก” ของไทยไว้มากที่สุด
โดยนัยนี้ หอสมุดแห่งชาติจึงถือเป็นแหล่งค้นคว้าเอกสารตำราและค้นหาความรู้ของประชาชน
องค์การยูเนสโก (UNESCO) กำหนดให้ “หอสมุดแห่งชาติ” มีหน้าที่เป็น คลังสิ่งพิมพ์ของชาติ และเป็นศูนย์กลางใน การดำเนินการจัดเก็บ รวบรวม จัดหา และสงวนรักษาสิ่งพิมพ์ สื่อ โสตทัศนวัสดุ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตขึ้นในประเทศ และหรืออาจรวมถึงสิ่งพิมพ์ที่ผลิตในต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย
หอสมุดแห่งชาติของไทยตั้งอยู่บนถนนสามเสน บริเวณท่าวาสุกรี ภายในอาคารเก่าแก่ หลังคาจั่ว สไตล์ไทย ดูโดดเด่น เป็นที่คุ้นเคยของผู้ที่ผ่านวัยนักเรียนนักศึกษาแทบทุกคน แต่คงมีเพียงน้อยคนที่ได้กลับมาใช้บริการแหล่งความรู้แห่งนี้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งที่พระราชประสงค์ในการก่อตั้งหอสมุดแห่งชาติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้พสกนิกรทุกชนชั้น รวมถึงกลุ่มทาสที่ทยอยได้รับอิสระจำนวนมาก จะได้ใช้เป็นแหล่งแสวงหาความรู้และประโยชน์จากการอ่านหนังสือ เพื่อยังความก้าวหน้าให้แก่ชีวิต
จาก “หอพระสมุดวชิรญาณ” ซึ่งเป็นหอสำหรับจัดเก็บหนังสือภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ สร้างขึ้นในปี 2424 โดยพระบรมวงศานุวงศ์ในรัชกาลที่ 4 เดิม ตั้งอยู่ ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง ให้บริการเฉพาะสมาชิกที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์และ ราชสกุล
หลังการเสด็จประพาสยุโรปและทอดพระเนตร กิจการหอสมุดแห่งชาติ ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ในปี 2440 รัชกาลที่ 5 จึงทรงมีพระราชดำริให้ขยาย กิจการของหอพระสมุดวชิรญาณออกไปเป็น “หอสมุดสำหรับพระนคร” เพื่อเป็นประโยชน์กับพสกนิกร ทั่วไปด้วย
อีกทั้งพระองค์ทรงมองว่า ประเทศที่เจริญแล้ว มักมีหอสมุดประจำชาติ ขณะที่ไทยก็มีภาษาประจำชาติ และยังมีผู้รู้เขียนหนังสือไว้มากมาย จึงเห็นสมควรตั้งหอสมุดแห่งชาติเป็นสถานที่รวบรวมหนังสือเหล่านี้ไว้ให้แก่คนรุ่นหลัง
“หอพระสมุดสำหรับพระนคร” จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2448 โดยได้รวมเอาหอพระสมุดอีก 2 แห่งมารวมไว้ด้วยกัน คือ “หอพุทธศาสนสังคหะ” สร้างเมื่อปี พ.ศ.2443 เพื่อจัดเก็บพระไตรปิฎกและหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ณ วัดเบญจมบพิตร และ “หอพระมณฑลเฑียรธรรม” สถานที่จัดเก็บพระไตรปิฎกฉบับหลวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสร้างขึ้นสมัยเดียวกับสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อปี พ.ศ.2326
ปี 2476 หลังจัดตั้งกรมศิลปากรขึ้น รัฐบาลสมัยนั้นกำหนดให้หอพระสมุดสำหรับพระนครมีฐานะเป็นกองหนึ่งในกรมศิลปากร เรียกว่า “กองหอสมุด” และเปลี่ยนชื่อเป็น “หอสมุดแห่งชาติ”
ต่อมา เนื่องจากหอสมุดแห่งชาติมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก ในปี 2505 รัฐบาลจึงอนุมัติงบก่อสร้างอาคารหอสมุดแห่งชาติแห่งใหม่ เป็นอาคารทรงไทย สูง 5 ชั้น ขึ้นบริเวณ ท่าวาสุกรี มีเนื้อที่ราว 7,000 ตารางเมตร สามารถเก็บหนังสือได้เต็มที่ราว 1 ล้านเล่ม จุที่นั่งอ่านหนังสือได้กว่า 1,000 ที่นั่ง เริ่มเปิดให้บริการเมื่อกลางปี 2509 จวบมาจนวันนี้
ที่มา : เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์