หว่านเมล็ดพันธุ์ครีเอท `พื้นที่ชุมชนสร้างสรรค์`
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ภาพประกอบจากมูลนิธิสยามกัมมาจล
เดินหน้าสนับสนุนการทำงานให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม
ล่าสุด ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานแถลงข่าวมอบประกาศนียบัตรความสำเร็จของโครงการต่อยอดการสร้างพื้นที่ชุมชนสร้างสรรค์ด้วยพลังเยาวชนปีที่ 2 (Love Your Local Love Your City) ที่หอภาพถ่ายล้านนา พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มุ่งสนับสนุนเยาวชนในสถาบันอุดมศึกษาส่วนภูมิภาค ให้รู้จักวิธีคิดการแบบนักออกแบบ (Design Thinking) และสามารถนำไปใช้พัฒนาพื้นที่ชุมชนของตัวเองให้กลายเป็น "พื้นที่ชุมชนสร้างสรรค์" (Creative District)
อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) อธิบายว่าโครงการนี้กระจายโอกาสสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านการออกแบบสู่ภูมิภาค" (miniTCDC) ขยายโอกาสการเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ด้านการออกแบบและผลักดันธุรกิจสร้างสรรค์ระดับชุมชนในท้องถิ่น ให้ผสานภูมิปัญญาดั้งเดิมและองค์ความรู้ใหม่ๆ เสริมสร้างศักยภาพที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ตลอดจนนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจ ชุมชน และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
เมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่ที่ร่วมสร้างชุมชนยั่งยืน ธาราทิพย์ อะติถะ ตัวแทนนักศึกษาเจ้าของผลงานโครงการ "HEROes สอนหลาน (โครงการฮีโร่สอนหลาน) จากคณะวิจิตรศิลป์ สาขาวิชาการออกแบบ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าว่า โครงการฮีโร่สอนหลานเริ่มจากการเล็งเห็นปัญหาว่าบ้านตองกาย เป็นหมู่บ้านช่างฝีมือด้านการกลึงไม้ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่ แต่กลับไม่เป็นที่รู้จักของผู้คนในเมืองและนักท่องเที่ยว เนื่องจากจะกลึงไม้ส่งขายให้กับผู้ว่าจ้างไม่ได้มีหน้าร้าน จึงเกิดแนวคิดผลักดันให้บ้านตองกายเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวและช่างฝีมือโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เนื่องจากต้องการให้อนุรักษ์ทักษะฝีมือช่างที่สืบต่อกันมาเป็นเวลานานโครงการฮีโร่สอนหลานฯ มีวิธีการทำงานที่น่าสนใจสำหรับการสร้างชุมชนเข้มแข็ง
เริ่มต้นด้วยการร่วมพูดคุยและขอเรียนรู้การกลึงไม้จากผู้เชี่ยวชาญในชุมชน เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนเกิดความภูมิใจว่างานกลึงไม้เป็นภูมิปัญญาไทยต้องได้รับสืบสานจัดทำเป็นโปรแกรมเวิร์กช็อปสำหรับผู้ที่สนใจ โดยให้ผู้เชี่ยวชาญในชุมชนสอนและฝึกหัดให้เพื่ออนุรักษ์ความเป็นเอกลักษณ์ของบ้านตองกายให้สมบูรณ์ที่สุด โดยทีมจะเข้าไปสนับสนุนและช่วยจัดทำคู่มือและอุปกรณ์สำหรับการเวิร์กช็อป
ประชาสัมพันธ์กิจกรรมผ่านสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊กจัดทำโปสเตอร์ติดที่ร้านหนังสือร้านกาแฟ รวมถึงที่ TCDC เชียงใหม่ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากช่างฝีมือนักออกแบบ นักท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้บ้านตองกาย มีรายได้เสริมจากกิจกรรมเวิร์กช็อปนี้
ทีมวางแผนถ่ายทอดการจัดทำตารางเวิร์กช็อปให้ลูกหลานในชุมชน เพื่อบริหารจัดการและปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม ทั้งนี้คาดหวังให้โครงการดังกล่าวจะทำให้บ้านตองกายได้รับการอนุรักษ์และถ่ายทอดต่อไป
หัวหน้าช่างกลึงไม้บ้านตองกาย ศรีลา คุ้มภัย อายุ 64 ปี เล่าว่า บ้านตองกายเป็นหมู่บ้านประกอบอาชีพหัตถกรรมไม้กลึงเก่าแก่ของเชียงใหม่ สืบทอดทักษะฝีมือแบบรุ่นต่อรุ่นทำให้มีรายได้เสริมเพิ่มจากการจัด โปรแกรมเวิร์กช็อปด้วย โครงการนี้ดีในการ นำเสนอคุณค่าและต่อยอดทักษะหัตถกรรมไม้กลึงของชุมชนโดยผ่านกระบวนการคิดสร้างสรรค์และสื่อต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินโครงการ ดังกล่าวจะทำให้ชุมชนสามารถเป็นที่รู้จัก และได้รับการสืบต่อจากคนรุ่นใหม่เพื่อให้ไม้กลึงอยู่คู่กับคนไทยอย่างยั่งยืน