หวั่น “เขื่อนบ้านกุ่ม” กระทบชีวิตชาวบ้าน

บ้านดงนาวอน ศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจ

 หวั่น “เขื่อนบ้านกุ่ม” กระทบชีวิตชาวบ้าน

          นางสาคร ขันธิวัฒน์ ราษฎรบ้านเลขที่ 62 ม.5 บ้านดงนา ต.หนามแท่ง อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นหมู่บ้านริมแม่น้ำโขงที่ตั้งอยู่เหนือเขื่อนบ้านกุ่มที่ทางรัฐบาลไทยมีแผนจะสร้างกั้นแม่น้ำโขงที่บริเวณบ้านท่าล้ง ต.หัวไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวประชาสังคม จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2551 ว่า

 

          “ถ้าสร้างเขื่อนแล้วเสียดายเรื่องการหาปลา ชาวบ้านที่นี่ได้หาปลาในแม่น้ำโขงเลี้ยงชีวิต ทุกวันนี้ชาวบ้านดงนาเอาปลาแลกข้าวกับคนหมู่บ้านอื่น ทั้งไปแลกเองและคนเขาเอามาแลก เลยมีข้าวกิน เพราะที่บ้านดงนาไม่มีที่ให้ทำนา ปลาที่เอาไปแลกมีทั้งปลาสดหรือไม่ก็ทำปลาร้าไปแลก ข้าวที่กินทุกวันนี้ได้มาจากการเอาปลาไปแลกมา ถ้าไม่เอาปลาไปแลกข้าวก็ขายเอาเงิน โดยจะมีรถพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงในหมู่บ้าน ชาวบ้านหาปลาบางวันได้ 50 กิโลกรัม อย่างไม่ได้ก็วันละ 20 กิโลกรัม ก็เอาไปขายได้คุ้มกับค่าน้ำมัน ปลาตัวใหญ่ 3 ตัว ก็ได้ 20 กิโลกรัมแล้ว ปลาที่ได้มีปลานาง ปลาอีตู๋ กิโลละ 60-65 บาท ถ้าน้ำมันแพงคนซื้อเขาก็ขึ้นราคาให้ หากินได้

 

          นอกจากนี้ชาวบ้านที่นี่ยังปลูกผักตามริมฝั่งแม่น้ำโขงกันแทบทุกหลังคาเรือน มีทั้งข้าวโพด ฝ้าย ถั่วลิสง มัน กระเทียม ดินมีความอุดมสมบูรณ์มาก ชาวบ้านไม่ต้องใช้ปุ๋ยเลย ปลูกไว้ทั้งขายทั้งกิน อย่างถั่วลิสงชาวบ้านขายได้กิโลกรัมละ 120 บาทเป็นอย่างต่ำ ปีหนึ่งมีรายได้เป็นหมื่น

 

          เคยมีเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องการสร้างเขื่อนลงพื้นที่มาพูดคุยกับชาวบ้านว่าเขื่อนดังกล่าวมีความจำเป็นต้องสร้างเพื่อประเทศไทยจะได้มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งชาวบ้านยังสงสัยว่าไฟฟ้าไม่พอใช้จริงหรือเปล่า นอกจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ยังบอกด้วยว่า หากหาปลาไม่ได้เหมือนเดิมจะส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงปลาในกระชัง เพราะต้องมีค่าอาหารปลา มันลงทุนสูง ไม่เหมือนการหาปลาในธรรมชาติ และอยากฝากบอกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ก่อนจะสร้างเขื่อนต้องมีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธรรมชาติและชาวบ้านให้ดีและถี่ถ้วนเสียก่อนว่ามันจะได้คุ้มกับสิ่งที่ต้องสูญเสียไปหรือไม่”

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต

 

 

 

 

Update : 26-08-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code