หวั่นเด็กขอทานต่างด้าวทะลักกรุง รับประชาคมอาเซียน

 

วงเสวนาสิทธิเด็กครั้ง 23 หวั่น การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558 จะเปิดช่องเด็กต่างด้าวทะลักเข้าไทยเพื่อเร่ร่อนขอทาน สำรวจพบ เด็กเร่ร่อนในเมืองกรุง เป็นเด็กต่างด้าวกว่าครึ่ง 

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ที่ศูนย์ฝึกอบรมงานอภิบาล “บ้านผู้หว่าน” อ.สามพราน จ.นครปฐม สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (สท.) จัดงานเวทีสิทธิเด็ก ครั้งที่ 23 หัวข้อ “ความแตกต่างสู่ความเป็นหนึ่ง (diversity to unity)” โดยนายเสรีย์ วชิรถาวรชัย รองผอ.สท. กล่าวในพิธีเปิดว่า การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางบริบทด้านสังคม และเกิดผลกระทบที่อาจเป็นปัญหาทั้งการแย่งชิงทรัพยากร ความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก ปัญหาสังคม รวมถึงการละเมิดสิทธิเด็กที่มีแนวโน้มขยายตัวขึ้น จึงเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญทั้งการสร้างความเข้าใจ การเตรียมความพร้อมในการปรับตัวและรับมือกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ต้องสนับสนุนให้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและทัศนะต่อสังคมที่จะส่งผลกระทบต่อตัวเด็กเอง อย่างไรก็ตามขณะนี้ พม.อยู่ระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนพ.ศ.2556-2559 โดยกำหนดวิสัยทัศน์ “ขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ประชาคมอาเซียนอย่างสมานฉันท์บนพื้นฐานการมีส่วนร่วม และความเอื้ออาทร” และยึดคุณค่า 4 ประการ คือ มืออาชีพ ทันสถานการณ์ ประสานภาคี มีความเสมอภาค โดยมีการส่งเสริมเด็กและเครือข่ายเด็กให้มีส่วนร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ด้วย 

ด้าน นายอรุณ ถนอมธรรม เจ้าหน้าที่สิทธิเด็ก มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคลในพระอุปถัมภ์ฯ หรือเมอร์ซี่ กล่าวว่า เวลานี้เด็กเร่ร่อนใน กทม.กว่าครึ่งเป็นเด็กต่างด้าวทั้งกัมพูชา พม่า และลาว ส่วนใหญ่จะมีขบวนการนายหน้าหลอกลวงเข้ามา ยิ่งเปิดเสรีประชาคมอาเซียนเชื่อว่าจะมีการหลั่งไหลของเด็กต่างด้าวมาเร่ร่อน ขอทานมากขึ้น ภาครัฐทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงศึกษาธิการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จะต้องมีมาตรการป้องกันและแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพราะภาคเอกชนกลุ่มเอ็นจีโอสามารถทำงานได้เพียงระดับหนึ่ง ทั้งยังถูกอิทธิพลคุกคาม ปัญหาค้ามนุษย์ถือเป็นปัญหาที่มากรองจากยาเสพติด ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

ขณะที่ นายอนุชิต อินทร์สา นักเรียน ม.5 ร.ร.โพนสวรรค์ราษฎร์พัฒนา จ.นครพนม กล่าวว่า คิดว่าเด็กใน จ.นครพนม รู้และเข้าใจประชาคมอาเซียนเพียง 40% และส่วนใหญ่จะรู้จากการจัดกิจกรรมของร.ร.ขณะที่หน่วยงานอื่นๆ ไม่ค่อยมีความตื่นตัวที่จะสร้างความเข้าใจให้คนในพื้นที่รับรู้และเตรียมรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ