หวั่นขยะอันตราย ก่อมลพิษในชุมชน
อธิบดี คพ.ลงพื้นที่กาฬสินธุ์ ห่วงชุมชนคัดแยกซากอิเล็กทรอนิกส์ หวั่นสารพิษเข้าสู่ร่างกาย หวั่นของเหลวพิษซึมผิวดินรวมทั้งเผาเพื่อคัดแยกโลหะ ตรวจวัดโลหะหนักเกินมาตรฐาน นักวิชาการหวั่นอนาคตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และเจ้าหน้าที่ส่วนจัดการขยะ กากของเสีย และคุณภาพอากาศ
สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 10 ได้เดินทางลงพื้นที่ชุมชนโคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ที่เป็นพื้นที่ ที่ชาวบ้านรับซื้อของเก่าโดยเฉพาะซากเครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ รถยนต์ รถจักรยาน จักรยานยนต์จากทั่วประเทศมาคัดแยกเอาชิ้นส่วนต่างๆ ออกมาเพื่อนำไปขายต่อให้ประเทศเพื่อนบ้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิเชียรได้เข้าประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อมูลจากนักวิชาการที่ได้เข้ามาเก็บข้อมูลในพื้นที่โดยนักวิชาการได้แสดงความเป็นห่วงถึงปัญหาที่เกิดในพื้นที่เวลานี้ คือ ระหว่างทำงานคัดแยกชาวบ้านไม่มีการป้องกันตัวเองจากสารเคมีที่อยู่ในเครื่องใช้ไฟฟ้าและซากอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว โดยเฉพาะโลหะหนัก ทั้งตะกั่ว ปรอท แมงกานีส และสารอาร์ซินิก หรือสารหนูทำให้สารเคมีอันตรายเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายและปนเปื้อนในธรรมชาติจนน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง หลังจากนั้นนายวิเชียรและคณะได้ลงพื้นที่ที่ ต.โคกสะอาด พบว่าชาวบ้านเกือบทั้งตำบลต่างรับซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือเก่า คอมพิวเตอร์เก่ามาแยกส่วนเพื่อนำไปขายต่อ หรือไม่ก็ส่งต่อไปซ่อมเพื่อขายให้ประเทศเพื่อนบ้าน โดยบ้านเกือบทุกหลังต่างก็มีเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า โดยเฉพาะโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ และซากโทรศัพท์มือเก่าวางระเกะระกะอยู่ใต้ถุนบ้านแต่ละหลังจำนวนมาก
นายวิเชียรให้สัมภาษณ์ว่า จากข้อมูลพบว่าพื้นที่ อ.ฆ้องชัยมีผู้ประกอบอาชีพรับซื้อขายและคัดแยกของเก่าประเภทซากเครื่องใช้ ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่ และเครื่องยนต์จำนวน 283 ราย เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่จำนวน 8 ราย โดย ต.โคกสะอาดมีผู้ประกอบการรับซื้อขายและคัดของเก่ามากที่สุดจำนวน 240 ราย มีการขอใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพถูกต้อง 157 ราย มีปริมาณซากเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนรถยนต์ และซากอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าในพื้นที่จำนวน 767 ตันต่อเดือน
ส่วนใหญ่เป็นโลหะที่เป็นเหล็กประมาณ 330 ตันต่อเดือน ชิ้นส่วนรถยนต์ จักรยานยนต์ประมาณ 172 ตันต่อเดือน พลาสติกประมาณ 86 ตันต่อเดือน และโลหะอื่นๆ ประมาณ 77 ตันต่อเดือน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 64 ตันต่อเดือน
นายวิเชียรกล่าวว่า พบด้วยว่าในพื้นที่ดังกล่าวนั้นมีปริมาณซากเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นส่วนเครื่องยนต์ และซากอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่สามารถนำไปขายได้อีก ได้แก่ เศษโฟมฉนวนตู้เย็น เศษพลาสติก เศษยาง และอื่นๆ มีปริมาณ 20 ตันต่อเดือน โดยมีการนำไปกำจัดบริเวณพื้นที่บ้านหนองมะทอ หมู่ 8 ต.โคกสะอาด เนื้อที่ราว 25 ไร่
"ประเด็นที่เราเป็นห่วงมากคือ ในกระบวนการรื้อเครื่องยนต์ และคอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศ หรือตู้เย็นจะมีน้ำมันเครื่องไหลลงพื้น การเทน้ำกรดจากแบตเตอรี่ การทิ้งเศษกระจกจากจอโทรทัศน์ การทุบแผงวงจรไฟฟ้าเพื่อนำวัสดุไปขาย รวมทั้งการเผากองวัสดุ ทั้งนี้จากรายงานของกรมควบคุมโรคพบว่า ผลการตรวจวัดโลหะหนักในดินบริเวณระบบกำจัดขยะของ อบต.โคกสะอาด พบปรอท 0.70 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ตะกั่ว 79,520 ไมโครกรัม/กก. นิกเกิล 75.2 ไมโครกรัม/กก. และแมงกานีส 1,519 ไมโครกรัม/กก. และผลการตรวจวัดตัวอย่างดินบริเวณบ้านที่มีการสะสมและค้าของเก่า พบว่าการตรวจวัดโลหะหนัก คือ ตะกั่ว 26,693.53 ไมโครกรัม/กก. นิกเกิล 618.82 ไมโครกรัม/กก. อาร์ซินิก หรือสารหนู 151.08 ไมโครกรัม/กก. และแมงกานีส 3,339.51 ไมโครกรัม/กก." นายวิเชียรกล่าว
อธิบดี คพ.กล่าวว่า จากการตรวจสอบโดยเก็บตัวอย่างดิน น้ำ ในพื้นที่ ต.โคกสะอาด เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 โดยเก็บตัวอย่างดินและน้ำอย่างละ 5 จุด วิเคราะห์ผลโดยห้องปฏิบัติการ คพ. ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างดินบริเวณสถานที่เก็บขยะของ อบต.โคกสะอาด และบ้านที่ประกอบกิจการแยกชิ้นส่วนจอโทรทัศน์ จอคอมพิวเตอร์ และรับซื้อชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่แยกชิ้นส่วนแล้ว ซึ่งประกอบกิจการมานานหลายปี ความเข้มข้นของโลหะหนัก ตะกั่ว และอาร์ซินิก มีค่าสูงกว่ามาตรฐานคุณภาพดินที่ใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัยและทำการเกษตร รวมทั้งทองแดงมีค่าเกินมาตรฐานเช่นเดียวกัน โดยกำหนดค่ามาตรฐานไว้ที่ไม่เกิน 4,300 ไมโครกรัม/กก. และสังกะสีก็มีค่าเกินมาตรฐาน ซึ่งกำหนดไว้ไม่เกิน 7,500 ไมโครกรัม/กก.
ส่วนบริเวณนาข้าวที่อยู่ใกล้กับสถานีกำจัดขยะของ อบต.โคกสะอาดและบ้านที่มีการแยกชิ้นส่วนจอโทรทัศน์และจอคอมพิวเตอร์ที่เริ่มดำเนินการมาแล้ว 1 ปีสามารถตรวจพบโลหะหนักปนเปื้อนในดิน เช่น แคดเมียม โครเมียม ทองแดง แมงกานีส นิกเกิล ตะกั่ว และสังกะสี และยังพบการปนเปื้อนของโลหะหนักดังกล่าวบริเวณหนองบัวและหนองเม็ก ซึ่งเป็นหนองน้ำสำหรับเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ แต่ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
"ในส่วนของปัญหามลพิษทางอากาศ พบว่าในกระบวนการเผาชิ้นส่วนเพื่อแยกเอาของมีค่า เช่น สายไฟขนาดเล็กเพื่อแยกเอาทองแดง เผายางรถยนต์ และจักรยานยนต์เพื่อเอาเส้นลวด รวมทั้งชิ้นส่วนอื่นๆ ที่ขายไม่ได้เช่นโฟมที่บางเดือนมีมากถึง 20 ตัน และปัญหาฝุ่นขนาดเล็กจากการแยกชิ้นส่วน ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจและความเดือดร้อนรำคาญ โดยจากการตรวจเลือดหาสารตะกั่ว พบว่ามีเด็ก 1 รายมีการปนเปื้อนตะกั่วในเลือด และมีประชาชนได้รับผลกระทบในระดับเสี่ยงสูงจำนวน 93 ราย เป็นผู้ประกอบการ43 ราย เด็กนักเรียน 50 ราย" นายวิเชียรกล่าว
รศ.เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) หัวหน้าโครงการศึกษาผลกระทบและแนวทางการแก้ปัญหาจากการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรีไซเคิลในเขตพื้นที่ชุมชนโคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ของเก่าที่ถูกรับซื้อขายจากทั่วประเทศเกือบทั้งหมดจะถูกรวบรวมมาอยู่ที่นี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคตอันใกล้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบบจากอนาล็อก เป็นดิจิตอล ทำให้โทรทัศน์ราว 60 ล้านเครื่องจะถูกทิ้งและทยอยส่งมาแยกชิ้นส่วนที่นี่ทั้งหมดภายในเวลา 5 ปีนับจากนี้ ส่วนหนึ่งจะแยกอุปกรณ์บางอย่างข้างในออกมาขาย อีกส่วนจะส่งไปซ่อมและขายต่ออีกรอบ รายได้ค่อนข้างดี เช่น โทรทัศน์ 1 เครื่องรับซื้อมาในราคาเครื่องละ 80-100 บาท หากแกะชิ้นส่วนดีๆชิ้นส่วนนั้นจะขายได้ปีมาณ 300-600 บาท หรือตัวซีพียูจากคอมพิวเตอร์ แกะออกมาแล้วขายได้ถึง กก.ละ 5 พันบาท เป็นต้น
"แต่สภาพการทำงานของชาวบ้านเราเป็นห่วงอย่างยิ่ง ไม่มีระบบการป้องกันตัวเองระหว่างการแกะชิ้นส่วนเหล่านั้นเลย บางคนตัวเปล่า มือเปล่า รองเท้าแตะ นั่งงัดจอโทรทัศน์ แบตเตอรี่มือถือ สารเคมีและสารพิษก็ฟุ้งกระจาย แต่อาจจะมองไม่เห็น ซึ่งเวลานี้ยังไม่มีระบบหรือวิธีการป้องกันภัยอะไร กระทั่งตัวชาวบ้านผู้ประกอบการเองก็ไม่ค่อยจะให้ความร่วมมือกับส่วนราชการ ที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลมากนัก เพราะกลัวจะถูกเสียภาษีเพิ่ม อย่างไรก็ตามในภาพรวมทุกคนก็อยากจะมีระบบป้องกันตัวเองจากการทำงานที่เป็น อยู่เช่นเดียวกัน" รศ.เดชกล่าว
นางระวีวรรณ เนตระคเวสนะ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยมีสินค้าประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์ขนผ่านท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิ เนื่องจากต้องใช้ต้นทุนสูงไม่คุ้มกับการลงทุน และคาดว่าคงไม่มีใครใช้บริการขนส่งทางอากาศเพื่อขนส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์แน่นอน คงใช้รูปแบบการขนส่งปกติมากกว่า
ส่วนเรื่องของการขนส่งสินค้าอันตรายประเภทสารเคมีต่างๆ ไม่สามารถขนส่งทางอากาศได้อยู่แล้วเพราะตามระเบียบขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ที่มีข้อห้ามในเรื่องดังกล่าวไว้อยู่แล้ว ส่วนการลักลอบนำขึ้นเครื่องบินนั้นก็ทำได้ยาก เพราะผู้ที่ต้องขนส่งสินค้าต้องมีใบแจ้งให้ประเภทสินค้าที่จะขนส่งก่อน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบก่อนที่จะขนส่งเข้าหรือออกได้
ที่มา : เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต