หวังการจัดเรตติ้งหนังช่วยเด็กไทยติดบุหรี่น้อยลง
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เสนอแนวทางการจัดเรตติ้งหนัง หวังให้สามารถสกัดกั้นการตลาดของบริษัทบุหรี่ที่แอบแฝงผ่านทางหนังไทยและต่างประเทศ
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดเวทีสาธารณะเรื่อง เรตติ้งภาพยนตร์ : กลไกในการสร้างสังคมปลอดบุหรี่ ว่า ในปัจจุบันแม้ว่าภาพยนตร์จะไม่ใช่ตัวการสำคัญหลักในการกระตุ้นให้เกิดการริเริ่มสูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชนก็ตาม แต่จากการศึกษาที่ผ่านมาก็ไม่อาจปฏิเสธอิทธิพลของภาพยนตร์ที่มีผลในการชักจูงให้เกิดพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของเยาวชนได้
องค์การอนามัยโลกได้เรียกร้องให้ผู้สร้างหนังฮอลลีวู้ด ตระหนักถึงอันตรายของการสูบบุหรี่ในหนังซึ่งส่งผลอย่างมากต่อเยาวชน โดยไม่ร่วมมือกับบริษัทบุหรี่ใช้หนังเป็นเครื่องมือโฆษณาบุหรี่ ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันแล้วว่า “บุหรี่ในภาพยนตร์มีผลโดยตรงต่อการเริ่มต้นสูบบุหรี่ในกลุ่มเด็กและเยาวชน” ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ของอังกฤษ british medical journal ได้ยืนยันถึงความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ของวัยรุ่นกับฉากสูบบุหรี่ในภาพยนตร์ โดยนักวิจัยได้ทำการสำรวจเด็กอเมริกันประมาณ 5,000 คน ที่มีอายุระหว่าง 9 – 15 ปี พบว่า เด็กวัยรุ่นที่ชื่นชอบดาราที่สูบบุหรี่ในการแสดงภาพยนตร์มีแนวโน้มที่จะมีทัศนคติที่ดีต่อการสูบบุหรี่สูงกว่าเด็กทั่วไปถึง 16 เท่า บุหรี่ในหนังทำให้เกิดความเข้าใจว่า การสูบบุหรี่เป็นสิ่งที่สังคมยอมรับ และเกิดการเลียนแบบการสูบบุหรี่ของนักแสดงนำในที่สุด องค์การอนามัยโลกจึงมีข้อเสนอดังนี้
-หนังที่มีการสูบบุหรี่หรือแสดงผลิตภัณฑ์บุหรี่จัดอยู่ในประเภท adult rate หรือ เรต 13 ขึ้นไป
-ผู้สร้างหนังที่มีฉากสูบบุหรี่ ต้องประกาศว่าไม่ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทบุหรี่
-ให้มีการฉายสปอตรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ก่อนฉายหนังที่มีฉากสูบบุหรี่
สำหรับประเทศไทย เป็นเรื่องน่ายินดีที่มีการนำบุหรี่ เข้าเป็นเกณฑ์หนึ่งในการพิจารณาจัดเรตสำหรับหนังทุกเรื่องที่จะเข้าฉายในประเทศไทย โดยเฉพาะหนังต่างประเทศที่ส่วนใหญ่ยังคงมีควันบุหรี่คละคลุ้งจากเงินของบริษัทบุหรี่ การกำหนดให้หนังเรตทั่วไป (ท) ไม่มีบุหรี่เลยจึงนับเป็นคุณูปการต่อเยาวชน แต่หากสามารถขยับเรตขึ้นไป 13 เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาได้ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ ซึ่งสอดคล้องกับมาตราที่ 13 ของอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบที่ห้ามการโฆษณาบุหรี่ทุกรูปแบบในทุกสื่อโดยรวมภาพยนตร์ด้วย
ที่มา : มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่