หลากมิติการ ‘เพิ่มพื้นที่ผักในมื้ออาหาร’

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


หลากมิติการ 'เพิ่มพื้นที่ผักในมื้ออาหาร' thaihealth


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม "กินผัก สร้างสุข กับบุคคลต้นแบบ" ในโครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม "กินผัก สร้างสุข" เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ชีวิตมนุษย์ออฟฟิศกินผักมากขึ้น หนุนองค์กรต้นแบบ 6 แห่ง สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการบริโภคผักผลไม้ให้แก่พนักงาน


ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. มอบรางวัลให้กับบุคคลต้นแบบในองค์กรต้นแบบ 6 แห่ง ได้แก่ กลุ่มบริษัทพรีเมียร์ บริษัทไลอ้อน (ประเทศไทย) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บริษัททิพยประกันภัย บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอราทอรีส์ คอร์ปอเรชั่น และสำนักงานศาลยุติธรรม


ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า สสส.สนับสนุนการดำเนินการรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในการบริโภคผักผลไม้ ที่มีความปลอดภัยอย่างน้อยวันละ 400 กรัม ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกโดยสนับสนุนสถานประกอบการให้มีการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ รวมถึงสนับสนุนการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการบริโภคผักผลไม้ให้แก่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน อาทิ ส่งเสริมการปลูกผัก การมีตลาดนัด หมุนเวียน หรือจัดเมนูอาหารสุขภาพสำหรับ พนักงาน


หลากมิติการ 'เพิ่มพื้นที่ผักในมื้ออาหาร' thaihealth


วรรณา ธรรมร่มดี ผู้จัดการบริหารสำนักกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) กล่าวว่า กิจกรรมของบริษัทมี 2 ส่วน คือ สำนักงานกรุงเทพ และพนักงานฝ่ายผลิต ที่โรงงานศรีราชา มีการจัดอบรมให้กับผู้ค้าในโรงอาหาร ซึ่งแม่ค้าที่ไปอบรมก็กลับมาปรับปรุงเพิ่มเติมเมนูผักมากขึ้น


นอกจากนี้ มีโครงการแปลงผักอินทรีย์ ที่มีการสาธิตอบรมการปลูกผักอินทรีย์ในบริเวณ พื้นที่ว่างข้างอาคารสำนักงานและโรงงาน รวมถึงได้ต่อยอดในส่วนการจัดตลาดผักผลไม้อินทรีย์ขึ้น โดยได้เชิญชวนชาวสวนที่ปลูกผักแถวคลองจินดามาจำหน่ายเดือนละประมาณ 1-2 ครั้ง ที่ไลอ้อนกรุงเทพฯ ด้วย


ในขณะเดียวกัน สสส.ก็มีโครงการที่จัดคู่ขนานกันไป นั่นคือ กิจกรรมเทศกาลสวนผัก คนเมือง 2017 (ครั้งที่ 4) ตอน เส้นทางอาหารเมือง : Bangkok's Food Journey ที่ร่วมกับมูลนิธิมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ในการสนับสนุนโครงการสวนผักคนเมือง เพื่อให้คนเมืองสามารถพึ่งตนเองโดยส่งเสริมการปลูกผักในครัวเรือน สวนผัก คนเมือง สวนผักในองค์กร มีการให้ความรู้ และเครื่องมือมีความแพร่หลาย ผู้บริโภค เข้าถึงได้ง่าย และเกิดเป็นกระแสค่านิยม ใหม่ในสังคม


หลากมิติการ 'เพิ่มพื้นที่ผักในมื้ออาหาร' thaihealth


สุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า โครงการสวนผักคนเมือง เป็นส่วนหนึ่ง ของการริเริ่มให้เกิดการปลูกผักในเมือง มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหารและส่งเสริมการบริโภคผักและผลไม้อย่างเพียงพอตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก จากการปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมีใดๆ ร่วมสร้างพื้นที่อาหารปลอดภัยในเมือง ที่มีมิติเชื่อมโยงกับการพัฒนาด้านสุขภาพ การบริโภค วิถีชีวิต คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมของเมืองที่อยู่บนฐานของการเกื้อกูล สร้างสังคมการอยู่ร่วมกัน การช่วยเหลือผู้อื่น และร่วมขับเคลื่อนหน่วยงานในระดับนโยบายให้เห็นความ สำคัญและยอมรับเกษตรในเมืองเป็นประเด็นหนึ่งของการพัฒนาเมืองปัจจุบัน


โดยงานเทศกาลสวนผักคนเมือง จะเป็นพื้นที่แห่งการแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเผยแพร่แนวคิด เทคนิคความรู้ และรูปธรรมการเชื่อมโยงเรื่องการปลูกผัก กับมิติต่างๆ ให้ ทั้งสมาชิกโครงการสวนผักคนเมือง และผู้ที่สนใจทั่วไปได้นำ ไปประยุกต์ ปรับใช้ในวิถีชีวิตของตัวเอง เพื่อช่วยกันขยายผล และขับเคลื่อนเรื่อง สวนผักคนเมืองในวงกว้างต่อไป


หลากมิติการ 'เพิ่มพื้นที่ผักในมื้ออาหาร' thaihealth


สุภา กล่าวต่อว่า จากการทำงานที่ผ่านมาพบว่า การสนับสนุนกลุ่มคน ในเมืองปลูกผักผ่านโครงการขนาดเล็ก ทำให้เกิดพื้นที่ต้นแบบของการทำสวนผัก ประมาณ 170 กลุ่ม และผ่านการอบรม ของศูนย์อบรมที่กระจายอยู่ในกรุงเทพฯ มีคนที่เกี่ยวข้องกับการปลูกผักประมาณ 8,000 คน และมีผู้เข้าร่วมอบรมปลูกผักประมาณ 1 หมื่นคน อาทิ โครงการสวนผักนักเรียน ห้วยขวาง มีการปลูกผักที่หลากหลาย เฉลี่ยที่ 20-30 ชนิดต่อพื้นที่ โดยความหลากหลายสูงสุดอยู่ที่ 63 ชนิด


ทั้งนี้ สวนผักช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เพิ่มพื้นที่ปอดให้กับเมือง โดยการใช้ประโยชน์จากพื้นที่รกร้างว่างเปล่า และพื้นที่สาธารณะ ให้เปลี่ยนมาเป็นพื้นที่อาหารของเมือง ซึ่งจะช่วยพัฒนาพื้นที่ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ รวมถึงแก้ปัญหาพื้นที่เสี่ยง พื้นที่อันตรายของชุมชนและผู้คนที่อาศัย อยู่ แต่การปลูกผักช่วยพัฒนาพื้นที่และ ปรับภูมิทัศน์ที่ดีให้กับในคนชุมชน


นอกจากนั้น การปลูกผักยังช่วยจัดการขยะในเมืองได้อีกด้วย จากการเก็บข้อมูล พบว่า มีการจัดการขยะอินทรีย์ ในเมืองเพื่อหมุนเวียนมาเป็นปัจจัยการผลิต สูงถึง 2,000-3,000 กิโลกรัม และขยะย่อยสลายยาก เช่น ถังพลาสติก ขวดน้ำ วัสดุเหลือใช้ต่างๆ มาเป็นภาชนะปลูกผัก อีกประมาณ 600-800 กิโลกรัม/ปี รวมถึงการปลูกผักบนดาดฟ้า หรือการปลูกผักบนพื้นปูนที่ช่วยลดเกราะความร้อนในเมือง

Shares:
QR Code :
QR Code