หลากประสบการณ์ชีวิตเพื่อครอบครัวเข้มแข็ง(1)

บทเรียนที่ได้จากการสัมผัสชุมชน

 หลากประสบการณ์ชีวิตเพื่อครอบครัวเข้มแข็ง(1)

          หากจะว่าไปแล้ว ครอบครัวเป็นแหล่งผลิตทรัพยากรบุคคลออกสู่สังคมตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิจนกระทั่งลืมตาดูโลก บางครั้งครอบครัวก็ถูกสถานการณ์ต่างๆ พัดโหมกระหน่ำ สิ่งเดียวที่สามารถทำให้ยังอยู่ได้อย่างมั่นคงก็คือ “การเสริมสร้างครอบครัวเข้มแข็งในทุกช่วงวัยของสังคม”

 

          น.ส.อรวรรณ ชาวเขลางค์ อายุ 16 ปี นักเรียน ชั้น ม.4 โรงเรียนห้างฉัตรวิทยา เล่าประสบการณ์หลังเข้าร่วมโครงการครอบครัวเข้มแข็งที่ทางโรงเรียนนำมาสอดแทรกในหลักสูตรว่าจากเดิมตนเองและครอบครัวไม่ค่อยมีเวลาตรงกัน หรือแม้กระทั่งเวลาพูดคุยกับพ่อแม่ก็ไม่ค่อยมี แต่เมื่อได้เรียนรู้กระบวนการต่างๆ ก็ได้มาปรับใช้ เช่น ยามมีปัญหาก็พูดคุยกับพ่อแม่มากขึ้น เป็นการทำลายกำแพงกั้นและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว

 

          “จากเมื่อก่อนเวลามีปัญหาอะไรหนูไม่กล้าที่จะปรึกษาพูดคุยกับพ่อแม่หรือครอบครัว ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่มีเวลาและไม่กล้าแสดงออกซึ่งความรักระหว่างกัน แต่ตอนนี้ถือว่าได้ วัคซีนตัวใหม่ที่ชื่อว่าความรักความเข้าใจเป็นเกราะป้องกัน ไม่มีความรักใดในโลกนี้ที่จะให้เราได้โดยไม่หวังผลตอบแทน นอกจากความรักของพ่อแม่และครอบครัว”

 

          น้องอรวรรณ กล่าวว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดเจนคือ ตัวเองและครอบครัวให้กำลังใจกันและกันมากขึ้น เป็นแรงผลักดันให้ทำสิ่งดีๆ มากขึ้น เช่น เรียนดีขึ้น ขยันทำงาน มองโลกในแง่ดี มีเหตุผล ชอบช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อผู้อื่น ที่สำคัญเชื่อฟังพ่อแม่ เข้าใจในบริบทและหน้าที่ของแต่ละคนมากขึ้น

 

          น.ส.หทัยชนก วาวงศ์ อายุ 25 ปี นักวิจัยโครงการครอบครัวเข้มแข็ง หนึ่งใน 13 ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า ทีแรกเธอฟังรายการวิทยุหมู่บ้านเกี่ยวกับเรื่องครอบครัวเข้มแข็ง ช่วงแรกฟังแล้วก็ไม่เข้าใจ แต่หลังจากได้โทรเข้าไปสอบถามรายละเอียดก็เลยคิดว่าน่าจะเข้าร่วมโครงการ

 

          “เราต้องการการยอมรับของครอบครัว และสังคมรอบข้างที่สำคัญ อยากทำตนให้เป็นประโยชน์ จึงเข้าไปร่วมในทีมนักวิจัย ซึ่งทำหน้าที่สำรวจเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ สอบถามสารทุกข์สุกดิบของประชาชนในชุมชน ซึ่งไม่ง่ายอย่างที่คิดเพราะการที่ถือสมุดปากกาไปถามเรื่องส่วนตัวของคนอื่น ชาวบ้านถามจะเอาไปทำอะไร หลังๆ จึงต้องเปลี่ยนวิธีโดยเข้าไปพูดคุยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันแล้วก็จำมาบันทึกที่บ้านทำให้รู้สึกเป็นกันเอง เหมือนเราไปเยี่ยมและถามสารทุกข์สุกดิบเท่ามนั้นเอง

 

          จากการได้เข้าไปคลุกคลีกับผู้คนในชุมชนทำให้เธอรับรู้และเข้าใจในชีวิตความเป็นอยู่ของคนอื่นๆ มากขึ้น เป็นประสบการณ์ชีวิต ที่เพิ่มพูนความรู้ เพราะไม่มีใครจะมานั่งเสียเวลาเล่าชีวิตตัวเองให้คนอื่นฟังง่ายๆ ซึ่งจะว่าไปแล้วปัญหาที่พบมากก็ไม่ต่างจากพื้นที่อื่นคือการหลั่งไหลของวัยรุ่นที่ไปเรียนต่างถิ่น แล้วทอดทิ้งให้ผู้ใหญ่อยู่กับบ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากในขณะนี้ หรือบาวงคนเอาลูกหลานมาให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง เพิ่มภาระให้แก่ผู้สูงอายุเหล่านั้น

 

          จากมุมมองชีวิตที่คิดว่าตัวเองทุกข์ที่สุดแล้ว หากย้อนไปดูทุกข์ของผู้อื่นและพยายามเรียนรู้ในทุกข์เหล่านั้น หาทางเยียวยาช่วยเหลือกันตามอัตภาพที่พอจะทำได้ต่อไป ที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น คือ บทเรียนที่ได้จากการสัมผัสชุมชน ได้เรียนรู้ถึงทุกข์สุขร่วมกับผู้อื่น ได้รู้จักแบ่งปัน ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูล และการยอมรับจากบุคคลรอบข้าง จากที่คิดว่าไม่น่าจะทำประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ และไม่มั่นใจว่าจะได้รับการยอมรับ ก็ได้รู้ว่าทำได้ รวมถึงครอบครัวก็มั่นใจในความสามารถและรับรู้ถึงสิ่งที่เธอกระทำ และสามารถยืนหยัดด้วยตัวเองและช่วยค้ำจุนสังคมได้อีกทางหนึ่ง

 

          หากย้อนกลับไปได้ อยากให้สังคมกลับไปเหมือนเดิม เพราะเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ สังคมโลกก้าวไปมาก แต่ไม่มีมาตรการในการรองรับปัญหาครอบครัวที่เกิดขึ้น แต่ละคนแต่ละสังคมและแต่ละครอบครัวต้องเรียนรู้ที่จะอยู่และก้าวให้ทัน อย่าหลงทาง ไม่เช่นนั้นจะตกเป็นเหยื่อของสิ่งไม่พึงปรารถนาที่นับวันจะยิ่งเกิดขึ้นและลุกลามไปอย่างรวดเร็ว

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต

 

 

 

 

Update : 01-09-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code