หลักคิดดำเนินชีวิตด้วย “คำพ่อสอน”
เรื่องโดย อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ Team content www.thaihealth.or.th
เรียบเรียงจากหนังสือคำพ่อสอน : ประมวลพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสเกี่ยวกับความสุขในการดำเนินชีวิต โดย สสส. และมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
แฟ้มภาพ
เมื่อถึงคราวที่เราทุกข์ใจ หาทางออกหรือแนวคิดเพื่อเติมทัศนคติบางอย่างที่ขาดหายไปไม่ได้ หลายๆ คนจึงนั่งจมกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นและไม่รู้จะเดินไปต่ออย่างไร สิ่งหนึ่งที่เป็นแสงส่องทางและเป็นแนวทางที่หลายๆ คนน้อมนำมาปฏิบัติตาม นั่นคือ พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่เปรียบเสมือนดวงดาวบนท้องฟ้าที่ช่วยส่องนำทางให้กับชีวิตในยามที่มืดมน เสมือนแสงเทียนที่ส่องสว่างไสวให้เกิดปัญญาและเห็นหนทางแก้ไขต่อไป
“คำพ่อสอน” ได้รวบรวมพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัวเกี่ยวกับความสุขในการดำเนินชีวิต ซึ่งทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้จัดพิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ.2549 เพื่อให้ประชาชนมีความสุขในการดำเนินชีวิต พระราชดำรัสมีความลึกซึ้งกว้างขวาง เกี่ยวข้องในทุกบริบทของมนุษย์ ทั้งกาย จิต สังคม สิ่งแวดล้อม หากพูดถึงเรื่องของการมีสุขภาพที่ดี นั่นคือการมีสุขภาวะที่พัฒนาด้านกาย จิต สังคม ปัญญา และเมื่อเราอ่าน ไตร่ตรอง ปฏิบัติซ้ำๆ สุขภาวะที่ดีจะบังเกิด และเมื่อเราเข้าใจความจริงแท้ เราจะพบกับความสุข ความสงบที่เกิดจากภายใน
ตัวอย่างพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสจากหนังสือ “คำพ่อสอน”
….ความรู้นั้นแบ่งเป็น 2 อย่าง ความรู้เกี่ยวข้องกับกาย และความรู้ที่เกี่ยวข้องกับใจ ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับกายที่ได้ฝึก และที่ได้มาเรียนรู้ก็คือ วิธีที่จะรักษาตัวให้แข็งแรง รักษาสิ่งของของตัวให้อยู่ ให้ดี และสร้างสรรค์ให้สิ่งที่ใช้หรือสิ่งที่มีอยู่ให้ดี และให้ดีขึ้น และทางจิตใจทุกคนมีความปรารถนาที่จะมีความสุข ต้องการมีความสงบ ต้องการมีความรู้ ความสามารถ ก็ได้ฝึกได้เรียนรู้ จากการพบปะในหมู่ลูกเสือชาวบ้าน และได้รับความรู้จากวิทยากร ความรู้ทั้งหลายทั้งกายทั้งใจนี้ ก็เกิดประโยชน์แก่ตัว…
พระราชดำรัส พระราชทานในพิธีพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้าน จังหวัดสระบุรี ณ วัดหนองเขื่อนช้าง อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี วันศุกร์ที่ 16 เมษายน 2519
///
…ร่างกายของเรานั้น ธรรมชาติสร้างมาสำหรับให้ออกแรงใช้งาน มิใช่ให้อยู่เฉยๆ ถ้าใช้แรงให้พอเหมาะ พอดีโดยสม่ำเสมอ ร่างกายก็เจริญแข็งแรง คล่องแคล่ว ดังนั้นผู้ที่ปรกติทำการงานโดย ไม่ได้ใช้กำลัง หรือใช้กำลังแต่น้อย จึงจำเป็นต้องหาเวลาออกกำลังกาย ให้พอเพียงกับความต้องการตามธรรมชาติเสมอทุกวัน มิฉะนั้นจะเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่เขาจะใช้สติปัญญาความสามารถของเขาทำประโยชน์ให้แก่ตนเองและแก่ส่วนรวมได้น้อยเกินไป เพราะร่างกายอันกลับกลายอ่อนแอลงนั้น จะไม่อำนวยโอกาสให้ทำการงานโดยมีประสิทธิภาพได้…
พระราชดำรัส ในพิธีเปิดการประชุมใหญ่สัมมนาเรื่องการออกกำลังเพื่อสุขภาพ 17 ธันวาคม 2523
///
…กายที่มีสุขภาพดีก็หมายความว่ากายที่แข็งแรง ที่เดินได้ ยืนได้ นั่งได้ มีกำลัง มีทุกอย่าง รวมทั้งมีความคิดที่ดี ถ้ามีสุขภาพจิตที่ดีก็มีกำลัง เป็นกำลังที่จะแผ่ความเมตตาให้แก่คนอื่น มีกำลังที่จะคิดในสิ่งที่ถูกต้อง ที่จะทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองแก่ตัวและความเจริญรุ่งเรืองในสังคม…
พระราชดำรัส ในโอกาสที่คณะจิตแพทย์ นักวิชาการสุขภาพจิต อาจารย์มหาวิทยาลัย และผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันต่างๆ เข้าเฝ้าละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ 2520
///
…การกีฬานั้น ย่อมเป็นที่ทราบกันอยู่โดยทั่ว ไปแล้วว่า เป็นปัจจัยในการบริหารร่างกายให้ แข็งแรง และฝึกอบรมจิตใจให้ผ่องแผ้วร่าเริง รู้จักแพ้ และชนะไม่เอารัดเอาเปรียบกัน มีการให้ อภัยซึ่งกันและกัน สามัคคีกลมเกลียวกัน อย่างที่เรียกกันว่ามี น้ำใจเป็นนักกีฬา…
พระบรมราโชวาท ในวันเปิดการแข่งขันกรีฑานักเรียนประจำปี ของกระทรวงศึกษาธิการ วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคตม 2498
///
…การกีฬานี้มีประโยชน์หลายด้าน และสมควรที่จะส่งเสริมในทางที่ถูกต้อง ในหลักการการกีฬาเป็นสิ่งที่มีจุดประสงค์พื้นฐานเพื่อที่จะส่งเสริมให้ร่างกายแข็งแรงและสามารถที่จะแสดงฝีมือในเชิงกีฬาเพื่อความสามัคคี และเพื่อให้คุณภาพของมนุษย์ดีขึ้น มาเวลานี้ การกีฬาก็นับว่ามีความสำคัญในทางอื่นด้วย คือ ในทางสังคม ทำให้คนในประเทศชาติได้หันมาปฏิบัติสิ่งที่เป็นประโยชน์ ในทางสุขภาพของร่างกายและจิตใจ ทำให้สามารถที่จะอยู่เป็นสังคมอย่างอยู่เย็นเป็นสุข ทั้งเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเจริญของบ้านเมือง…
กระแสพระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วังอังคารที่ 18 กันยายน 2516
///
…ความสบายใจของคนเป็นของที่หายาก คนเราต้องมีความสบายใจ จึงจะมีชีวิตที่ราบรื่นได้…
พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงาน “๕ ธันวาวันมหาราช” ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันพุธที่ 5 เมษายน 2521
///
…การฝึกหัดทางใจนี้ สำคัญอย่างยิ่งยวด จำเป็นที่จะต้องระมัดระวัง ฝึกฝนอยู่เสมอตลอดชีวิต จึงจะคงมีความสุจริตเข้มแข็งและเป็นระเบียบไว้ได้ ไม่พ่ายแพ้แก่ความลุ่มหลงลืมตัว…
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2515 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม 2516
///
…วิถีชีวิตมนุษย์นั้น จะให้มีแต่ความปรกติสุขอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมีทุกข์ มีภัย มีอุปสรรค ผ่านเข้ามาด้วยเสมอ ยากจะหลีกเลี่ยงพ้น ข้อสำคัญ อยู่ที่ทุกๆ คนจะต้องเตรียมกาย เตรียมใจ และเตรียมการไว้ให้พร้อมทุกเวลา เพื่อเผชิญและแก้ไขความไม่ปรกติเดือดร้อนทั้งนั้นด้วยความไม่ประมาท ด้วยเหตุผล ด้วยหลักวิชา และด้วยความสามัคคีธรรม จึงจะผ่อนหนักให้เป็นเบา และกลับร้ายให้กลายเป็นดีได้…
พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2528 วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม 2527
///
…คนเราต้องเตรียมตัวเพื่อที่จะเผชิญปัญหาต่างๆ ในชีวิต แต่การเตรียมตัวนั้นก็ต้องมีความรู้ประกอบด้วย มีการฝึกนิสัยใจคอของตนให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้ด้วย สิ่งที่สำคัญในการฟันฝ่าอุปสรรคในชีวิตคือ ต้องรู้จักตัวเอง รู้ว่าตัวกำลังทำอะไร รู้ว่าตัวต้องการอะไร…
กระแสพระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักศึกษาวิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ เชียงใหม่ วันพุธที่ 3 มกราคม 2516
///
…ความสงบหนักแน่นเป็นเครื่องผ่อนปรนระงับความรุนแรง ความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจกันและกันได้ทุกกรณี โดยเฉพาะความสงบหนักแน่นในจิตใจนั้น ทำให้เกิดความยั้งคิดพิจารณาตามเหตุตามผล จึงช่วยให้สามารถขบคิดวินิจฉัยเรื่องราว ปัญหาและกระทำได้ถูกต้องพอเหมาะพอดี มีประสิทธิผล…
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันพฤหัสบดีที่ 2กรกฎาคม 2535
///
…ความสงบร่มเย็น อาจพูดได้ว่ามีเป็นสองส่วน คือความสงบภายนอกกับความสงบภายใน ภายนอกได้แก่สภาวะแวดล้อมหรือสภาวะความเป็นอยู่ที่เป็นปรกติ ปลอดโปร่งจากสิ่งรบกวนที่ทำให้เกิดภัยอันตราย หรือเกิดความกระวนกระวายเดือดร้อนต่างๆ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ หรือความขัดแย้งวุ่นวาย ความมุ่งร้ายทำลายกัน ภายในได้แก่จิตใจที่สะอาดแจ่มใส อิ่มเอิมสบายไม่มีกังวล ไม่มีความขุ่นเคืองขัดข้องใจ
ความสงบภายในหรือจิตใจที่ปลอดโปร่งจากสิ่งรบกวนนี้สำคัญมาก ควรจะทำให้มีขึ้น เพราะผู้ที่มีจิตใจสงบ จะใช้ความคิดพิจารณาของตนได้อย่างกว้างขวางและถูกต้องดีขึ้น ความคิดที่ประกอบด้วยความสงบนี้มีศักยภาพสูง อาจนำไปใช้คิดอ่านสร้างสรรค์สิ่งที่อำนวยความสุข ความเจริญก้าวหน้า ตลอดจนชื่อเสียงเกียรติคุณ อันเป็นสิ่งที่แต่ละคนปรารถนา ให้สัมฤทธิ์ผลได้…
พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2530 วันพุธที่ 31 ธันวาคม พุทธศักราช 2529
///
…บางทีเมื่อเราไปเจอสถานการณ์อะไรอย่างหนึ่ง ปวดหัว มีใครมาพูดเรื่องราวอะไรต่างๆ ให้ขัดใจเรา เราคิดไม่ออก ปวดหัวโมโหไม่สบายใจ ไม่รู้จะตอบอะไร อันนี้ถ้าเราฝึกจิตใจให้หาเหตุผลโดยเร็ว เราก็รู้ได้แน่ว่าเขาพูดอะไร อย่าเพิ่งท้อใจ มาอย่างไหร มาท่าไหร เรามองเห็น ก็เท่ากับขึ้นไปสู่ความรู้ รู้ไส้เขา รู้โปร่งในความคิดเขา เขามาอย่างไรเรารู้หมด ฉะนั้นถ้าเราฝึกดีแล้ว เราก็ได้เปรียบโดยเร็ว ใครมาพูดหรือมาทำอะไรก็รู้เท่าทัน…
พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะชาวห้วยขวางเขตพญาไท ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม 2518
///
…ในภาษาทุกภาษาก็ต้องมีคำว่า เมตตา คือเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน มองคนอื่นในทางที่จะช่วยเหลือเขามากกว่าที่จะไปแย่งชิงเขา ทุกภาษาทุกศาสนาก็มีจิตใจนี้ หรือวิธีการนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายทำต่อไปด้วยความแน่วแน่ และด้วยความสุจริตใจ จะเป็นทางที่จะช่วยส่วนรวมให้อยู่เย็นเป็นสุข…
พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะกรรมการอำนวยการสันนิบาตมูลนิธิแห่งประเทศไทย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม 2518
///
…ทุกคนที่ถือว่าเป็นชาวพุทธ จะต้องสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาตามภูมิปัญญา ความสามารถ และโอกาสของตนที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจที่กระจ่างถูกต้องในหลักธรรม และเมื่อศึกษาเข้าใจแล้ว เห็นประโยชน์แล้วก็น้อมนำมาปฏิบัติ ทั้งในกิจวัตรและในกิจการงานของตน เพื่อให้ได้รับผล คือความสุข ความสงบร่มเย็น และความเจริญงอกงามในชีวิตเพิ่มพูนขึ้นเป็นลำดับ ตามขีดความสามารถและความประพฤติปฏิบัติของแต่ละคน…
พระราชดำรัส เพื่อเชิญไปอ่านในวันเปิดประชุมใหญ่ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ครั้งที่ 15 ณ กรุงกาฏมัณฑุ ประเทศเนปาล วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน 2529
///
…การทำความดีนั้น สำคัญที่สุดอยู่ที่ตัวเอง ผู้อื่นไม่สำคัญและไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องเป็นห่วงหรือต้องรอคอยเขาด้วย เมื่อได้ลงมือลงแรงกระทำแล้ว ถึงแม้จะมีใครร่วมมือด้วยหรือไม่ก็ตาม ผลดีที่ทำจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน และยิ่งทำมากเข้า นานเข้า ยั่งยืนเข้า ผลดีก็ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น และแผ่ขยายกว้างออกไปทุกที คนที่ไม่เคยทำดีเพราะเขาไม่เคยเห็นผล ก็จะได้เห็นและหันเข้ามาตามอย่าง…
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม 2521
///
…อยากจะแนะข้อคิดอันหนึ่ง ซึ่งเป็นทางแห่งความเจริญ คือ การพิจารณา การพิจารณานั้น เป็นการหยุดยั้งชั่งใจก่อนที่จะปฏิบัติการใดลงไป เสมือนกับได้ปรึกษากับตนเองก่อน ถ้าหากทำสิ่งใดโดยมิได้พิจารณาแล้วก็อาจจะตดเป็นเหยื่อแห่งอารมณ์ บังเกิดความประมาทขึ้น อันจะเป็นผลเสียหายแก่กิจการนั้นๆ ได้ ฉะนั้น ขอให้ทุกคนจงใช้ความพิจารณาให้รอบคอบ ก่อนที่จะประกอบกิจใดๆ แม้แต่ถ้อยคำที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วนั้น ก็ควรจะได้รับการพิจารณาเช่นเดียวกันด้วย…
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทาประกาศนียบัตรนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2501
///