หลอมพลังรวมใจ พลิกชีวิตคนพิการ มีงาน คุณภาพชีวิต
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจาก สสส.
จากเดิมไม่มีรายได้ ต้องพึ่งครอบครัว ไม่มีอิสระ ไม่มีอำนาจศักดิ์ศรี แต่ปัจจุบันคนพิการกำลังมีชีวิตของตัวเอง
เมื่อกฎหมายปลดล็อก ขับเคลื่อนให้สถานประกอบการที่จ้างงานคนพิการตามกฎหมายได้ไม่ครบจำนวน100:1 ตามที่กำหนด (มาตรา 34) เปลี่ยนมาสนับสนุนจ้างงานคนพิการเชิงสังคม หรือเปลี่ยนเป็นการให้การสนับสนุนทุนประกอบอาชีพอิสระตามมาตรา 33 และ 35 ผลผลิตที่เกิดขึ้นในวันนี้ คือ คนพิการสามารถมีอาชีพและมีงานทำใกล้บ้าน
ซึ่งหากนับถึงวันนี้ ผู้ประกอบการได้ร่วมกันให้การสนับสนุนงานและอาชีพแก่ คนพิการกว่า 20,000 โอกาส หากคิดเป็นรายได้และทุนสนับสนุนอาชีพส่งตรงถึงมือคนพิการรวมกว่า 2,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน สมาชิกในสังคมยังได้เห็นถึงศักยภาพของคนพิการในฐานะพลเมืองเข้มแข็ง (Active Citizen) ที่สามารถทำประโยชน์และเป็นกำลังสำคัญให้กับชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ได้
"สสส. ทำงานเรื่องผู้พิการมานับสิบกว่าปี โดยเริ่มจากตั้งเป้าหมายที่จะช่วย ให้ผู้พิการมีชีวิตอิสระมากขึ้น และสามารถออกจากบ้านได้ รับรู้ถึงสิทธิประโยชน์ ในการรักษาพยาบาลและสวัสดิการ" ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เกริ่นเล่า
"ซึ่งหลังจาก สสส. และภาคีผลักดัน หลายส่วนๆ จนเกิด พ.ร.บ. ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการปี พ.ศ.2550 หนึ่งในนั้นคือการส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำ มากขึ้น ตามมาตรา 33 และ 35 "
นับย้อนไปเกือบ 5 ปีก่อน ด้วยกลไกการทำงานที่ สสส. ร่วมกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ได้พัฒนารูปแบบการจ้างงานคนพิการในชุมชนและองค์กรสาธารณะประโยชน์โดยใช้มาตราดังกล่าว ไม่เพียงสามารถช่วยให้คนพิการสามารถทำงาน ใกล้บ้าน แต่การเปลี่ยนวิธีที่ทำให้เงิน ก้อนเดิม มาเป็นรูปแบบการจ้างงานทางอ้อม แทนการนำส่งเข้าไปนอนอยู่ในกองทุน ซึ่งแน่นอนว่า รายได้เหล่านี้สามารถส่งไปถึงคนพิการโดยตรงได้100%
อีกหนึ่งผู้ร่วมบุกเบิกแนวคิดการจ้างงานคนพิการเพื่อสังคม อภิชาติ การุณกรสกุลประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม เอ่ยถึง ผลลัพธ์ความภาคภูมิที่เกิดจากการขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปลายปี 2557 ว่าจากการผลักดันต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันในปี 2562 นี้ สถานประกอบการกว่า 500 แห่ง ได้ให้ การสนับสนุนโอกาสงานและอาชีพแก่ คนพิการกว่า 7,000 คน
"ต้องบอกก่อนว่า จริงๆ แล้วกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมคุณภาพผู้พิการนี้เป็น กฏหมายที่ดีมากอยู่แล้ว แต่กฎหมายยังไม่สามารถออกฤทธิ์ได้เต็มที่ เพราะติดบริบท ต้องยอมรับว่าหลายบริษัทเองก็มีความตั้งใจที่จะจ้าง แต่ก็ต้องมีคนที่มีความรู้ ทักษะ ซึ่งคนพิการ 94% ไม่มีความรู้และการศึกษา จึงเกิดช่องว่าง เป็นปัญหาที่สะสมมาทุกปี" อภิชาติกล่าว
"ซึ่งผมมองว่าความยากเรื่องนี้ มันยากด้วยกรอบความคิด ต้องยอมรับว่าเมื่อก่อน เราจะคิดว่าการทำงานคือต้องมาทำงาน แต่ เรานอกกรอบตรงนี้ โดยการที่หางานที่เขาทำได้และเป็นประโยชน์"
อภิชาติยอมรับว่าปีแรกๆ เป็นเรื่องยากมากที่จะชวนบริษัทให้ทำตามแนวทางนี้ เพราะเมื่อลูกจ้างกับนายจ้างอยู่ไกลกัน ก็ยากที่ผู้ประกอบการจะไว้ใจว่าเงิน แต่ละเดือนที่ส่งไปนั้นถึงมือคนพิการ จริงหรือไม่
"แต่ผมคิดว่าเราก้าวพัฒนามาเรื่อยๆ ภาคีก็ให้ความร่วมมือ ก็เชื่อว่าน่าจะไปต่อได้อย่างแน่นอน" อภิชาติเปรย
"ความสำเร็จที่ผ่านมาทั้งหมด ผมมองว่าภาคี ทั้งคนในพื้นที่และคนพิการ นี่คือ ผลงานของพวกเขาล้วนๆ ซึ่งนวัตกรรม ที่เกิดขึ้นมากมาย ทางพื้นที่เขาคิดเอง หน้าที่เราเพียงเชื่อมทรัพยากรให้เขา ดังนั้นวันนี้เรามองว่า กลไกใน การประสานมีแล้ว ภาคีเรามีแล้ว ถัดไป คืองบระมาณและทรัพยากร ที่ทำอย่างไร ไม่ต้องพึ่งงบ สสส. อย่างเดียว เลยเป็นที่มาของตู้ชื่นใจ และเทใจดอทคอม ที่จะเกิด การระดมทุนที่จะทำให้ใช้ขับเคลื่อนเพื่อเสริมให้ภาคีที่ทำงานมีความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อให้งานเดินต่อไปด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน" อภิชาติเอ่ย
เอด้า จิรไพศาลกุล กรรมการผู้จัดการ เทใจดอทคอม เล่าถึงการเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่ดีๆ ว่าโครงการนี้เป็น อีกหนึ่งโครงการดีๆ โดยเทใจ.คอมจะเป็นสื่อกลางในการระดมเงินทุนจากผู้สนับสนุนไปทำโครงการดีๆ ให้เกิดขึ้นกับผู้พิการ ซึ่งโครงการมีเป้าหมายระดมเงินสนับสนุน 3 ล้านบาท ที่จะช่วยสร้างโอกาสงานคนพิการ 3 พันคน โดยเงินทุก 1,000 บาท จะทำให้คนพิการมีอาชีพ มีรายได้ ได้ทำงานในองค์กรเพื่อสังคมใกล้บ้าน รวมถึง การให้ความอนุเคราะห์สถานที่ติดตั้ง "ตู้ชื่นใจ" ยังเป็นอีกทางเลือกสำหรับ หน่วยงานในการที่จะมีส่วนส่งเสริมอาชีพคนพิการได้ด้วย
เพื่อแสดงความขอบคุณต่อ หน่วยงานสถานประกอบการและองค์กรต่างๆ ที่ให้ความอนุเคราะห์สถานที่ติดตั้ง "ตู้ชื่นใจ" ซึ่งเป็นฐานในการสร้างทุนสนับสนุนให้สามารถขับเคลื่อนภารกิจได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต สสส.ร่วมด้วยมูลนิธินวัตกรรทางสังคม ร่วมกับภาคีเครือข่ายจึงจัดมอบประกาศเกียรติคุณในงาน FIRST IN THE WORLD INSPIRING THE WORLD ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้
อภิชาติเอ่ยต่อว่าปัจจุบันการทำงาน มีภาคีร่วมขับเคลื่อนภารกิจจากทุกภาคส่วนและภาคีพื้นที่กว่า 2,000 หน่วย ร่วมดำเนินการ ขณะเดียวกันการจ้างงานคนพิการ เพื่อสังคมก็ยังต้องดำเนินต่อไปให้ถึงที่สุด เพื่อรอวันที่เยาวชนผู้พิการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษามากขึ้น ซึ่งจะทำให้ในอนาคตการจ้างงานคนพิการกระแสหลักจะเพิ่ม มากขึ้นตาม
"อย่างไรเสียการที่คนพิการถูกจ้างงานให้ทำงานโดยตรงดีที่สุด แต่บ้านเรายัง ไม่พร้อมทั้งสองฝั่ง การจ้างแบบนี้จึงเป็นทางเลือก แต่ในอนาคต คนพิการต้องเข้าถึงโอกาสด้านการศึกษามากขึ้น ซึ่งปัญหาใหญ่มากขนาดนี้เราทำคนเดียวคงไม่ได้ ต้องเป็นภาครัฐ" อภิชาติเอ่ย
ด้าน ดร.สุปรีดาเสริมความเห็นว่า ถึงแม้วันนี้เราจะมีคนพิการที่ถูกจ้างงาน มากขึ้น แต่ สสส. และทุกฝ่ายมองว่าก็ยังคงไม่เพียงพอ เพราะยังมีคนพิการที่รอโอกาสตรงนี้อีกมากมาย
"ดังนั้นเป้าหมายต่อไปที่เรากำลัง ผลักดันคือการขับเคลื่อนให้คนพิการได้รับการจ้างงานมากขึ้น ถึงเป้าขั้นต่ำที่กฏหมายกำหนด และทยอยเพิ่มสัดส่วนผู้พิการที่มีงานมากขึ้นต่อไปในระยะยาว รวมถึง อีกความคาดหวังสำคัญเพื่อให้เกิดการ ขับเคลื่อนที่ยั่งยืน คือการพัฒนาความ ร่วมมือระหว่างภาครัฐ โดย กระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ให้ขยายประโยชน์ไปยังคนพิการทั่วทุกพื้นที่ เพื่อร่วมสร้างจุดเปลี่ยนของสังคมไทย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" ดร.สุปรีดากล่าว
ปิดท้ายด้วย อณิรา ธินนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กล่าวว่าภารกิจนี้เป็นภารกิจโดยตรงที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้ความสำคัญ เพื่อทำให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
"กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพ ชีวิตคนพิการ สนับสนุนและส่งเสริม ให้หน่วยงานภาครัฐ จ้างคนพิการเข้าทำงานให้โอกาสคนพิการได้มีงานทำ เพื่อให้ พวกเขามีรายได้และอาชีพ ที่ยั่งยืน และร่วมสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานคนพิการอย่างถูกต้อง และมีเป้าหมายเพื่อคนพิการอย่างแท้จริง"