หยุดสถิตินักสูบหน้าใหม่ขจัดสิงห์อมควันในโรงเรียน
จากข้อมูลการสำรวจการสูบบุหรี่ในเยาวชนไทยอายุ 13-15ปีเมื่อปี 2552ของศูนย์เฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อสำนักโรคติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า เยาวชนไทยมีแนวโน้มการสูบบุหรี่ที่สูงขึ้นและยิ่งน่าตกใจเมื่อพบว่า เยาวชนมีความเข้าใจว่าการสูบบุหรี่ทำให้มีเพื่อนมากขึ้นซึ่งจุดนี้นับเป็นปัญหาใหญ่ที่สังคมต้องเร่งสร้างความเข้าใจเพื่อไม่ให้ลุกลามต่อไป
ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ(ศจย.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นองค์กรที่มีความตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวนี้อย่างมาก จึงได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน จัดเสวนาเรื่อง “การควบคุมยาสูบในสถานศึกษา” ที่โรงแรมสยามซิตีกรุงเทพฯ เพื่อระดมความคิดเห็นในการหาแนวทางป้องกันและควบคุมการบริโภคยาสูบในเยาวชนไทยให้ลดน้อยลงและเลือนหายไปในที่สุด โดยมี นักวิชาการ นักการศึกษาและอาจารย์หลายท่านให้ความคิดเห็นเสนอแนะถึงหนทางการแก้ไขที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
รศ.ดร.สุรินธร กลัมพากร อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ม.มหิดล เผยผลการศึกษาโครงการ “การวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์การใช้ยาสูบของนักเรียนในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ” ว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูล มีจำนวนกลุ่มตัวอย่างตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึง ม.ปลาย ปีการศึกษา 2553 จำนวน 5,805,560คนแบ่งเป็น ชาย 2,784,527 คน และหญิง 3,021,033 คน พบว่ามีเด็กที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติด 67,000 คน เป็นชายมากกว่าหญิง และส่วนใหญ่อยู่ ม.ปลาย โดยพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้มากที่สุด…ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องหาทางแก้ไขและหยุดยั้งการขยายตัว
อาจารย์อนงค์ พัวตระกูล รองประธานเครือข่ายครูนักรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ยอมรับว่าเยาวชนไทยหันมาสูบบุหรี่มากขึ้นซึ่งจากการติดตามการหาแนวทางช่วยเหลือและแก้ปัญหาเด็กที่ติดบุหรี่ในสถานศึกษา ส่วนใหญ่พบว่าผู้บริหาร และครูยังให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหานี้น้อยเกินไปจึงฝากให้ทุกโรงเรียนหันมาให้ความสำคัญ เพราะเชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง ปัญหานี้จะลดลงได้อย่างแน่นอน เป็นเรื่องที่ควรพิจารณาถึงตัวผู้บริหารอย่างจริงจัง และเด็ดขาด
ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการ ศจย.กล่าวว่า ปัจจุบันเยาวชนไทยเริ่มสูบบุหรี่ขณะที่ยังอยู่ในวัยเรียนทางโรงเรียนจึงควรจัดกิจกรรมให้เด็กได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เพื่อให้เด็กไม่หันไปใช้เวลากับสิ่งเสพติด รวมทั้งบุหรี่นอกจากนี้ความห่างเหินของครอบครัว ก็ทำให้เด็กหันไปทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น โรงเรียนและครอบครัวต้องใส่ใจและสนใจในความสามารถพิเศษของเด็ก และจัดกิจกรรมที่เหมาะสมให้ หากทำได้เด็กคงหันไปหมกมุ่นกับบุหรี่น้อยลงซึ่งจะต้องร่วมมือกันทำอย่างเร็วที่สุด
นางจุไรรัตน์ แสงบุญนำ รองปลัด ศธ. กล่าวว่าที่ผ่านมา ศธ.ให้ความสำคัญกับปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยมีคำสั่งไปยังสถานศึกษาทั่วประเทศในการควบคุมยาสูบในสถานศึกษา อาทิ โรงเรียนต้องติดป้ายห้ามสูบบุหรี่ มีการเข้าไปสำรวจนักเรียนที่อาจมีสารเสพติดปีละ 2 ครั้ง เพื่อเป็นการป้องปรามอย่างเข้มงวด และห้ามไม่ให้มีการซื้อขายบุหรี่ในสถานศึกษา โดยครู บุคลากรทางการศึกษา และภารโรง ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็ก อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะต่างๆ จากการเสวนาในครั้งนี้จะนำเข้าสู่ที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป
จะมีคำสั่งเพียงอย่างเดียวคงไม่พอแล้ว แต่ควรต้องมีการให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดด้วย
และในงานนี้ได้มีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจะทำให้เด็กหรือเยาวชนที่หลงผิดเข้าไปอยู่ในวังวนของการสูบบุหรี่ สามารถหลุดออกมาจากวังวนอันชั่วร้ายนี้ได้ โดยมีการแนะวิธีช่วยลดความอยากสูบบุหรี่ด้วยมะนาว ที่ครูจะนำมาส่งเสริมให้เด็กนักเรียนสามารถลดการสูบบุหรี่จนกระทั่งอาจจะสามารถทำให้เด็กนักเรียนเลิกสูบบุหรี่ได้ คือ หั่นมะนาวเป็นชิ้นเล็กโรยด้วยเกลือ แล้วให้เด็กอมมะนาวไว้ชั่วครู่ จากนั้นจึงค่อยๆ เคี้ยวจนหมด ต่อด้วยการดื่มน้ำตาม การกระทำเช่นนี้จะช่วยเด็กให้ลดความอยากสูบบุหรี่ได้มาก ทั้งนี้เนื่องจากมะนาวจะมีวิตามินซีที่จะช่วยลดสารนิโคตินในกระแสเลือดได้ ซึ่งจะทำให้อาการอยากบุหรี่น้อยลง และเมื่อดื่มน้ำตามมากๆ สารนิโคตินก็จะขับออกมาพร้อมปัสสาวะ
เป็นที่ประหลาดใจว่า แม้ที่ผ่านมาทุกหน่วยงานจะพยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ในสถานศึกษามาอย่างต่อเนื่อง แต่ทว่าตัวเลขสิงห์อมควันในวัยเรียนกลับยังไม่ลดลง ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องหันหลังกลับมาทบทวนว่า การดำเนินการที่ผ่านมายังบกพร่องในส่วนใด และต้องแก้ไขอย่างไร เพื่อให้เด็ก ลด ละ เลิก และไม่เกี่ยวข้องกับบุหรี่อีก ซึ่งแม้จะดูเป็นเรื่องยาก แต่หากไม่เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ มั่นใจว่านักสูบหน้าใหม่คงจะเกิดขึ้นอยู่เกลื่อนเมือง
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า โดย ปานมณี