หยุดยาเสพติด หยุดเสี่ยงโควิด-19
เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก หนังสือข้อเท็จจริงและตัวเลข : สารเสพติดผิดกฎหมายในประเทศไทยปี 2560-2563
ขึ้นชื่อว่ายาเสพติด หรือสารเสพติด หลายคนคงเคยได้รับการตักเตือน หรือขอร้องจากผู้หลักผู้ใหญ่ว่า อย่าได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวโดยเด็ดขาด เพราะไม่ว่าจะเป็นยาเสพติดชนิดใด ก็ล้วนแฝงไปด้วยอันตราย เป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคทางร่างกายและจิตใจของผู้เสพ บางรายอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
ยิ่งในท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยแล้ว หากมีการใช้ยาเสพติดก็ยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิดได้ง่ายขึ้น เพราะเมื่อเกิดอาการมึนเมาขาดสติ ผู้เสพก็จะละเลยไม่ป้องกันตัวเอง ขณะเดียวกันการใช้อุปกรณ์เสพยาร่วมกัน ยังทำให้เกิดการกระจายเชื้ออย่างรวดเร็ว
สอดคล้องกับข้อมูลผลสำรวจสถานการณ์ยาเสพติดในช่วงการระบาดโรคโควิด-19 ในประเทศไทยของ “รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ” ผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติด (ศศก.) ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พบว่า คนส่วนใหญ่รับรู้ว่าการใช้ยาเสพติด สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ได้ และหากติดเชื้อแล้ว อาจทำให้มีอาการรุนแรงขึ้น
ขณะที่ยาเสพติดที่พบมีการใช้ในชุมชน ได้แก่ น้ำต้มใบกระท่อมผสมสารอื่น ร้อยละ 55.6 ยาบ้า ร้อยละ 52.6 ใบกระท่อมแบบเคี้ยวสด ร้อยละ 49.6 กัญชา ร้อยละ 23.1 ยาไอซ์ ร้อยละ 12.4 สารระเหย ร้อยละ 3.8 มอร์ฟีน ร้อยละ 0.9 ฝิ่น ร้อยละ 0.4 และยาเค ร้อยละ 0.4 นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 15.2 ระบุว่าพบการซื้อขายมากขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19
ผู้จัดการ ศศก. บอกถึงสิ่งที่น่ากังวลใจว่า “แม้สถานการณ์ยาเสพติดในช่วงการระบาดของโควิด-19 จะลดลง เนื่องมาจากการลดการพบปะสังสรรค์ กลัวการติดโรค และการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อโรค แต่กลับพบว่ามีความพยายามดัดแปลงสูตรเพื่อลดต้นทุน ด้วยการเอาสารอื่นมาผสม ทำให้ขายได้ในราคาถูกลง แต่คนใช้ไม่รู้จึงอาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้เสพได้ รวมไปถึงต้องเฝ้าระวังผู้ที่มีความเครียดจากปัญหาโควิด ที่อาจหันไปหายาเสพติดได้”
รศ.พญ.รัศมน แนะนำวิธีจัดการยาเสพติดในช่วงโควิด-19 ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการใช้ยาเสพติดทุกชนิด เพราะอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนในผู้ที่เป็นโควิด ได้สูงกว่าเมื่อเทียบกับการไม่ใช่ยาเสพติด เช่น ผลกระทบต่อปอด เป็นต้น
2. เน้นให้ความรู้ มากกว่าลงโทษ เพราะการใช้วิธีลงโทษเพื่อแก้ปัญหายาเสพติดเช่นปัจจุบันคือ การจำคุกเกิดปัญหาล้นคุก ปล่อยตัวออกมาแล้วยังมีพฤติกรรมแบบเดิม กลับเข้าไปอีก วนเวียนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ได้เกิดการแก้ปัญหาโดยตรง ดังนั้นควรให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปว่ายาเสพติดชนิดต่างๆ มีผลกระทบอย่างไร เพื่อป้องกันในระดับบุคคลก่อน
3. บำบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ สำหรับผู้ที่ติดยาเสพติดไปแล้ว การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ถือเป็นเป้าหมายสำคัญกว่าการลงโทษ จึงควรเปิดโอกาสให้ผู้เสพได้เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา
4. งดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดชุมนุมสังสรรค์ โดยเฉพาะในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของโควิด
5. ให้ความรู้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยสร้างการรับรู้ต่อสถานการณ์ของปัญหา และตระหนักถึงพิษภัยของยาเสพติด
ด้าน “น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ” รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันได้มีการปลดล็อคให้ใช้ส่วนของกัญชาและกัญชง ที่ไม่เป็นยาเสพติดในผลิตภัณฑ์อาหารได้ อย่างไรก็ตามในส่วนของช่อดอกและเมล็ดกัญชา ยังถือเป็นยาเสพติดอยู่ ดังนั้นจึงต้องเฝ้าระวัง เพราะอาจถูกนำไปใช้เสพเพื่อความรื่นเริง เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดได้ เนื่องจากมองเห็นแต่ประโยชน์และความสนุกสนาน โดยลืมคำนึงถึงโทษของสารเสพติดที่ยังคงมีอยู่
“การแก้ไขปัญหายาเสพติดในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของโควิดเช่นนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยทาง สสส.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เล็งเห็นถึงความจำเป็นและพยายามให้ความสำคัญ กับการศึกษาวิจัยเป็นอย่างมาก เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงวิชาการที่ถูกต้องและทันต่อสถานการณ์ เพื่อช่วยหาทางป้องกันปัญหายาเสพติดในสังคมไทยต่อไป” น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว
การใช้ยาเสพติดส่งผลต่อโรคโควิด-19 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยลดความเสี่ยงได้ คือการเลิกยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดทุกชนิด สสส. ขอรณรงค์ให้ทุกคน ลดละเลิกปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเหล้าบุหรี่และยาเสพติด เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงห่างไกลโควิด-19