“หมู่บ้านแม่เตี้ยะ” ไม่ห้ามดื่มเหล้าแต่ใช้มาตรการทางสังคม
ช่วยลูกบ้านลด-ละ-เลิก
ทุกวันนี้สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่มาจากปัญหาการเมาแล้วขับ แม้ว่าจะไม่มีกฎหมายห้ามคนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ทุกหน่วยงานต่างเห็นตรงกันว่า ประโยชน์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นมีน้อยกว่าโทษอยู่มาก
ดังนั้นการที่จะให้คนไทยได้ลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ได้นั้นควรเริ่มจากจุดเล็กๆภายในสังคมก่อนนั่นคือ “ครอบครัว” หากทุกครอบครัวสามารถทำให้คนในครอบครัวสามารถลด ละ เลิกการดื่มสุราได้นั้นจะส่งผลให้ภาพรวมของประเทศไทยมีคนที่ดื่มสุราลดน้อยลงเช่นกัน จากข้อมูลของรศ. ดร.สุพล ลิมวัฒนานนท์ นักวิจัยอาวุโสสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศและอาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่าในปี 2551 พบว่า สมาชิกในครอบครัวที่ดื่มสุรามีจำนวน 4.7 ล้านครอบครัว มีค่าใช้จ่ายต่อเดือน 602 บาทต่อ หรือกล่าวได้ว่าในช่วงเวลา 6 ปีคนไทยจ่ายค่าสุราเพิ่มขึ้น 62% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และครอบครัวที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าทำลายสุขภาพนี้สูงกว่า ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพเกือบ 7 เท่า และที่น่าเป็นห่วงคือครอบครัวที่ยากจนแต่กลับมีค่าใช้จ่ายในการซื้อสุรามากกว่าครอบครัวที่มีฐานะดี
ด้านกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า จากการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในรอบ 9 เดือน ของปี 2552 พบคนไทยมีค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มูลค่ากว่า 102,296 ล้านบาท เมื่อคำนวณจากผู้ที่ดื่มซึ่งมีทั้งหมด 14.9 ล้านคน เฉลี่ยใช้เงินซื้อเหล้า-เบียร์ดื่มเฉลี่ยรายละ 6,865 บาท
จากข้อมูลข้างต้นเป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่สอดคล้องกับการทำงานผู้นำชุมชนของหมู่บ้านแม่เตี๊ยะ หมู่ 7 ต.ดอยแก้ว อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ นำโดยผู้ใหญ่บ้านอนุรักษ์ ชัยอาภา ที่เห็นปัญหาเรื่องของสุราและยาเสพติดในชุมชน จึงได้นำเอามาตรการทางสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการลด ละ เลิกการดื่มสุราและเสพยาเสพติดของลูกบ้าน ซึ่งการดำเนินงานของบ้านแม่เตี้ยะนั้นถือว่าประสบความสำเร็จ สามารถเป็นชุมชนต้นแบบให้กับชุมชนอื่นได้
ผู้ใหญ่อนุรักษ์ เล่าว่า แต่เดิมลูกบ้านส่วนมากหลังเลิกจากทำงานส่วนมากจะตั้งวงดื่มสุรากัน นานวันเริ่มมีการใช้ยาเสพติดเข้ามาในชีวิตประจำวันมากขึ้น ตนเห็นว่า นอกจากจะทำให้เสียสุขภาพแล้ว ครอบครัวยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นอีก เกิดความรุนแรงในครอบครัว และยิ่งไปกว่าในชุมชนที่เคยสงบสุขกลับเกิดการลักเล็กขโมยน้อยขึ้นในชุมชน จากปัญหาดังกล่าว จึงทำให้เกิดความคิดที่จะใช้มาตรการทางสังคมเข้ามาช่วย ด้วยการจัดโครงการลด ละ เลิกสุรา โดยเริ่มต้นที่การสร้างแกนนำชุมชน จากนั้นขยายไปสู่ร้านค้าภายในชุมชนให้ช่วยลดการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือให้มีการขายน้อยที่สุดแต่ไม่ได้จะห้ามขายเลย จากนั้นจึงได้ออกมาตรการทางสังคมว่า หากบ้านใดมีงานศพห้ามจัดให้มีกรเล่นการพนันและดื่มสุราทั้งภายในวัดหรือบ้านที่จัดงานศพ หากบ้านใดฝ่าฝืนจะไม่ได้รับเงินช่วยฌาปนกิจศพจากหมู่บ้าน และเจ้าภาพจะโดนปรับเงินอีก ด้วยมาตรการทางสังคมดังกล่าวจึงทำให้ทุกวันนี้ชาวนบ้านในชุมชนบ้านแม่เตี้ยะมีผู้ที่เลิกดื่มสุราได้จำนวน 5 ราย จำนวนนี้สามารถเลิกสุราได้ภายใน 3 ปีจำนวน 5 คน โดยเลิกได้ภายใน 1 ปี จำนวน1 คน ภายใน 2 ปี 3 คน และภายใน 3 ปี 1คน และ 1 รายอยู่ระหว่างการลดสุรา จากการประเมินของโรงพยาบาลจอมทอง ล่าสุดปี 2552 มีผู้ดื่มสุราทั้งหมด 88 ราย อายุระหว่าง 18-82 ปี แบ่งเป็นผู้ติดสุรา 11 ราย อายุ 25-59 ปี และกลุ่มเสี่ยงติดสุราอีก 10 ราย ที่เหลืออีก 67 รายดื่มครั้งคราวในเทศกาลต่างๆ
ด้าน นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หมู่บ้านแม่เตี๊ยะ มีประชากรทั้งหมด 239 คน 61 หลังคาเรือน เป็นชาย126 คน หญิง 113 คน หมู่บ้านดังกล่าวเคยประสบปัญหาการแพร่ระบาดของยาบ้า ในกลุ่มวัยทำงานที่ใช้แรงงาน ส่งผลกระทบต่อผู้เสพตามมามากมายทั้งทางร่างกาย จิตใจและสังคม หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายปราบปรามยาเสพติดในพ.ศ. 2547 ทำให้ผู้ติดยาบ้าคิดเลิกเสพยา หันมาดื่มเหล้าแทน ทำให้ติดเหล้า จนไม่สามารถทำงานได้ เกิดการทะเลาะวิวาท ใช้ความรุนแรงในครอบครัว ทำลายข้าวของในบ้าน มีปัญหาสัมพันธภาพในครอบครัวและชุมชน
จากปัญหาดังกล่าวผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน แกนนำในชุมชน ได้ประชุมทำประชาคมกับชาวบ้าน 3 ครั้ง ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการติดสุรา และจัดโครงการ ลด ละ เลิกการดื่มสุราในชุมชน โดยกำหนดมาตรการ หมู่บ้าน ได้แก่ ให้งดดื่มสุราในงานศพ อนุโลมให้ดื่มในป่าช้าได้ หากฝ่าฝืน เจ้าภาพจะถูกปรับเงิน 2,000 บาท และงดจ่ายเงินฌาปนกิจศพของหมู่บ้าน สำหรับงานแต่ง งานขึ้นบ้านใหม่ให้ดื่มสุราได้จนถึงเวลา 22.00 น.เท่านั้นโดยห้ามดื่มสุราระหว่างที่ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้านประชุมแกนนำหมู่บ้าน หากฝ่าฝืนปรับ 100 บาท จัดให้มีโครงการเลิกเหล้าเข้าพรรษา ให้ อสม.ออกรณรงค์เชิญชวน ในการเลิกดื่ม ลงชื่อเข้าร่วมโครงการ ในปี 2552 นี้มีผู้ร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาจำนวน 26 ราย
ผู้ที่เลิกดื่มสุราได้สำเร็จ เช่นผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน จะให้การยกย่องให้เป็นบุคคลต้นแบบ โดยสถานีอนามัยแม่เตี๊ยะ จะมอบประกาศนียบัตรชื่นชม ให้กำลังใจ ผู้ที่เลิกสุราได้สำเร็จ และสนับสนุนหมู่บ้านให้เป็นสถานที่ศึกษาดูงานขอผู้ที่สนใจเพื่อให้ชุมชนเกิดความภาคภูมิใจและมีกลังใจในการพัฒนาชุมชนต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย
update: 05-01-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร