หมู่บ้านสัมมาชีพ สานปรัชญา`เศรษฐกิจพอเพียง`

ที่มา : เดลินิวส์


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


หมู่บ้านสัมมาชีพเลิกเหล้า สานปรัชญา'เศรษฐกิจพอเพียง' thaihealth


'หมู่บ้านสัมมาชีพ'เลิกเหล้า สานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เก็บข้อมูลช่วงเข้าพรรษาปี 2558 เพียงปีเดียว มีผู้เลิกเหล้าได้ตลอดครบพรรษาถึง 5.96 ล้านคน ช่วยประหยัดค่าเหล้าไปได้กว่า 9,917 ล้านบาท มีชุมชนเข้าร่วมโครงการมากกว่า 600 ชุมชน


กว่า 13 ปีที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) รณรงค์โครงการงดเหล้าเข้าพรรษามาตั้งแต่ปี 2546 จนขยายผลการทำงานเป็น งดเหล้าเข้าพรรษา และงดเหล้าครบพรรษาในปัจจุบัน รวมถึงรณรงค์ให้เลิกเหล้าไปตลอดชีวิต โดยมีการสร้างเครือข่ายงดเหล้าเกิดขึ้นมากมายในประเทศไทย ช่วยให้มีคนเลิกเหล้าได้จำนวนมาก


การเดินหน้ารณรงค์เลิกเหล้า รวมถึงอบายมุขอื่นๆ ทั้งบุหรี่ สิ่งเสพติด และการ พนัน ถือเป็นการเดินตามรอยพ่อหลวง "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" ตามแนวทางพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่ทรงพระราชทานเป็นแนวทางแก้ปัญหาให้แก่พสกนิกรชาวไทยมาเนิ่นนาน


นายนิรุจน์ อุทธา ผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคอีสานตอนบน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าว่า การทำงานของ สสส. และสคล. เป็นการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยเฉพาะเรื่องของแนวพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียง" เนื่องจากเศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์พระราชทานให้พสกนิกรของพระองค์ท่านปฏิบัตินั้น ชัดเจนว่าเป็นการรู้จักพออยู่ พอกิน พอใช้ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 3 ระดับ คือ 1. ระดับพื้นฐาน คือสามารถวิเคราะห์และประเมินตัวเองได้ สามารถพึ่งตนเองได้ หมายถึงการลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นอบายมุข ทั้งเหล้า บุหรี่ การพนัน


หมู่บ้านสัมมาชีพเลิกเหล้า สานปรัชญา'เศรษฐกิจพอเพียง' thaihealth


นายนิรุจน์ กล่าวอีกว่า 2. เศรษฐกิจพอเพียงระดับสร้างเครือข่าย เช่น การปลูกพืชผักสวนครัว นอกจากพอมีกินมีใช้ในครอบครัวแล้ว ยังต้องรู้จักแบ่งปันผู้อื่น และหากเหลือก็นำมาออกขายในราคาที่ไม่แพง และมีการสร้างเครือข่ายในการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงร่วมกัน หากเปรียบเทียบกับการทำงานของ สสส. ก็คือการสร้างเครือข่ายงดเหล้าขึ้นไปทั่วประเทศ เพื่อเป็นมดงานทำงานในพื้นที่ได้อย่างใกล้ชิด 3. ระดับการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ หรือรัฐวิสาหกิจชุมชน คือมีการดำเนินชีวิตตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงถึงขั้นมีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ เพื่อให้เกิดพลังในการขายสินค้า


"ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนมากในการนำเอาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่านมาปรับใช้ในการทำงานเลิกเหล้าคือ หมู่บ้านสัมมาชีพเลิกเหล้า สิ่งแวดล้อมดีวิถีพอเพียง แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งอยู่ที่หมู่บ้านหัวถนน ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ที่ใช้สัมมาชีพมาช่วยในการเลิกเหล้า" นายนิรุจน์ กล่าว


หมู่บ้านสัมมาชีพเลิกเหล้า สานปรัชญา'เศรษฐกิจพอเพียง' thaihealth


นายนิรุจน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า บ้านหัวถนนถือเป็นหมู่บ้านแรกๆ ที่ดำเนินโครงการลดเหล้าเข้าพรรษา โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งจากการรณรงค์ทำให้มีผู้ที่สามารถเลิกเหล้าไปตลอดชีวิตได้ จนเมื่อปี 2549 มีการหารือกันเรื่องเลิกเหล้า เลิกจน ก็มีการเชิญผู้ที่เลิกเหล้าตลอดชีวิตได้แล้วมาพูดคุยกันว่า นอกจากเลิกเหล้าได้แล้วจะช่วยให้เลิกจนด้วยได้อย่างไร  จึงน้อมนำเอาพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียง" ของพ่อหลวงมาปรับใช้ เกิดเป็นแนวคิด "สัมมาชีพ"  ขึ้น คือ การประกอบอาชีพด้วยความสุจริต ในปี 2550 ก็นำผู้ที่เลิกเหล้าตลอดชีพได้มาเข้ารับการอบรมในโรงเรียนแก้จน ให้รู้จักเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง การปลูกพืชสวนครัวไว้รับประทานเองภายในบ้าน เมื่อเหลือก็แจกจ่าย และนำไปจำหน่ายในราคาที่พอเพียง ซึ่งปรากฏว่าในหมู่บ้านมีคนที่ทำได้เป็นบุคคลต้นแบบ 5 คนด้วยกัน


ต่อมาจึงมีการขยายทำเป็น "หมู่บ้านสัมมาชีพเลิกเหล้า สิ่งแวดล้อมดีวิถีพอเพียง" เพื่อช่วยให้คนในชุมชนเลิกเหล้าได้ มีสัมมาชีพในการดำรงชีวิต และเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้แก่พื้นที่อื่น ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจที่จะเลิกเหล้า ถือว่าเป็นขั้นที่สองของเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว คือมีการสร้างเครือข่าย


จากการดำเนินการพบว่า ทำให้คนเลิกเหล้าได้จริง เพราะเป็นการทำความดีถวายแด่พระองค์ท่าน การมีพระองค์ในจิตใจช่วยเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวและความพยายามที่จะเลิกเหล้า เป็นแรงผลักดันอย่างมาก พืชผักที่ปลูกภายในสวนบ้านตัวเอง ก็นำมาใช้รับประทาน การนำไปให้ญาติ ให้เพื่อนฝูง เหลือก็นำไปออกขาย สามารถสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน


พระราชดำรัสของพระองค์ยังคงมีคุณค่าที่จะชี้นำให้คนไทยปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่ การตอบแทนพระคุณท่านที่ดีที่สุดคือการน้อมนำพระราชดำรัสของพระองค์ท่านมาประยุกต์ใช้ ซึ่งเรื่องใกล้ตัวที่สุดเรื่องหนึ่งคือการเลิกเหล้า เลิกอบายมุข หากสามารถทำได้ก็ถือเป็นการปฏิบัติตามแนวทางของพระองค์ด้วยเช่นกัน

Shares:
QR Code :
QR Code