หมู่บ้านพลังงานทดแทนเพราะใช้ชีวิตแบบพอเพียง

อบต. คลองน้ำไหล จ.กำแพงเพชร ตัวอย่างที่มีความโดดเด่นทางด้านพลังงานทดแทน ชาวบ้านยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง สุขภาพชีวิตดี ไม่มีหนี้สิน ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

คุณจีรวัฒน์ พรมจีน เป็นอีกคนหนึ่งที่มีความฝันไม่ต่างจากคนต่างจังหวัดที่อยากจะเข้าเมืองกรุง โดยหวังว่าจะไปตกทอง สร้างงาน สร้างอาชีพเพื่อจะได้มีรายได้ มีเงิน มีชีวิตที่ดีกว่าการทำนาทำไร่ในท้องถิ่น ไปหางานทำในกรุงเทพฯ ด้วยอาชีพรับเหมาก่อสร้าง หลังจากใช้ชีวิตอยู่หลายปี กลับมาทบวนกับภรรยาว่า ชีวิติที่ผ่านมามีแต่หนี้ ไม่มีเงินเก็บ แล้วอย่างนี้ควรจะเรียกว่าการสร้างเนื้อสร้างตัวหรือไม่

เมื่อได้ข้อสรุปก็เลยพากันกลับสู่บ้านเกิด บ้านบึงหล่ม ต.ตลองน้ำไหล อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นและพลิกผันให้ชีวิตของเขาและครอบครัวได้รู้จักกับคำว่าพอเพียงและความสุข ซึ่งเป็นพื้นฐานการทำให้มีสุขภาพชีวิตที่ดีอย่างแท้จริง

หลังกลับมาใช้ชีวิตอยู่กับการทำไร่มันสำปะหลังก็มองเห็นว่าที่ไร่หลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตมีแต่เศษวัสดุ อย่าง เหง้ามัน ต้นมัน ทิ้งเต็มไร่ หาประโยชน์ไม่ได้ ประกอบกับตนเองได้เป็นอาสาสมัครพลังงานชุมชน หรือ อส.พน ได้มีโอกาสไปอบรมเรียนรู้เรื่องพลังงาน โดยได้เรียนรู้เรื่องการทำเตาเผาถ่าน เตาย่างไร้ควัน เตาซูเปอร์อั้งโล่ ซึ่งเมื่อครั้งแรกที่ไปอบรม มีชาวบ้านจากชุมชนต่างๆ มาร่วมอบรมเยอะมาก พอวันที่สองที่สามและวันต่อๆ มาก็เริ่มหาย จนในที่สุดเหลือเพียงเขาคนเดียวที่อบรมจนสำเร็จ พร้อมกับมีเตาหนึ่งเตากลับมาใช้ที่บ้าน

ในครั้งนั้นหลายคนมองว่าเขากำลังบ้าหรือเปล่า เพราะไม่ว่าใครจะมีกิจกรรมที่ไหนเขาจะเอาเตาไปโชว์ ไปให้บริการ แรกๆ คนไม่สนใจ แต่เขาได้ทำให้เพื่อนบ้านให้คนในชุมชนได้เห็นเป็นตัวอย่าง เก็บเอาวัสดุเหลือใช้ทุกอย่างมาทำเป็นถ่าน เปลี่ยนจากการใช้แก๊สในการหุงต้มมาเป็นการใช้ถ่าน และใช้เตาอั้งโล่ ที่ทำขึ้นมาใช้ในการประกอบอาหาร เริ่มจากวัน เป็นเดือนและเป็นปี สิ่งที่ตามมาก็คือทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายค่าแก๊ส

จากที่เพื่อนบ้านหลายคนมองว่าสิ่งที่เขาทำแปลกๆ ก็เริ่มมีคนสนใจและเริ่มทำตาม ซึ่ง ธีรวัฒน์ เองก็อยากจะให้เพื่อนบ้านได้เห็นประโยชน์ในเรื่องนี้อยู่แล้ว จึงให้ความรู้และเริ่มสอนให้เพื่อนบ้านทำ จากกลุ่มเล็กๆ เพียงไม่กี่คน เริ่มขยับขยายเป็นกลุ่ม ใหญ่มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มอย่างเป็นทางการชื่อว่า กลุ่มพลังงานทดแทนบ้านบึงหล่ม ทุกคนในกลุ่มมีรายได้จากการผลิตเตาแล้วขาย มีเงินหมุนเวียนเพื่อใช้จ่าย ไม่มีหนี้สิน

การกลับมาสู่การใช้ชีวิตแบบพอเพียงครั้งนี้ ทำให้ธีรวัฒน์ รู้สึกภูมิใจมากที่เลือกกลับมาบ้านแทนการใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ทุกวันนี้เขาทำหน้าที่เดินสายให้ความรู้แก่ผู้อื่น เพราะในกลุ่มเชื่อว่าการได้ให้ความรู้แก่เพื่อนๆ กลุ่มอื่นๆ หมู่บ้านอื่นๆ เพื่อให้คนอื่นเอาไปทำตามนั้นจะเป็นการช่วยกันใช้พลังงานทดแทนได้แบบยั่งยืนที่สุด เพราะจากชุมชนหนึ่งต่อยอดไปอีกชุมชนหนึ่ง และอีกชุมชนหนึ่ง จนกลายเป็นหลายๆ ชุมชน

เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มของธีรวัฒน์ ได้รับเชิญจากสถานทูตเยอรมัน เพื่อไปแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งทำให้ธีรวัฒน์ได้เจอกับชาวเยอรมัน 2 คน ที่เป็นชาวบ้าน ซึ่งเป็นตัวแทนที่ได้รับเลือกจากรัฐบาลเยอรมันในเรื่องการทำพลังงานทดแทนแบบชุมชน ซึ่งทำให้เขารู้สึกว่าได้เดินมาถูกทางแล้วและดีใจเพราะชาวเยอรมันเองก็ทำในรูปแบบเดียวกับกลุ่มของเขา และชื่นชอบในสิ่งที่เขาทำด้วย จากเริ่มแรกก็ถูกมองว่าทำอะไรบ้าๆ แต่ล่าสุดก็เหมือนกับเขาได้รับการยอมรับและมีชาวบ้านและชุมชนอีกจำนวนมากย้อนกลับมาทำตาม และกลับไปใช้วิธีแบบดั้งเดิม

“ในกลุ่มของเราเองคิดว่า การให้เป็นการโอบเอื้อซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือกัน ดังนั้นการให้ความรู้แก่คนอื่นๆ เพื่อนำไปใช้ จึงถือเป็นการต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนได้ยั่งยืนที่สุด”

นี่เป็นเพียงหนึ่งกลุ่ม หรือหนึ่งตัวอย่างของชุมชนขององค์การบริหารส่วนตำบลคลองน้ำไหล ชาวบ้านที่นี่มีทั้งหลุมบ่อหมักก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ กลุ่มเตาเผาถ่าน 200 ลิตร ทำให้ชาวบ้านหลายชุมชนที่นี่สามารถพึ่งตนเองได้ โดยไม่มีหนี้สิน ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข จนกลายเป็นตำบลที่มีความโดดเด่นในเรื่องของพลังงานทดแทน

นายสมพร ใช้บางยาง ประธานคณะกรรมบริหารแผนคณะที่ 3 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงหมู่บ้านพลังงานทดแทน  ว่า สำหรับชุมชนที่นี่มีความโดดเด่นเรื่องพลังงานทดแทน ซึ่งมีหลายแหล่งเรียนรู้ ทั้งเตาเผาขยะ ก๊าซชีวภาพ และมีต่อเนื่องไปสู่เกษตรอินทรีย์ ซึ่งในเรื่องเหล่านี้ถูกโยงในเรื่องของการเกษตร ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านได้เรียนรู้มา เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ครอบครัว ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ นี่เป็นวัตกรรมของชาวบ้านที่สามารถเอามาเผยแพร่ได้ทุกครัวเรือน ถ้าเรารณรงค์พร้อมกันทั้งประเทศก็จะประหยัดพลังงานได้มากมาย

จากที่เคยใช้ไฟฟ้าเดือนละเกือบพันบาท เมื่อมาใช้องค์ความรู้เหล่านี้ ใช้เตาอั้งโล่เพื่อทำอาหาร ก็ลดพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 800 บาท ถ้าใช้กันทั้งประเทศจะช่วยลดพลังงานได้มหาศาลขนาดไหน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราอยากเผยแพร่ไปให้มากที่สุด

ขณะนี้จากการเริ่มจากกลุ่มเล็กๆ 4-5 คนกลายเป็น 50-60 คนไปแล้ว นายก อบต.เองก็บอกว่า จะทำให้ได้มากที่สุดเพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจแล้วหันมาใช้เพื่อให้เห็นถึงประโยชน์ที่เขาจะได้รับ ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนแล้วว่าขณะนี้แนวทางนี้เป็นสิ่งที่ชาวบ้านเริ่มจะเลือกกลับมาใช้ เพราะเขาได้ประโยชน์เต็มๆ ในส่วนของสุขภาพชีวิตความเป็นอยู่ สารเคมี เรื่องของอาหาร พลังงาน  สิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงกันทำให้ได้ในแง่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งในแง่ของคุณภาพ ชีวิตทั่วๆ ไป และในทางเศรษฐกิจด้วย ทำให้เขา ไม่ฟุ้งเฟ้อไปกับการเป็นทาสทุนนิยม

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Shares:
QR Code :
QR Code