หมั่นตรวจเช็กร่างกาย ควบคู่ดูแลถูกวิธีห่างไกลมะเร็ง

ที่มา : เดลินิวส์


หมั่นตรวจเช็กร่างกาย ควบคู่ดูแลถูกวิธีห่างไกลมะเร็ง thaihealth


แฟ้มภาพ


ยามเจ็บไข้ได้ป่วยหลายคนมักไปหาโรงหมอ ทั้งที่ความจริงตัวเองสามารถเป็น "หมอ" คนแรกได้ เพียงแต่หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย ควบคู่กับการดูแลอย่างถูกวิธี


จากสถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทย สถิติพบว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 พบผู้ป่วยใหม่ 1.7-1.8 แสนคนต่อปี มีผู้เสียชีวิตกว่า 1 แสนคนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี เพื่อรณรงค์และเสริมสร้างความตระหนัก "เชิงรับ" และ "เชิงรุก" ผ่านกิจกรรมรณรงค์ "วี แคน ไอ แคน" ในการป้องกันโรคมะเร็ง รวมถึงการดูแลรักษาร่างกายภายหลังเข้ารับการรักษา นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผอ.โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี ได้เผยแพร่ข้อมูลความรู้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ 


นพ.สมศักดิ์ เผยว่า ปัจจุบันมะเร็งพบมากที่สุดในเพศชาย 5 อันดับแรกคือ มะเร็งตับ, มะเร็งปอด, มะเร็งลำไส้ใหญ่, มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งถุงน้ำดี ส่วนผู้หญิง 5 อันดับแรกคือ มะเร็งเต้านม, มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งลำไส้ใหญ่, มะเร็งปอด และมะเร็งตับ แต่ละภูมิภาคในประเทศไทยมีระบาดวิทยาและการกระจายของโรคต่างกัน กล่าวคือ มะเร็งปอดพบบ่อยที่สุดในภาคเหนือ ด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือมะเร็งท่อน้ำดี ตับ แต่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องแต่ยังคงสูงกว่าภาคอื่น และทางโซนภาคตะวันออกมีการเฝ้าระวังเขตอุตสาหกรรมอีอีซี (EEC) ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดและมะเร็งผิวหนัง


สาเหตุการเกิดมะเร็งส่วนหนึ่งเชื่อว่าเกิดจากพันธุกรรม เช่น มะเร็งเต้านม หากเช็กย้อนประวัติครอบครัว พบว่าความเสี่ยงที่แม่ ป้า หรือน้าเป็นมะเร็งเต้านมมีความเสี่ยงเป็น 2 เท่าในรุ่นลูก ส่วนมะเร็งชนิดอื่นยังไม่มีข้อมูลทางพันธุกรรมมาก ดังนั้นควรตรวจคัดกรองมะเร็งระยะเริ่มต้น เริ่มง่าย ๆ จากการคลำเต้านมด้วยตัวเอง สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เพื่อตรวจหาสิ่งผิดปกติ หรือตรวจกับแพทย์


สำหรับมะเร็งปากมดลูก หากอายุเกิน 35 ปี แนะนำตรวจคัดกรองปีละ 1 ครั้ง พบว่ามะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่เกิดจากไวรัสเอชพีวี สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน "เอชพีวี" ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ขวบ (ที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์) โดยต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ภายในระยะเวลา 6 เดือน ด้วยวิวัฒนาการด้านการแพทย์มีข่าวดีว่าในปี พ.ศ. 2563 จะมีการตรวจแบบใหม่เรียกว่า "เอชพีวี เทสติ้ง" ซึ่งประสิทธิภาพดีกว่าตรวจแปปสเมียร์ เพราะครอบคลุมถึง 5 ปี หากใครระบบขับถ่ายผิดปกติ เช่น ถ่ายเหลวสลับกับท้องผูก สามารถตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ หากอายุ 35 ปีขึ้นไป เช็กประวัติครอบครัวมีใครเป็น แนะนำ ให้ส่องกล้องปีละครั้งเป็นอย่างน้อย


"ทุกคนสามารถเป็นหมอคนแรกแก่ตัวเองได้ หมั่นตรวจเช็กและสังเกตความผิดปกติของร่างกาย ส่วนตัวสามารถแนะนำคนอื่นได้ เพราะเคยเผชิญกับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบริเวณโพรงจมูกมาแล้ว โดยไม่ชะล่าใจ เมื่อสั่งน้ำมูกแล้วมีเลือดปนออกมา รีบไปตรวจกับแพทย์พบว่าเป็นระยะแรก เนื้อมะเร็งยังมีขนาดเล็ก หลังจากนั้นรับการรักษาด้วยเคมีบำบัด และฉายแสง ปัจจุบันหายขาดเป็นระยะเวลา 7 ปีแล้ว นอกจากนี้ยังตื่นเช้า เดินวันละ 1 ชั่วโมง เน้นกินผักและผลไม้ มื้อเย็นงดแป้ง ที่สำคัญคือไม่เครียด หากทุกคนเคร่งครัดมีวินัย จะลดปัจจัยเสี่ยงจากโรคมะเร็งได้ และยังห่างไกลจากโรคอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคความดัน โรคอ้วน เป็นต้น" นพ.สมศักดิ์เผยประสบการณ์ตรง


ด้านนพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ กล่าวว่า จากข้อมูลในภาคตะวันออก จ.ชลบุรี มีโรงงานตั้งอยู่ 3,000 โรง เท่ากับ จ.ระยอง ตามด้วย จ.ฉะเชิงเทรา 2,700 โรง จากสถิติมีคนไข้มะเร็งรายใหม่ปีละ 10,000 คน โดยอัตราการเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นทั้งในเพศชายและเพศหญิง รพ.มะเร็งชลบุรีดูแลคนไข้แบบครบวงจร ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย ผ่าตัด เคมีบำบัด ฉายแสง กินยาต้านฮอร์โมน และกายภาพบำบัด สิ่งหนึ่งที่เน้นหนักคือหลักโภชนาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เมื่อทราบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ร้อยละ 50 มักกินอาหารได้น้อย น้ำหนักตัวลดฮวบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการรักษา ขณะเดียวกันผลข้าง เคียงจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด บางรายคลื่นไส้อาเจียน ความอยากอาหารลดลง จึงจัดโครงการ "อาหารต้านมะเร็ง" เป็นทางเลือกให้ผู้ป่วยบริโภคอาหารได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งได้รับพลังงานไม่ต่ำกว่า 1,800 แคลอรีต่อวัน


"เมนูแนะนำมีทั้งสลัดทูน่าใส่โยเกิร์ต พลังงาน 300 แคลอรี ข้าวผัดธัญพืชสำหรับคนที่อยากอาหารหนักท้อง พลังงาน 330 แคลอรี หรือกลุ่มชอบกินอาหารรสจัดแนะนำกินแกงเลียงกุ้งสด ข้อดีคือผักเยอะและย่อยง่าย มีพลังงาน 130 แคลอรี คนไข้มะเร็งช่องคอหลังจากรับการฉายแสง ต่อมน้ำลายจะแห้ง ต่อมรับรสไม่ดีกินอะไรไม่ค่อยได้ กว่าต่อมน้ำลายจะฟื้นตัวใช้ระยะเวลาถึง 3 เดือน กลุ่มนี้อาจเป็นข้าวต้มหรือแกงจืด พลังงาน 230 แคลอรี โดยเฉพาะน้ำดื่มแนะนำให้ต้มสุกเสียก่อน" ข้อแนะนำดี ๆ จาก ผอ.รพ.มะเร็งชลบุรี


 

Shares:
QR Code :
QR Code