“หมอลำใจเพชร” เลิกเหล้าเพื่อครอบครัว
ที่มา : ไทยโพสต์
ภาพโดย สสส.
สำหรับวิถีชนบทโดยเฉพาะภาคอีสานคงต้องยอมรับว่า 'เหล้า' คือ ตัวชูโรงในทุกงานบุญประเพรีหรือเป็นเสมือนสิ่งยึดโยงให้ผู้คนต่างบ้านต่างคุ้มเข้ามาร่วมกลุ่มทำกิจกรรมกันสนิทใจ กลายเป็นว่างานไหนไม่มีเหล้า คนก็มาร่วมน้อย ทั้งยังอาจถูกนินทาไปยิ่งเป็นศิลปินหมอลำด้วยแล้ว หากไม่ได้ดื่มถือว่าไม่ม่วนยิ่งไม่สามารถขับกล่อมสร้างความเพลิดเพลินให้ผู้มางานได้อย่างถึงรสชาติ
วันชัย จันร่องคำ ศิลปินหมอลำ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นคนหนึ่งที่เคยคิดอย่างนั้น จากที่เคยดื่มเพื่อสร้างความคึกคักในการทำงานหรือสังสรรค์กับเพื่อนบ้าง กลับยิ่งถลำลึกลงไปจนกลายเป็นต้องดื่มเหล้าทุกวัน ที่ร้ายไปกว่านั้นคือเขาดื่มจนภรรยาต้องพาครอบครัวย้ายหนีไป จนในที่สุดเขาจึงคิดได้และเลือกที่จะกอบกู้ความสัมพันธ์ที่สูญเสียไปกลับมา เขาตัดสินใจเลิกแบบหักดิบตั้งแต่นั้นในทันที
"1-2 วันแรก ทรมาน จากต้องนอนอย่างเดียวกินอะไรไม่ได้ วันที่สามค่อยดีขึ้น จากนั้นมาพอคิดว่าถ้าไม่ดื่มเหล้าแล้วจะเอาเวลาไปทำอะไร ก็ทำโน่นทำนี่ไปเรื่อย เห็นอะไรไม่ได้ บ้านสกปรกไม่เป็นระเบียบจัดหมด ใช้เวลาทำเรื่องอื่นไป พอเลิกได้จริง หลายอย่างกลับดีขึ้นกว่าแต่ก่อน สติกลับคืนมา"
วันชัย ยังกล่าวอีกว่า สังคมชนบทอีสานกับการดื่มเป็นของคู่กันเป็นเรื่องจริง แต่จากการที่มีหลายหน่วยงานลงมาสร้างการรณรงค์ในพื้นที่ก็เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้น "มันเปลี่ยนไปนะครับ เมื่อมีการรณรงค์มากขึ้น ที่บ้านนักดื่มหน้าใหม่ลดลง คือมีบ้างแต่น้อยกว่าสมัยก่อน ก็ยังมีคนรุ่นผมและรุ่นก่อนหน้าที่ยังดื่มมากอยู่ การมีนโยบายลงมามันมีผลมาก"
สำหรับคนที่อยากเลิกดื่ม วันชัย มองว่า ต้องหาคำว่า "เพื่อ" ให้ได้ก่อน เช่นเดียวกับตัวที่เริ่มจากจุดนี้ "จะ ลด ละ เลิก ดื่ม เพื่ออะไร สำหรับผมคือเพื่อครอบครัว บางคนอาจเพื่อพ่อแม่ หรือจะเพื่อตัวเองก็ได้ แต่ต้องมองหาที่ยึดเกาะ จากการทำเพื่อสิ่งนั้นตอนนี้ครอบครัวผมได้กลับมาอยู่พรัอมหน้ากันเหมือนเดิมแล้ว การลำในฐานะศิลปินกลายเป็นที่ยอมรับมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นนักดนตรีขี้เมา ผู้จ้างมองเห็นความรับผิดชอบในงาน เราดูเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นเขาก็มาจ้าง ย้อนกลับไปเมื่อก่อนนี้หากจะรับงานต้องมีผู้ใหญ่เป็นคนกลางออกหน้าเพราะเขาไม่เชื่อถือเรา"
ประสบการณ์และความสำเร็จของวันชัย ทำให้เขาได้กลายเป็นหนึ่งใน 'คนหัวใจเพชร' ในโครงการของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ในการร่วมขับเคลื่อน 'ชุมชนคนสู้เหล้า' ซึ่งจะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการรณรงค์เลิกเหล้าเข้าพรรษา ปี 2562 นี้
ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า การสร้างชุมชนคนสู้เหล็กก็คือการกระตุ้นให้ชาวบ้านชักชวนคนในชุมชนงดเหล้าอย่างทั่วถึงผ่านการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้เลิกดื่ม สร้างค่านิยมใหม่ให้เด็ก และที่สำคัญคือการสร้างกำลังใจอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผลการทำงานในระดับชุมชนในปี 2561 ทำให้เกิดเครือข่าย "นายอำเภอนักรณรงค์ชวนงดเหล้า" 157 คน ครอบคลุม 69 จังหวัดส่งผลให้การทำงานในชุมชนเป็นรูปธรรมมากขึ้น ได้แก่ 1.มีการจัดงานศพและงานประเพณีปลอดเหล้า 430 แห่ง 2.มีชุมชนร่วมรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา 1,546 แห่ง 3.มีคนลงนามบวชใจงดเหล้าเข้าพรรษา 24,376 คน และ 4.มีการมอบประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติคนงดเหล้าครบพรรษาคน 19,501 คนจนกลายเป็นคนหัวใจหิน และที่เลิกดื่มต่อเนื่อง 3 ปีขึ้นไป 3,222 คน กลายเป็นคนหัวใจเพชร
"การรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาในชุมชนคนสู้เหล้าปี 2562 กำลังสำคัญคือ คนหัวใจเพชร หรือคนที่เคยมีประสบการณ์การดื่มเหล้าอย่างโชกโชนแต่เลิกเหล้ามาแล้วต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี เวลานี้มีอยู่กว่า 3,000 คน กระจายอยู่ใน 574 ชุมชนทั่วประเทศ กลุ่มนี้จะคอยเป็นเพื่อนช่วยเพื่อน ให้กำลังใจเชือมโยงข้อมูล รวมทั้งประสานความช่วยเหลือต่าง ๆ ระหว่าง รพ.สต.แกนนำชุมชน และผู้ปฏิญาณตนบวชใจงดเหล้าเข้าพรรษาในปีนี้ เพื่อให้สามารถงดเหล้าได้ครบพรรษา 3 เดือน เป็นคนหัวใจหิน และสนับสนุนให้คนหัวใจหิน งดดื่มต่อเนื่องตลอดชีวิต หากเขาต้องการ"
สำหรับ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เมื่อมีการนำเอาวัฒนธรรมและประเพณีทางศาสนาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการเชิญชวนให้เกิดการลด ละ เลิก ปรากฎว่า ทำให้เห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น เช่น อุบัติเหตุทางถนนลดถนนลดลงอย่างชัดเจนในช่วงเข้าพรรษา และค่าใช้จ่ายครัวเรือก็ลดลงตามมาด้วย กิจกรรมรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาจึงถือเป็นความสำเร็จและกลไกสำคัญที่ทำให้สามารถลดนักดื่มหน้าเดิมและหยุดการเพิ่มขึ้นของนักดื่มหน้าใหม่ได้ และหากสามารถทำให้กิจกรรมนี้เข้มแข็งขึ้นอีกโดยเฉพาะในระดับชุมชน จะทำให้ปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทยคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่านี้ในอนาคต