‘หมอลำหุ่นกระติ๊บ’ ศิลปะฟื้นวัฒนธรรมอีสาน
ที่มา : ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์แนวหน้า
เสียงแคนขั้นเทพที่เป่าโดยครูสมบัติ สิมหล้า ดังกระหึ่มไปทั่วบริเวณโรงละครหมอลำหุ่นเพื่อชุมชน โฮม ทองศรี อุปถัมภ์ ปลุกบรรยากาศการชมการแสดงหมอลำหุ่นคณะเด็กเทวดาให้ดูคึกคักยิ่งขึ้น บวกกับการถ่ายทอดเรื่องราวนิทานพื้นบ้านอีสาน เรื่องสังข์สินไซ ที่น้องๆ คณะเด็กเทวดาจากบ้านหนองโนใต้ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม ภาพของหุ่นเชิดหลากหลายตัวที่ประยุกต์นำกระติ๊บข้าวเหนียววัสดุพื้นบ้านมาประดิษฐ์ แต่งตัวด้วยชุดผ้าขาวม้า ผ้าพื้นเมือง อยู่เต็มฉากด้วยท่วงท่าต่างๆ เป็นประจักษ์พยานให้เห็นถึงพื้นที่ศิลปะกลางคันนาเกิดขึ้นแล้วอย่างแท้จริง
โดยมีเด็กๆ ทั้งชาย-หญิง สืบทอดภายใต้การดูแลของ "ครูเซียง-ปรีชา การุณ" หัวหน้าคณะหมอลำหุ่นเด็กเทวดา ที่ได้นำเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานอย่างหมอลำมาประยุกต์กับศิลปะอย่างมีชีวิตชีวา ที่สำคัญคือ ไม่เพียงสร้างมนต์เสน่ห์เมืองศิลปะ เป็นหมุดหมายการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์แห่งใหม่มหาสารคาม ยังตระเวนเล่นหุ่นกระติ๊บ ทั่วประเทศ พร้อมสาธิตการประดิษฐ์หุ่นกระติ๊บ หมอลำที่กรุงเทพฯ คณะศิลปินตัวน้อยก็เพิ่งแสดงเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ผลิตภัณฑ์หุ่นกระติ๊บจะเป็นชายหญิง 400-600 บาท สนนราคานี้ รวมทั้งเครื่องดนตรีของคนอีสาน แคน โหวด หรือจะเป็นชุดชาวนาก็มีให้ซื้อหาเป็นของที่ระลึก
ครูเซียง-ปรีชา เล่าอย่างภูมิใจว่า จุดเริ่มต้นของหมอลำหุ่นกระติ๊บข้าวมาจากความตั้งใจใช้กระบวนการศิลปะและการละครเพื่อชุมชน อ.นาดูน ปี 2551 ได้รับงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งตนเป็นนักการละคร และเคยทำหุ่นเชิดจากเศษผ้าปะติด ตอนนั้นเด็กแสดงเรื่ององคุลิมาล แต่เด็กขาดความชำนาญในการเล่าเรื่องและแสดงออก เมื่อถามถึงการแสดงที่พวกเขาคุ้นเคย ได้รับคำตอบคือ หมอลำ นำมาสู่การติดต่อพ่อครูในชุมชนมาสอนร้องหมอลำ เช่น พ่อทองจันทร์ ปลายสวน หมอแคนสมบัติ สิมหล้า ขณะที่หุ่นก็มีการพัฒนาได้พบตายายคู่หนึ่งนั่งสานตะกร้าและเหลือบไปเห็นกระติ๊บข้าวเหนียวที่วางซ้อนกันอยู่ ใบเล็กซ้อนอยู่บนใบใหญ่ รู้สึกว่ามีรูปร่างคล้ายกับตัวคน จึงลองประดิษฐ์จากกระติ๊บข้าว และหาไม้ไผ่ ผ้าขาวม้าจากวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น เด็กทำหุ่นและลองเชิด เชิญวิทยากรที่ชำนาญเชิดหุ่นมาสอน เป็นจุดเริ่มต้นของหุ่นในปัจจุบัน
"กระบวนการเหล่านี้เสริมทักษะให้เด็กในชุมชน พวกเขาได้สืบทอดศิลปะการแสดงหมอลำ ส่วนเรื่องราวที่นำมาเล่นก็สอดแทรกคำสอน คติธรรม จริยธรรม ศิลปินตัวน้อยได้ซึมซับและกล่อมเกลาจิตใจไปในตัว เมื่อประสบการณ์มากขึ้น คณะเด็กเทวดาได้ร่วมแสดงเทศกาลหุ่นอาเซียนมีเสียงชื่นชม เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง มีการรวมตัวกันทำหลักสูตรท้องถิ่น โดยครูและชาวบ้านมีส่วนร่วม ต่อมาคิดทำโรงละครก็เล่นเปิดหมวกในตลาดเพื่อหาทุนสร้าง ทุนแรกเริ่มมี 7,000 บาท ต้องเปิดหมวกกว่า 5 ครั้ง ถึงได้เงินพอสร้างโรงละคร ที่ดินก็ได้ยายคนหนึ่งมอบให้ เปิดแสดงเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เป็นพื้นที่ซ้อมละคร เรียนรู้เชิดหุ่นและเปิดแสดง รวมถึงนิทรรศการแสดงผลงาน" ครูเซียงกล่าว
สำหรับเรื่องราวที่นำมาเล่นละคร หัวหน้าคณะบอกว่า เป็นการเล่นที่มีในท้องถิ่น ตำนาน นิทาน สังข์สินไซ วรรณกรรมอีสานสองฝั่งโขง หรือแม้แต่เรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องแรกที่ทำตามรอยพระสูตรองคุลิมาล ทำตัวละครเป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงเยาวชน ปัจจุบันสมาชิกคณะหมอลำหุ่นเด็กเทวดามี 3 กลุ่ม คือ ชั้นประถม มัธยม และมหาวิทยาลัย รวมแล้วกว่า 30 คน
การขับเคลื่อนโรงละครและคณะหมอลำหุ่นในอนาคต ครูเซียงกล่าวในท้ายว่า ต้องปั้นเด็กเพื่อให้เวทีมีคนเชิดต่อเนื่อง ชุมชนต้องการให้จัดรอบการแสดงวันเสาร์-อาทิตย์ด้วย ก็อยู่ในช่วงวางแผน ปีนี้พื้นที่นาข้างๆ โรงละครจัดเทศกาลหุ่นฟางยักษ์ เป็นประติมากรรมหุ่นฟางรูปสัตว์ต่างๆ เช่น พญานาค วานร กระทิง สิงโต ยักษ์ ปลาหมึก เป็นงานศิลปะที่ชาวหนองโนใต้ช่วยสร้างสรรค์ขึ้นให้นักท่องเที่ยวเข้าชมด้วย เพิ่มรายได้ให้ชุมชน จากกระบวนการสร้างสรรค์ทั้งหมดนี้ช่วยรื้อฟื้นการร้องหมอ การทอผ้า ตลอดจนงานจักสาน เพราะโรงละครเปิดพื้นที่ให้ปราชญ์ชาวบ้านผู้เฒ่าผู้แก่ถ่ายทอดภูมิปัญญาวัฒนธรรมให้ลูกหลาน