หมอพื้นบ้าน สืบสานภูมิปัญญาแพทย์ท้องถิ่น
หมอพื้นบ้าน สืบสานภูมิปัญญาแพทย์ท้องถิ่น
“เรากำลังสื่อสารเรื่องนี้ออกไป ความเจ็บป่วยบางอย่างที่แพทย์แผนปัจจุบันอาจมองไม่เห็น เช่น ไข้หมากไม้ งูสวัด โรคกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะไข้หมากไม้ ชุมชนรู้จักโรคนี้ดี และรู้ว่าถ้าป่วยแล้วไม่มีใครรักษาได้นอกจากหมอพื้นบ้าน รองลงมา คือ งูสวัด ชุมชนให้ความสำคัญในการรักษากับหมอพื้นบ้านในแง่การรักษาเสริม เพราะ ไปหาหมอแผนปัจจุบันแล้วไม่หายขาด สำหรับอาการอืดแน่นท้องหรือโรคกระเพาะอาหาร ชุมชนให้ความสำคัญกับหมอพื้นบ้านในสัดส่วน 50:50 เมื่อเทียบกับแผนปัจจุบัน นอกจากนี้ก็มีอาการกระดูกหักที่ชุมชนยังให้ความสำคัญในการรักษากับหมอพื้นบ้าน” สมชาย ชินวาณิชย์เจริญ เภสัชกรชำนาญการเจ้าหน้าที่งานการแพทย์แผนไทย สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดอุดรธานี ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนในแบบฉบับการแพทย์พื้นบ้านอุดรธานี กล่าว
การทำงานนี้ได้รับพลังความร่วมมืออย่างดี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าความสำเร็จเกิดจาก ชมรมหมอพื้นบ้านสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นอำเภอบ้านดุง จ.อุดรธานี ที่มีเครือข่ายหมออยู่มากกว่า150 คนโดยทุกคนมุ่งมั่นเป้าหมายปลายทางให้เกิดระบบสุขภาพของท้องถิ่นเป็นสำคัญ ซึ่งมีหมอพื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นที่พึ่งพาอาศัยกันในชุมชน
บทเรียนความสำเร็จที่พร้อมแบ่งปัน ให้พื้นที่อื่นได้หันกลับมาฟื้นฟูและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นอันอุดมของเรา เริ่มจากระยะแรกเน้น “สร้างกระแสการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ” ด้วยกิจกรรม “ปั่นจักรยาน สานพลัง ฟังปราชญ์ชาวบ้าน สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ” การจัดเวทีสัญจร “เชิดชูหมอพื้นบ้านสานสร้างระบบสุขภาพชุมชน” และเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์หมอพื้นบ้านในระดับจังหวัด และที่สำคัญคือให้หมอพื้นบ้านบันทึกข้อมูลการรักษาเก็บไว้เพื่อเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานต่อไป ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ก็จะเป็นการศึกษาดูงาน สำรวจสมุนไพร จัดประชุม ประชาคมเพื่อสำรวจปัญหาชุมชนและนำเสนอผลงาน
จัดลำดับอย่างนักวิชาการหรือสังเคราะห์เป็นความรู้ 5 ขั้น ได้ว่า
1.รวบรวมความรู้และหมอ จัดระบบ และส่งเสริมการบันทึกการรักษาของหมอ(บันทึกประวัติคนไข้) โดยมีคำขวัญว่า หมอดี มีบันทึก มีการสืบทอด
2.มีการเชื่อมส่งต่อข้อมูล ความถึงแลกเปลี่ยนความรู้ ผลการรักษา รวมถึงการติดตามผลหรือประเมินผลการดูแลสุขภาพ เช่น การใช้ไปรษณีย์บัตรตอบกลับในการติดตามผล
3.เดินสายสร้างศรัทธาให้ชาวบ้านยอมรับ เมื่อป่วยไข้ ใจก็คิดถึงหมอพื้นบ้านและนำไปสู่การใช้ประโยชน์หรือบำบัดรักษาด้วยภูมิปัญญา ทุกๆ เดือนจะมีการลงพื้นที่หรือคาราวานบริการสุขภาพให้ชาวบ้านในตำบลต่างๆ
4.ชุมชนรวมใจเต็มร้อย เห็นความสำคัญและเชื่อมโยงทรัพยากรพืชพันธุ์ ความรู้ และหมอพื้นบ้าน เพื่อใช้ประโยชน์ด้วยระบบสุขภาพพื้นบ้านได้
5.เกิดการบริการสุขภาพทั้งป้องกันและรักษาด้วยภูมิปัญญาฯ ที่มีรูปแบบหลากหลาย เช่น บ้านหมอ ศูนย์สุขภาพ และทำงานร่วมมือกับรพ.สต.
“สุดท้ายแล้วหมอในเครือข่ายของเราไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรือมาที่ศูนย์ก็ต้องมีกิจกรรมที่ต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” นี่เป็นบทเรียนรู้จากอุดรธานีสู่รากฐานสร้างความยั่งยืนในชุมชนต่อไป