“หมอประเวศ”แนะใช้ปัญญาแก้ปัญหา
ให้สังคมนำการเมืองปฏิรูปประเทศไทย
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่อิมแพ็คเมืองทองธานี มูลนิธิพัฒนาไท โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดเวทีระดมความเห็นเพื่อหาแนวทางปฏิรูปประเทศไทย โดยมีกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการ ภาคเอกชน องค์กรปกครองท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐ เข้าร่วมกว่า 500 คน ซึ่ง นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ได้กล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง “การปฏิรูปประเทศไทย”ในงานดังกล่าวว่า
“บ้านเมืองวิกฤติสุดๆ ก็เป็นโอกาสสุดๆ ที่เราจะก้าวไปข้างหน้าอย่างก้าวกระโดด ผมขอยกตัวอย่างเมื่อประเทศญี่ปุ่นแพ้สงครามถูกระเบิดคนตายจำนวนมาก คนญี่ปุ่นสูญเสียทุกอย่าง เศรษฐกิจพังทลาย จักรพรรดิของญี่ปุ่นต้องลงนามยอม คนญี่ปุ่นรู้สึกสูญสลายและท้อแท้ แต่มีศาสตราจารย์ท่านหนึ่งลุกขึ้นพูดแล้วบอกว่า ญี่ปุ่นสูญเสียทุกอย่างจริงแต่ยังเหลือคนญี่ปุ่น เราจะฟื้นตัวได้ก็ด้วยพี่น้องของเรา ประเทศไทยก็เช่นกันราจะออกจากวิกฤติได้ก็ด้วยคนไทย ขอให้ท่านทั้งหลายเห็นว่านี่เป็นโอกาส เพราะญี่ปุ่นแพ้สงครามแต่เขาก็เจริญอย่างรวดเร็วกว่าประเทศที่ชนะสงคราม เพราะเขาแพ้สงครามเขาจึงได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดด หากดูประวัติศาสตร์จะเห็นว่าสหรัฐอเมริกาก็แพ้สงคราม คนตายจำนวนมากแต่เขาก็พ้นวิกฤติ แม้วันนี้คนไทยจะรู้สึกสูญเสีย แต่ก็ไม่ได้สูญเสียอย่างที่ประเทศอื่นประสบ เราะประเทศไทยไม่ได้มีเรื่องความรุนแรง
นอกจากนี้คนไทยอยู่ในโครงสร้างที่ซับซ้อน ทำให้เราขาดความคิดเชิงโครงสร้าง เมื่อมีอะไรก็จะด่าทอกัน ซึ่งในความซับซ้อนของโครงสร้าง อำนาจช่วยแก้ปัญหาไม่ได้ เมื่อครั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นนายกฯ ได้คุยกันเป็นการส่วนตัวว่า ท่านนายกฯ อย่าใช้อำนาจหนักมันจะแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะหากใช้อำนาจหนักจะเกิดการแทรกซ้อนสิ่งที่แนะนำไปคือ ต้องเปิดพื้นที่สังคมอย่างกว่างขวาง ซึ่งเป็นแนวทางสำหรับการแก้ปัญหาหลักที่ยากและซับซ้อนให้ได้ผล และเราต้องทำความเข้าใจการแก้ปัญหาตรงนี้ ไม่เช่นนั้นเราจะใช้วิธีเดิมๆ ในการแก้ปัญหา และจะแก้ปัญหาไม่ได้
การแก้ปัญหาเรื่องยากๆ ต้องให้สังคมนำ และการเมืองตาม เพราะการมีเมืองศัตรูเยอะ ฝ่ายค้านก็จะค้าน ฝ่ายเชียร์ก็โดดตาม เมื่อสังคมนำก็จะเหมือนหัวรถจักร นักการเมืองตามจะแก้ปัญหาง่ายกว่าเยอะ
หากดูการเคลื่อนของอำนาจ power ship ที่มีอำนาจรัฐ อำนาจเงิน และอำนาจสังคม สังคมจะไม่ลงตัวหากอำนาจเงินเป็นใหญ่ สิ่งที่เราอยากเห็นคืออำนาจทางสังคม ใช้คำว่า สังคมานุภาพ คือ อำนาจทางสังคมเป็นใหญ่ เชื่อมกับอำนาจรัฐและอำนาจเงิน เมื่ออำนาจเชื่อมโยงลงตัวสมานกันไปทั้งหมด ก็จะเกิดการพัฒนาที่ดี มีความเป็นธรรมเชื่อมโยงกันไป จุดใหญ่เราต้องเข้าใจตรงนี้ ว่าสังคมนำ การเมืองตาม จะเป็นที่มาของสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา เรื่องต่างๆ ที่ยาก ภูเขาเขยื้อนไม่ได้ แต่หากใช้สามเหลี่ยมที่จะเขยื้อนภูเขาจะมีพลังมาก คือ พลังทางปัญญา พลังสังคม และพลังอำนาจรัฐ เข้ามาบรรจบกัน เมื่อเราค้นพบตรงนี้ เราได้ทำเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อปี 2540 ซึ่งฝรั่งบอกทำยากมาก เราพยายามทำและค้นพบพลัง 3 ส่วนเชื่อมโยงกัน แต่หากใช้เพียงแค่ 2 ส่วน ขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปก็จะไม่สำเร็จ
ขณะนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีเพราะวิกฤติทำให้คนตื่นตัวกันเยอะ มีกลุ่มต่างๆ ร่วมประชุมกัน และออกความเห็น ซึ่งต้องทำให้เกิดกระแสว่าให้มีการรวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ ในทุกพื้นที่ ทุกองค์กรในทุกเรื่อง สังคมจะเปลี่ยนจากสังคมเชิงดิ่งเป็นสังคมทางราบ ความสำเร็จต่างๆ จะตามมา สังคมต้องสนับสนุนให้เกิดการเคลื่อนไหวเช่นนี้ขึ้น และต้องเกิดอย่างอิสระไม่ขึ้นกับใคร มีความหลากหลายเต็มไปหมดในการเคลื่อนไหว ส่วนไหนอยากเสนอรัฐก็เสนอกันไป เท่าที่จะทำได้ เป็นการเคลื่อนไหวทุกส่วน
สิ่งที่ควรทำคือควรมีการรับรู้ว่าใครคิดอะไร กลุ่มไหนคิดอะไร แล้วเอามาสังเคราะห์ รวมกันเป็นเรื่องใหญ่ เอาเรื่องต่างๆ ที่แต่ละกลุ่มคิด มารวมกันเป็นเรื่องใหญ่ กระทั่งเกิดเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมของสังคมทั้งหมด จะเป็นเลเซอร์ทางสังคมไม่มีอะไรยึดติด เป็นเจตนารมณ์ทางสังคม เช่น อยากแก้ไขความเหลื่อมล้ำ ซึ่งฝ่ายการเมืองต้องทำเพราะเป็นเจตนารมณ์และเป็นพลังทางสังคม ความจริงแล้วสิ่งนี้คือประชาธิปไตยอย่างมีคุณภาพ เป็นพลังทางปัญญาที่ต้องสังเคราะห์ออกไปสู่การปฏิบัติได้ แต่ที่ผ่านมาเรามีหน่วยงานต่างๆ มากมาย แต่ขาดการสังเคราะห์นโยบาย
นโยบายสาธารณะเป็นเรื่องที่กระทบทุกคน หากให้คนที่มีความรู้น้อย สุจริตน้อยมาทำเราก็จะไม่ได้อะไร ซึ่งเราต้องโทษมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้ให้ความรู้ จึงต้องปฏิรูปมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยขณะนี้อยู่นอกสังคมไม่รู้ร้อนรู้หนาว มหาวิทยาลัยต้องมาสัมผัสความทุกข์ยากทางสังคม และเป็นพลังทางปัญญา แต่บังเอิญมหาวิทยาลัยไปอยู่นอกระบบสังคม และเป็นการศึกษาที่ผิด มีผู้เตือนว่าการศึกษาแบบนี้จะทำให้เราลืมรากเหง้าของตนเอง เพราะเอาวิชาเป็นตัวตั้ง ซึ่งการพัฒนาแบบนี้ก็เหมือนการตัดรากต้นไม้ เราอ่อนแอจนพังลงเพราะเราพัฒนาแบบขาดรากฐาน เราต้องกลับฐานเจดีย์ของสังคม คือกลับไปสู่วัฒนธรรมและรากเหง้าของเราเอง
นักวิชาการต้องมาช่วยสังเคราะห์ ผลักดันให้พลังในสังคมบรรจบกันเป็นประชาธิปไตยทางตรง ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้ง เพราะนั่นเป็นประชาธิปไตยตัวแทนซึ่งเก่ามาก แต่ปัจจุบันประชาชนมีความรู้ข้อมูลข่าวสาร อยากมีส่วนโดยตรง เรียกว่า direct democracy ผู้มาอยู่ในอำนาจรัฐ คือตัวแทน แต่ภาคส่วนต่างๆ ต้องเคลื่อนไหวทางปัญญาแล้วผลักดันผ่านตัวแทน เป็นประชาธิปไตย 2 แบบที่มาบรรจบกัน
อย่างไรก็ตาม เรามักพูดกันว่า ต้องรอให้นักการเมืองบริสุทธิ์ก่อนแล้วบ้านเมืองจะดีขึ้น ซึ่งไม่จริงเพราะนักการเมืองไม่เคยบริสุทธิ์ หรือนักการเมืองบริสุทธิ์ก็แก้ปัญหาไม่ได้ แต่ต้องกระจายอำนาจรัฐ เพราะรัฐมีทรัพยากรอยู่ในมือ ให้สังคมเคลื่อนไหวอย่างอิสระเพื่อกำหนดเป็นนโยบายชัดเจน เมื่อสังคมเชื่อมโยงกันภูเขาก็จะเขยื้อนเรื่องยากๆ ก็จะแก้ไขปัญหาได้
ปัญหาของคนไทยคือ เรามองเชิงลบกันมากเกิน ทำให้อ่อนเพลียเพราะใช้สมองส่วนหลังมากไป สมองส่วนหน้าเป็นสมองมนุษย์เรื่องน้ำใจ สติปัญญา ประเทศไทยต้องเปลี่ยนจากหลังมาเป็นหน้า ย้ายสมองส่วนหลังมาเป็นส่วนหน้า ปัญหาของเราไม่ได้ยากกว่าที่ประเทศอื่นประสบมา แต่คนไทยมองในแง่ลบมากไป เราต้องคิดว่าเราแก้ปัญหาได้ด้วยคนไทยด้วยกันเองแล้วเราก็จะแก้ปัญหาได้”
ที่มา : Teamcontent www.thaihealth.or.th
Update:17-06-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่