หมอกฤษดาแนะแก้ปัญหาเยาวชน ครอบครัว

เด็กดูทีวี เล่นเกม 1 วัน ถึง 6 ชม.

 

หมอกฤษดาแนะแก้ปัญหาเยาวชน ครอบครัว

          ได้เวลารร.ต้องบุคลากรพันธุ์ใหม่

 

          ผลวิจัยจากศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพล) สำรวจเรื่อง สุดยอดความคิดสร้างสรรค์ในสายตาเยาวชน โดยเก็บข้อมูลจากเยาวชนอายุ 15-25 ปีในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,606 คนเมื่อต้นเดือนก.ย.ที่ผ่านมา พบว่าหน่วยงาน องค์กรไทยที่มีผลงานสร้างสรรค์โดนใจมากที่สุด 3 อันดับ อันดับแรกคือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร้อยละ 7.2 รองลงมาเป็นมูลนิธิปวีณา หงสกุล ร้อยละ 2.9 เครือเจริญโภคภัณฑ์ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีคะแนนเท่ากัน ร้อยละ 2.8

 

          ในโอกาสที่ผู้จัดการสสส.คนเก่านพ.ศุภกร บัวสาย จะหมดวาระการทำงานในเดือนก.พ.ปีหน้าระยะเวลาจากนี้ไป ว่าที่ผู้จัดการสสส.คนใหม่ นพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เดินเครื่องสานต่องานเดิมและวางแผนการทำงานในระยะยาวของสสส.ไว้ล่วงหน้าแล้ว

 

          นพ.กฤษดา ออกตัวก่อนว่า จริง ๆ แล้วบทบาทของ  ผู้จัดการ สสส. คือผู้เชื่อมต่อระหว่างคณะกรรมการสสส. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยแปลงแนวคิดของคณะกรรมการออกมาให้เป็นรูปธรรมให้ได้ ไม่ได้มีอำนาจเพียงแค่การอนุมัติงบประมาณของสสส.ทั้งหมด ซึ่งการใช้เงินมีการแบ่งระดับชั้นภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารด้วยกัน 7 คณะ ที่ผ่านมาการทำงานในเชิงประเด็นของสสส.ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เหล้า บุหรี่ การออกกำลังกาย อุบัติเหตุ สสส.ภายใต้การบริหารของนพ.ศุภกร ได้ทำ  ไว้อย่างดีมีผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นรูปธรรมวัดได้

 

          สำหรับแนวนโยบายการทำงานของ นพ.กฤษดา บอกว่าอันดับแรกต้องสร้างความเชื่อมั่นภายในองค์กรของสสส.ด้วยกันก่อน และเน้นการทำงานร่วมกับภาคีและสร้างกลไกในการทำงานให้มากขึ้น

 

          งานที่สนใจมากคือเรื่องเด็กเยาวชน และครอบครัว งานด้านนี้จะต้องทำด้านบวก เราจะไม่ทำงานในเชิงที่ว่าออกกฎห้ามเด็กท้อง ออกกฎไม่ให้เด็กเล่นเกม แต่จะผลักดันให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ ซึ่งจากงานวิจัยของอาจารย์อมรวิทย์ ออกมามีข้อมูลว่าในหนึ่งวัน 6 ชม. เด็กหมดไปกับดูทีวี เล่นอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์ เด็กไทยใช้เวลาไปกับสิ่งเหล่านี้ ขณะเดียวกันก็มีเสียงสะท้อนจากเด็กออกมาว่าเขาไม่มีที่สำหรับเขา

 

          วิธีหนึ่งที่จะดึงกลุ่มเด็กออกมาจากสิ่งดังกล่าว นพ.กฤษดาบอกว่าสสส.ต้องเร่งส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์มากขึ้น แย่งเวลาดังกล่าวของเด็กมาสู่พื้นที่สร้างสรรค์ พร้อมกับสนับสนุนการ  สร้างสัมพันธ์ในครอบครัวโดยสสส.จะเข้าเป็นหน่วยงานผลักดันที่ให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ เน้นทำเป็นต้นแบบตัวอย่างให้ชุมชนและพร้อมที่จะทำงานร่วมมือกับองค์การบริหารการจัดการท้องถิ่นเข้ามา ซึ่งกลุ่ม  นี้มีศักยภาพมีงบประมาณที่จะทำ ปัจจุบันมีอบต.กว่า 1,000 แห่ง จากทั้งหมด 9,000 แห่ง หันมาทำ งานในเชิงสังคม ไม่ว่าจะสร้างห้องสมุด ทำศูนย์ดูแลเด็ก ชมรมผู้สูงอายุ แทนที่จะนำงบประมาณไปทำระบบสาธารณูปโภคอย่างเดียว

 

          เรื่องร้อน ๆ ของปัญหาเด็กเยาวชนในยุคนี้มีหลากเรื่องไม่ว่าจะเป็นเด็กทะเลาะวิวาท เด็กตีกัน ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ปัญหาเรื่องเซ็กซ์ในวัยเรียน เด็กติดเกมเป็นต้น เป็นเรื่องแก้ไม่ตกของครูและผู้ปกครองในเวลานี้ แนวทางการแก้ปัญหานี้ ว่าที่ผู้จัดการสสส.คนใหม่บอกว่าถึงเวลาแล้วที่โรงเรียนไทย ต้องมีนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาเด็ก เรียกว่าเป็นบุคลากรพันธุ์ใหม่ในสถานศึกษา ต้องยอมรับว่าครูไม่มีองค์ความรู้ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาของเด็กทั้งหมด ตลอดจน     พ่อแม่ก็ขาดความรู้ในการเลี้ยงดูลูกด้วย พ่อแม่ ไม่มีเวลาอบรมดูแลลูก ต่างจากในอดีตในครอบครัวยังมีปู่ย่าตายายช่วยขัดเกลา สังคมปัจจุบันเด็กถูกสอนด้วยสื่อมากขึ้น เวลานี้สังคมไทยเปลี่ยนไปแล้ว

 

          นอกจากบุคลากรสายพันธุ์ใหม่ในสังคมต้องมีศูนย์ปรึกษาปัญหาครอบครัว ทำหน้าที่เป็น   พี่เลี้ยงให้กับพ่อแม่ เหมือนกับในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วก็ใช้ระบบนี้ ซึ่งในเบื้องต้นหน่วยงานนี้  อาจต้องอยู่ภายใต้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งของ   รัฐก่อน เพื่อให้คำปรึกษามีนักจิตวิทยา รวมกลุ่มของพ่อแม่ที่เจอปัญหาเดียวกันสะท้อนปัญหาหาทางแก้ไขร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่นเรื่องเด็กติดเกม ไม่ใช่ปัญหาที่เด็กกับเกมแต่เป็นปัญหาที่วินัย พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกเรียนรู้เรื่องระเบียบวินัย หรือแม้แต่การใช้อินเทอร์เน็ตของลูก พ่อแม่บางคนใช้คอมพิวเตอร์เล่นอินเทอร์เน็ตไม่ได้เท่าลูก ซึ่งไม่จำเป็นว่าพ่อแม่ต้องไปเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีทั้งหมด แต่ต้องรู้อย่างง่ายสุดว่าคอมพิวเตอร์ต้องไม่ควรอยู่ในห้องนอนลูก คอมพิวเตอร์ต้องอยู่ในห้องกลาง

 

          บทบาทของสถาบันครอบครัวมีส่วนอย่างมากที่จะช่วยเยียวยาปัญหาความรุนแรงของเด็กเยาวชนในเวลานี้ ในยุคนี้ การส่งเสริมสายสัมพันธ์ในอันแน่นแฟ้นระหว่างครอบครัว รวมถึงการอำนวยความสะดวก ให้ครอบครัวมีเวลา มีสถานที่จะมา ทำกิจกรรมร่วมกันเป็น   สิ่งจำเป็นอีกเช่นกัน   ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ พ่อแม่บางคนมุ่งทำงานจนลืมที่จะเติมเต็มประสบการณ์นอกห้องเรียนให้ลูก หรือไม่มีเงินมากพอ

 

          นพ.กฤษดา บอกถึงแนวคิดที่น่าสนใจอีกด้านในฐานะผู้แปลงทฤษฎีให้เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ว่า สสส.จะเร่งผลักดันให้เกิดระบบแฟมิลี่ทิกเก็ต หรือตั๋วโดยสารระบบขนส่งมวลชนทั้งในกทม.และ ต่างจังหวัดราคาถูกให้กลุ่มครอบครัวเพื่อเดินทางท่องเที่ยว หรือการพาลูก ๆ ไปในทุกพื้นที่สร้างสรรค์ โดยเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งบริการขนส่งในกทม.จะว่างเว้นการใช้บริการจากผู้คนอยู่แล้ว มีส่วนลดราคาค่าสถานที่หรือเข้าฟรีกับกลุ่มครอบครัว ในเส้นทางที่เป็นแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ รวมถึงพิพิธภัณฑ์ในกทม.ซึ่งมีนับร้อยแห่ง

 

          เวลานี้สสส.ทำแผนที่เดินทางออกมาแล้ว แต่ติดปัญหายังไม่สามารถออกแฟมิลี่ทิกเก็ตได้ ต้องรอรัฐบาลมาเป็นเจ้าภาพในการประสานกับระบบขนส่งแต่ละประเภท ไอเดียนี้นายกฯเห็นด้วยตั้งแต่มารับตำแหน่งแล้วนพ.กฤษดาบอกถึงความเป็นไปได้ของโครงการ

 

          เพราะนอกจากจะช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวแล้ว ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอันเกิดจากการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ.

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

 

Update: 29-10-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

Shares:
QR Code :
QR Code