หมวกกันน็อคกันไว้ดีกว่าแก้
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการโดยสาร หรือขับขี่รถจักรยานยนต์บนท้องถนนในบ้านเรายังเป็นสถิติที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตมากเป็นลำดับต้นๆ และที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ มีรายงานว่า 1 ใน 3 ของ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าครอบครัว ซึ่ง หมายถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตของคนที่อยู่ข้างหลังที่ต้องสูญเสียเสาหลักของครอบครัวไป
เราไม่ปฏิเสธว่า รถจักรยานยนต์ไม่ได้ถูกออกแบบให้มีระบบการป้องกันผู้ขับขี่มากมายนัก ตรงกันข้าม สมรรถนะ และความรวดเร็วของรถกลับถูกนำมาเป็นจุดขายมากกว่าระบบความปลอดภัย นั่นหมายความว่า ผู้ที่ตัดสินใจเลือกจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ จำเป็นที่จะต้องดูแล และรับผิดชอบ ความปลอดภัยของตัวเอง แม้บ้านเราจะมีกฎหมายบังคับใช้มาเป็นเวลาหลายปี แต่ปรากฎว่ามีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จำนวนไม่น้อยที่หลบเลี่ยงการสวมหมวกกันน็อคโดยคิดว่าไม่เป็นอะไร และเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาก็สายจน เกินแก้
เพื่อเป็นการปัดฝุ่นกฎหมายที่ใช้ และเพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้ขับขี่เล็งเห็นความจำเป็น และ ความสำคัญของการสวมหมวกกันน็อค โครงการ “องค์กรต้นแบบ ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100%” จึงถูกก่อตั้งขึ้นโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัย ทางถนน เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ผู้ขับขี่จักรยานยนต์หันมาสวมหมวกกันน็อคให้มากขึ้น และจะต้องสวมอย่างถูกวิธีอีกด้วย
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีหมวกนิรภัย 3 ประเภทตามที่กฎหมายระบุ 3 ประเภท ได้แก่ 1. “หมวกนิรภัยแบบ ครึ่งใบ” คือ หมวกนิรภัยที่เปลือกหมวกเป็นรูป ครึ่งทรงกลมปิดด้านข้าง และด้านหลังเสมอระดับหู 2. “หมวกนิรภัยแบบปิดเต็มหน้า” คือ หมวกนิรภัยที่เปลือกหมวก เป็นรูปทรงกลมปิดด้านข้าง ด้านหลัง ขากรรไกร และคาง และ 3. “หมวกนิรภัยแบบเต็มใบ” คือ หมวกนิรภัยที่เปลือกหมวกเป็นรูปทรงกลม ปิดด้านข้าง และด้านหลังเสมอแนวขากรรไกร และต้นคอด้านหลัง ด้านหน้าเปิด เหนือคิ้ว
ที่สำคัญคือ หมวกนิรภัย หรือหมวกกันน็อคที่วางจำหน่ายอยู่นั้นมีมากมายหลายแบบ แต่ผู้ขับขี่ควรจะต้องเลือกหมวกที่มีการผลิตที่ได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรม เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุ หมวกที่ดี ก็จะสามารถป้องกันการกระทบกระเทือนของ ศีรษะได้ โดยหมวกที่จะปลอดภัยจะต้องมีการ บุโฟมกันกระแทกด้านใน วัสดุทำจาก abs หรือ acrylicnitrite butadiene styrene ไม่ใช่แค่พลาสติกธรรมดา
ในขณะเดียวกัน ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ จำเป็นต้องแต่งกายให้เหมาะสม ถูกต้องและรัดกุม เช่น สวมเสื้อแขนยาว กางเกงหนากว่าปกติ สวมรองเท้าหุ้มนิ้วเท้า ข้อเท้า เพราะหากเกิดอุบัติเหตุ เช่น ล้มเล็กๆ น้อยๆ การสวมเสื้อผ้าที่มิดชิดก็ช่วยลดอาการบาดเจ็บได้
ทั้งหมดนี้คืออีกหนึ่งกิจกรรมดีๆ เพื่อที่จะลดอุบัติเหตุ และการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ