“หมดไฟในการทำงาน” ภัยคุกคามชาวออฟฟิศ
ที่มา: มติชน
แฟ้มภาพ
หนึ่งในความฝันที่สวยหรูของชีวิตนิสิต/นักศึกษา ก็คือการเรียนจบ มีงานดีๆทำ ได้เงินเดือนสูงๆ ได้แต่งตัวสวย ได้ใช้จ่ายตามใจตัวเอง ทำให้วัฏจักรชีวิตของบัณฑิตจบใหม่ส่วนใหญ่ ก้าวเข้ามาสู่สถานะมนุษย์เงินเดือนแทบจะทันที แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าชีวิตการทำงานไม่ได้เป็นดั่งใจฝัน
โรคเบิร์นเอ้าท์ หรืออาการหมดไฟในการทำงาน เป็นผลมาจากความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานที่หนักจนเกินไป จนส่งผล กระทบต่อร่างกายและจิตใจ รู้สึกสูญสิ้นพลังงานในการทำทุกอย่าง หงุดหงิดรำคาญใจ ท้อแท้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบไปถึงการทานอาหารและการนอนหลับร่วมด้วย โดยล่าสุดที่ประชุมองค์การอนามัยโลกได้บรรจุให้อาการหมดไฟในการทำงานเป็นโรคประเภทหนึ่งที่ต้องรับการรักษาทางการแพทย์ บรรจุอยู่ในบัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศฉบับที่ 11 หรือ International Classification of Diseases ซึ่งมีชื่อย่อว่า ICD-11 เป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยโรคใหม่ ซึ่งจะเริ่มประกาศใช้อย่างเป็นทางการทั่วโลกในวันที่ 1 ม.ค. 2565
นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผอ.โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ กล่าวว่า ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ (Burnout) นับเป็นประเด็นปัญหาทางสุขภาพที่เกิดกับคน วัยทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด และมีความสำคัญต่อการสร้างเศรษฐกิจ ครอบครัวและประเทศชาติ ซึ่งมักเกิดขึ้นกับบุคคลที่สะสมความเครียดจากเรื่องต่างๆ ไว้มากเกินไป ส่งผลกระทบทั้งร่างกาย คือ นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เมื่อยตามร่างกาย ประสิทธิภาพการทำงานถดถอยลง และจิตใจ อาจมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด ทะเลาะ กับคนรอบข้างง่าย โดย 1 ใน 4 ของ คนทำงานมีความเครียดจากการทำงานเป็นอย่างมาก
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะโรคเบิร์นเอ้าท์นี้ มักเกิดจากการสั่งสมความเครียดจากการทำงานมาเป็นระยะเวลานาน โดนกดดันอย่างไม่หยุดหย่อน งานล้นมือ ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงขององค์กรไม่ทัน หรือโดนบีบบังคับให้ต้องปรับรูปแบบการทำงานที่ขัดกับบุคลิกลักษณะนิสัย งานที่ทำไม่มีการกำหนดขอบเขตภาระหน้าที่ที่ชัดเจน หรือสังคมในที่ทำงานต่างคนต่างอยู่ เพื่อนร่วมงานไม่มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าไร้เรี่ยวแรง เกิดความรู้สึกลบหรือขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ไม่สามารถจดจ่อสมาธิต่องานได้เหมือนเคย ต้องฝืนตัวเองให้ทำงานจึงจะทำงานเสร็จได้ หรือต่อให้ทำงานสำเร็จลุล่วงก็ไม่รู้สึกพอใจ อาจรวมไปถึงการนอนไม่หลับ และมีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย จนนำไปสู่การใช้แอลกอฮอล์หรือยาเสพติดได้
โดยแพทย์ต้องประเมินวิเคราะห์อาการของผู้ป่วยร่วมกับระดับความเครียดและภาวะอารมณ์ ก่อนจะจัดให้ผู้ป่วยเข้า รับการรักษากลุ่มโรคอาการเบิร์นเอ้าท์ ซึ่งขอบเขตของโรคเบิร์นเอ้าท์จะจำกัดเฉพาะที่มีสาเหตุจากสภาพแวดล้อมในการทำงานเท่านั้น ไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ชีวิตด้านอื่นๆ ได้
สำหรับใครที่คิดว่าตัวเองเริ่มมีสัญญาณของอาการหมดไฟในการทำงาน ควรรีบปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต โดยกรมควบคุมโรค แนะวิธีการจัดการกับภาวะหมดไฟ 2 ด้านหลักๆ คือ ด้านการจัดการกับตัวเอง เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ นอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน, ผ่อนคลายอารมณ์ด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น นอนดูหนัง ฟังเพลง หรือชอปปิ้ง เพื่อให้รางวัลกับตนเอง, พูดคุยขอคำปรึกษากับผู้อื่นว่าคุณรู้สึกหมดแรงหรือเบื่อ หากมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ ต้องการความช่วยเหลือหรือสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้ และด้านการจัดการกับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยการปรับสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้มีความรู้สึกทางบวกมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัย วิสัยทัศน์และนโยบายของผู้บริหาร เช่น สร้างเป้าหมายเส้นทางอาชีพให้พนักงานอย่างชัดเจน สร้างการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของพนักงาน นโยบายดูแลสุขภาพกายและใจของพนักงาน เพื่อช่วยเหลือและดูแลอย่างเหมาะสม
แต่หากใครที่ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตแล้วอาการยังทวีความรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา มิเช่นนั้นอาการหมดไฟในการทำงานก็อาจนำมาซึ่งโรคร้ายแรงต่างๆ ชนิดที่คาดไม่ถึงเลยทีเดียว
ลองสำรวจตัวเองว่า คุณมีความรู้สึกแบบนี้หรือไม่
1. ชีวิตมีความสุขน้อยลง
2. เบื่อเซ็งไม่อยากตื่นไปทำงาน
3. ไปทำงานทีไร ก็เบื่อหน่าย ไม่มีสมาธิ
4. รู้สึกตัวเองด้อยความสามารถ
5. เห็นอะไรก็พาลหงุดหงิดไปเสียหมด
ถ้ามี คุณอาจเป็นคนหนึ่งที่กำลังเผชิญกับ"โรคหมดไฟในการทำงาน"