“หน่า” คนพิเศษของ “ซั้วก้าว”

“หน่า” คนพิเศษของ “ซั้วก้าว” thaihealth


“หน่า” คำสั้นๆ ของชนเผ่าม้งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งแปลได้ว่า “แม่” ในภาษากลาง อาจเป็นเพียงคำที่ประกอบด้วย “หนึ่งสระ หนึ่งพยัญชนะ และหนึ่งวรรณยุกต์” แต่กลับมีความหมายที่ยิ่งใหญ่ในใจลูกทุกคน โดยเฉพาะสำหรับ “แม่” ที่ลูกเกิดมาไม่สมบูรณ์ 


สืบเนื่องจากการทำงานร่วมกันของหน่วยงานหลายภาคส่วนในรูปแบบ "แม่ฮ่องสอนโมเดล" ซึ่งเป็นระบบช่วยเหลือและส่งต่อเด็กพิการและด้อยโอกาส การต่อยอดจาก "ชุดโครงการวิจัยหลักประกันโอกาสทางการศึกษาเพื่อเด็กและเยาวชนไทยทุกคน" อันเกิดจากความร่วมมือระหว่าง สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ศูนย์การศึกษาพิเศษ จ.แม่ฮ่องสอน และมหาวิทยาลัยนเรศวร ในการจัดทำระบบสารสนเทศเชื่อมต่อและส่งต่อเด็กพิการในจังหวัดแม่ฮ่องสอนอย่างเป็นระบบ


ในโอกาสวันแม่แห่งชาติ สสค.จึงขอแบ่งปันเรื่องราวความรักของหน่า อำพร แซ่เห่อ กับ น้องอานิรญา แซ่เห่อ คู่แม่ลูกเด็กพิเศษในพื้นที่ห่างไกลของจังหวัดแม่ฮ่องสอนผ่าน ศูนย์การเรียนรู้เพื่อเด็กพิการและขาดโอกาส ที่ปัจจุบันมีอยู่ 3 พื้นที่ได้แก่ อำเภอแม่สะเรียง อำเภอปาย และอำเภอปางมะผ้า


“แม่คือทุกอย่าง คนที่รักและคอยดูแลลูก” อำพร แซ่เห่อ แม่ของน้องซั้วก้าว (มีความหมายว่า ร้องเพลง) อานิรญา แซ่เห่อ ได้ให้คำนิยามของคำว่าแม่ไว้สั้นๆ หลังจากพบว่า น้องซั้วก้าวมีอาการเข่าแอ่น และอ่อนแรง ซึ่งทำให้ไม่สามารถนั่งและเดินเองได้ตั้งแต่ 6 เดือน ชีวิตของแม่อำพรก็ได้เปลี่ยนไป เพราะต้องดูแลน้องซั้วก้าวอย่างใกล้ชิด เวลาที่จะต้อง“หน่า” คนพิเศษของ “ซั้วก้าว” thaihealthเดินทาง ก็จะต้องคำนึงถึงน้องซั้วก้าวอยู่ตลอด จึงทำให้มีความกังวลใจในระยะแรก 


อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นแม่ ที่หวังให้ลูกได้มีโอกาสเดินแบบคนปกติ เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตแบบเด็กคนอื่นๆ รวมถึงได้มีโอกาสไปโรงเรียน คุณแม่อำพรก็ไม่ท้อ พาน้องซั้วก้าวไปหาแพทย์หลายแห่ง จนกระทั่งมาเจอศูนย์การเรียนรู้เพื่อเด็กพิการและขาดโอกาส อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งเป็นสถานที่ๆพัฒนาเด็กพิเศษ โดยมุ่งหวังให้เด็กได้ช่วยเหลือตัวเองได้  


ด้วยความช่วยเหลือจากครูผู้ฝึก และความพยายามของคุณแม่ เพียง 1 เดือน น้องซั้วก้าวก็มีพัฒนาการอย่างเห็นได้ชัด น้องเริ่มเดินได้ โดยมีคนช่วยจับ เริ่มพูดภาษากลางได้ (บ้านของน้องซั้วก้าวเป็นชนเผ่าม้ง จึงได้เรียนรู้เพียงภาษาท้องถิ่นเท่านั้น) 


ยิ่งไปกว่านั้น คุณแม่อำพรยังสอนให้น้องซั้วก้าวพูดภาษาอังกฤษอีกด้วย ตอนนี้ ด้วยวัยเพียง 3 ขวบ 2 เดือน น้องซั้วก้าวสามารถท่องพยัญชนะภาษาอังกฤษได้ครบ 26 ตัวอักษร รวมถึงคำภาษาอังกฤษเบื้องต้น 10-20 คำ น้องซั้วก้าวก็ไม่หวั่นที่จะฝึกพูดทุกวัน จนจำได้ คุณแม่อำพรให้สัมภาษณ์ด้วยน้ำเสียงที่ประทับใจลูกของตน


สุดท้าย หน่าอำพรได้ให้กำลังใจ “คนเป็นแม่” ไว้ว่า การเป็นแม่เด็กพิเศษนั้นไม่ได้เครียดหรือเหนื่อยอย่างที่ใครๆคิด สามารถมีความสุขและใช้ชีวิตกับลูกได้อย่างปกติ และการที่ลูกเป็นเด็กพิเศษนั้น ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าคนอื่นๆเลย แม่ทั้งสองสู้เพื่อลูกมาก การมีกำลังใจที่ดีนั้นเป็นสิ่งสำคัญ อยากให้แม่ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษเหมือนกันนั้นสู้เพื่อลูกต่อ เพราะความหวังที่จะพัฒนาเขาได้ยังมีอยู่มาก ความสุขที่ได้เห็นพวกเขาช่วยเหลือตัวเองได้มันมีค่ายิ่งใหญ่มากสำหรับคนเป็นแม่


 


 


ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ