หนุน ‘เด็กไทยไร้พุง’ สกัดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

ผลักดันเมือง 'เด็กไทยไร้พุง' หนุนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกรรมการใช้ชีวิต หันมาออกกำลังกาย เพื่อสกัดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง


หนุน 'เด็กไทยไร้พุง' สกัดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง thaihealth


แฟ้มภาพ


มีข้อมูลที่น่าตกใจว่าในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา อุบัติการณ์โรคอ้วนในเด็กไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นไปได้ว่าเป็นประเทศที่มีการ เพิ่มจำนวนของ"เด็กอ้วน"มากที่สุด ในโลก โดยพบว่าช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา มีเด็กก่อนวัยเรียนอ้วนเพิ่มขึ้นถึง ประมาณ 36% และในวัยเรียนอายุ 6-13 ปี อ้วนเพิ่มขึ้น 15.5%  นอกจากนี้ข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ยังประมาณการสัดส่วนของเด็กไทยที่อาจจะเข้าสู่ สภาวะเป็นเด็กอ้วนไว้ว่าในปี 2558 นี้ เด็กก่อนวัยเรียนในประเทศไทย จะกลายเป็นเด็กอ้วนในสัดส่วนสูง ถึง 1 ใน 5 ซึ่งหมายถึงในจำนวนเด็ก  5 คนจะมีเด็กอ้วน 1 คน และเด็กในวัยเรียน 10 คน จะมีเด็กอ้วน 1 คน ปัญหาดังกล่าวถูกมองข้ามมานานทั้งที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ที่จำเป็นจะต้องเร่งให้ความรู้กับเด็กรวมไปถึงผู้ดูแลเด็ก รวมไปถึงการสร้างพฤติกรรมการบริโภค เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงตามมาก็คืออาการเจ็บป่วย โดยเฉพาะในกลุ่มโรค ไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว และยังเป็นโรคที่ต้องใช้งบประมาณเข้าไปดูแลปีละมหาศาล


กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือที่เรียกกันว่า NCDs (Non-Communicable diseases) เป็นกลุ่มโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค แต่เกิดจากปัจจัยต่างๆ ภายในร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการใช้ชีวิต ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอย่างเช่นการดื่มเหล้า สูบบุหรี่บุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย และที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องของพฤติกรรมการบริโภค


ข้อมูลล่าสุดสุดพบว่ามีผู้ป่วยกลุ่มโรคนี้ในประเทศไทยถึง 14 ล้านคน และที่สำคัญยังเป็นสาเหตุหลักการเสียชีวิตของประชากรทั้งประเทศ โดยโรคในกลุ่มนี้มี 6 โรคสำคัญอันได้แก่ 1.โรคเบาหวาน  2.โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ  3.โรคถุงลมโป่งพอง 4.โรคมะเร็ง  5.โรคความดันโลหิตสูง และ6.โรคอ้วนลงพุง คณะอนุกรรมาธิการส่งเสริม นวัตกรรมการแพทย์และสาธารณสุข  ในคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดประชุมรับฟังข้อเสนอจากผลการศึกษาสถานการณ์โรคอ้วนลงพุงและภาวะแทรกซ้อนของประชากรในเขตกรุงเทพฯโดยนักวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีคณะผู้บริหารจากกรุงเทพฯ(กทม.) ร่วมชี้แจง และเตรียมแผนบูรณาการแก้ไขปัญหาในระยะยาว


นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมนวัตกรรมการแพทย์และสาธารณสุข สนช. กล่าวว่าโรคอ้วนลงพุง เป็นปัญหาสุขภาพที่สนช. ให้ความสำคัญและเร่งหามาตรการในการแก้ไขป้องกัน เนื่องจากเป็นปัจจัยที่นำไปหนุน 'เด็กไทยไร้พุง' สกัดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง thaihealthสู่การ เจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจ เป็นปัญหาสาธารณสุขที่มีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการเยียวยารักษา ซึ่งจะเป็นภาระของรัฐบาลในอนาคต


"คำถามที่น่าเป็นห่วงคือ สังคมเมือง มีการใช้ชีวิตแบบอยู่ดีกินดีเกินไปหรือเปล่า หรือคนในเมืองมีสถานที่ออกกำลังกายเพียงพอหรือไม่ สิ่งนี้ คือ ปัจจัยที่รัฐบาล มีความพยายามหาแนวทางในการบูรณาการหน่วยงานที่จะเป็นต้นแบบ โดยมองเห็นว่า กทม. ที่เริ่มมีมาตรการในการป้องกันในระดับพื้นที่ จะเป็นต้นแบบนำร่องและสามารถถอดบทเรียนไปสู่การปฏิบัติให้กับเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดได้ ที่สำคัญ  คือการนำข้อเสนอ จากงานวิจัยมาเป็น องค์ความรู้ในการพัฒนา"


ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า สวรส. ตระหนักถึงความสำคัญของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นวิกฤตสุขภาพของหลายๆ ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในบริบทการใช้ชีวิตในสังคมเมือง จึงได้สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยในชุดโครงการวิจัยมุ่งเป้าเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยโครงการพัฒนารูปแบบการจัดการปัญหาภาวะอ้วนลงพุงและภาวะแทรกซ้อนใน เขต กทม. เป็น 1 ในชุดโครงการวิจัยดังกล่าว  เพื่อศึกษาข้อมูลด้านสถานการณ์ โรคอ้วนลงพุง พฤติกรรมและปัจจัยต่าง ๆ ในการควบคุมโรคอ้วนและโรคเรื้อรัง ในเขตกทม. และพัฒนานโยบาย รูปแบบการบริการ การจัดการชุมชน ในการควบคุมภาวะโรคอ้วน และเพื่อหาแนวทางการขยายผลการจัดการภาวะโรคอ้วน มาตรการในการสนับสนุนการควบคุมภาวะอ้วนลงพุงและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนในการ ดำรงชีวิตประจำวัน


"การแก้ไขปัญหาโรคอ้วน ไม่ใช่ เรื่องง่ายเพราะปัจจัยเสี่ยงในบริบทของสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยเฉพาะวิถีชีวิตคนเมืองที่รีบเร่ง วันนี้เรามีหน่วยงานที่เป็นผู้เล่นหลัก ในระบบอยู่มาก เช่น กระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดนโยบายสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำหน้าที่รณรงค์เผยแพร่ สปสช. ก็ให้ความสำคัญกับงบประมาณการสร้างเสริมสุขภาพ อีกทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นกลไกสำคัญที่ทำงานใกล้ชิดประชาชนในเขตเมือง โดยเฉพาะ กทม. และเทศบาลนครต่างๆ  ข้อเสนอจากงานวิจัยต้องการเห็น การพัฒนานโยบายแบบมีส่วนร่วมเพื่อควบคุมภาวะอ้วนลงพุง ซึ่งจะนำไปสู่การควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นเป้าของงานวิจัยนี้  โดยเฉพาะการเข้าถึงหน่วยงานภาคเอกชนในกลุ่มเครื่องดื่มน้ำอัดลมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคอ้วนให้ได้ โดยการขอความร่วมมือและสร้างความตระหนักถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับลูกหลานคนไทย เพื่อบรรเทาปัญหาภาวะโรคอ้วนลงพุงในอนาคต" ดร.จรวยพร กล่าว


นายอนันตชัย อินทร์ธิราช นักวิจัยเครือข่าย สวรส. นำเสนอผลการศึกษาว่า ได้ทำการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างของประชากรในกทม. พบว่าสามารถจำแนกพฤติกรรมการบริโภค แบ่งได้เป็น 5 กลุ่มคือ กลุ่มกินจุกจิก กินปริมาณมากจนอิ่มเกินเพราะความเสียดายอาหาร กลุ่มกิจวัตรประจำวันเพื่อการเข้าสังคมที่มีการบริโภคชา กาแฟ โกโก้ ช็อกโกแลตร้อน-เย็น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กลุ่มกินอาหารบุฟเฟ่ต์ ปริมาณมาก กลุ่มกินในปริมาณมากตามโฆษณา กินตามสะดวก และปรุงอาหารรสจัด และกลุ่มที่กินขนมบรรเทาความหิวหรือเป็นอาหารว่างหลังอาหารมื้อหลัก การกินที่เพลิดเพลินร่วมกับการดูโทรทัศน์ เล่นเกม ข้อค้นพบสำคัญ ของกลุ่มสำรวจคือ มีกิจวัตรประจำวันในระดับเบา และไม่ออกกำลังกาย นำไปสู่ภาวะ อ้วนลงพุง และมีรูปร่างท้วม สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาภาวะอ้วนลงพุง เช่น สำนักอนามัย กทม. ควรมีนโยบายส่งเสริมสุขภาพ เน้นการออกกำลังกาย สำนักการแพทย์กทม.ควรมีนโยบายการตรวจสุขภาพ คัดกรองภาวะอ้วนลงพุงและภาวะแทรกซ้อนในทุกกลุ่มอายุ สนับสนุนให้สถานพยาบาลในสังกัด กทม. จัดทำแนวทางการให้ความรู้ และความเข้าใจในภาวะโรคอ้วนลงพุง  เพื่อชี้ให้เห็นความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจ หลอดเลือด หรือโรคอื่นๆในอนาคต ส่วนในด้านการติดตามผลการควบคุมภาวะโรคอ้วน ควรมีสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานวิจัยที่ทำหน้าที่ประเมินผลการดำเนินงานตามมาตรการ การควบคุมภาวะอ้วนลงพุงในพื้นที่ระดับชุมชน โดยรัฐบาลต้องส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน บูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อลดภาวะ อ้วนลงพุงในประชากร กทม. เป็นต้น


พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. เผยว่า กลุ่มเด็กในเขต กทม. เป็นเป้าหมายที่ทาง กทม. ให้ความสำคัญ โดยพบว่า เด็กมีการทำกิจกรรม ทางกายน้อยลง เนื่องจากมีสิ่งเร้าจากการ เล่นเกม ดูโทรทัศน์ ฉะนั้นการออกมาตรการในโรงเรียนทั้งในด้านพฤติกรรมการ ออกกำลังกายและการกิน จะเป็นการฝึกการปลูกฝังพฤติกรรมการใช้ชีวิตในโรงเรียนที่เรา คาดหวังว่าจะช่วยให้เด็กนำไปปฏิบัติเมื่ออยู่บ้านได้ด้วย เช่น การขอให้งดขายน้ำอัดลมในโรงเรียน งดขายขนมที่มีโซเดียมสูง ห้ามโฆษณาอาหารขยะ รวมไปถึงเรายังส่งเสริมการมีน้ำสะอาดในโรงเรียน การสนับสนุนด้านโภชนาการกินที่ถูกหลักในอาหารมื้อเช้า/กลางวัน รวมทั้งการจัดโปรแกรมการออกกำลังกายในเด็กวันละ 12 นาที ในหนุน 'เด็กไทยไร้พุง' สกัดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง thaihealthโรงเรียน


"เราพยายามหามาตรการจูงใจให้เกิด การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในหลายๆ  รูปแบบถ้าเด็กทำได้ในโรงเรียนมั่นใจว่า จะขยายผลไปสู่ครอบครัว ซึ่งจะนำไปสู่ การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้  รูปแบบต่างๆ จะต้องตอบสนองและเข้ากับการดำเนินชีวิตของคนเมือง ดังนั้นใน เชิงนโยบายจำเป็นต้องมีการบูรณาการ ความร่วมมือจากหลายๆ หน่วยงาน และ ที่สำคัญคือการสื่อสารสาธารณะ ควรมี หน่วยงานมาช่วยทำการสนับสนุน เพราะ การเผยแพร่ทางสื่อหลักจะมีราคาค่อนข้างสูง บางหน่วยงานที่ทำงานไม่มีงบประมาณ ในเรื่องนี้" ผอ.สำนักอนามัย กล่าว


กทม.นำร่อง438โรงเรียนดูแลโภชนาการ-ออกกำลังกาย


นายพีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาด้านการส่งเสริมสุขภาพของ กทม. นั้นจะแบ่งงานกันไปดูแลแต่ขาดการบูรณาการ สำหรับมาตรการที่มุ่งเน้นในการลดปัญหาโรคอ้วนลงพุง ได้มียุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นในด้านพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกาย โดยเริ่มในกลุ่มเป้าหมาย กับเด็กในโรงเรียนสังกัด กทม. ที่มีจำนวน 438 โรงเรียน มีเด็กประมาณ 3 แสนคน โดยออกมาตรการเพื่อให้มีโภชนาการที่ดีถูกหลัก เช่น การจัดอาหารเช้าให้เด็กได้รับประทาน การห้ามขายน้ำอัดลม ห้ามขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมสูงภายในโรงเรียน  การคัดกรองเด็กกลุ่มเสี่ยง พร้อมจัด คลินิกลดน้ำหนัก โดยทำการประเมินติดตาม เป็นต้น ทางด้านการออกกำลังกาย ได้เริ่มมีการปรับปรุงสวนสาธารณะที่มีอยู่ใน กทม. 30 แห่ง ให้น่าพักผ่อนเหมาะกับการออกกำลังกาย บางแห่งได้ทำเส้นทางจักรยานเพิ่มขึ้น เช่น สวนบึงหนองบอน  เขตสวนหลวง


 


 


         


ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ

Shares:
QR Code :
QR Code