หนุน ‘องค์กรผู้บริโภค’ คุณภาพ

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ balancemag.net


หนุน 'องค์กรผู้บริโภค' คุณภาพ thaihealth


4 องค์กร ประกอบด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) คณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ (มวคบ.) ได้ลงนามความร่วมมือในการพัฒนาและสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ โดยหวังสร้างองค์กรผู้บริโภคที่มีความน่าเชื่อถือ ประชาชนเชื่อมั่นอย่างยั่งยืน


ตั้งแต่ปี 2558 สสส. สคบ. คคส.และ มวคบ.ได้ร่วมกันพัฒนาหลักเกณฑ์และกระบวนการในการพัฒนารับรองคุณภาพเพื่อองค์กรผู้บริโภคซึ่งในปี 2560-2561 ได้เริ่มส่งเสริมสนับสนุนให้มีการรับสมัครองค์กรผู้บริโภคและจัดให้มีกระบวนการรับรองคุณภาพ


ภญ.สรีรโรจน์ สุกมลสันต์ นักวิชาการแผนงาน คคส. กล่าวว่า จากหลักเกณฑ์การรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพในระยะแรกได้ให้แต่ละองค์กรประเมินตนเองเป็นการภายใน แต่ในปี 2561 จะเป็นการประเมินจากภายนอก โดยทั่วประเทศมีองค์กรผู้บริโภคราว 300 องค์กร มีการยื่นเพื่อรับการประเมินมาแล้วประมาณ 160 องค์กรใน 44 จังหวัด


"หากมีองค์กรผู้บริโภคคุณภาพจะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรนั้น เมื่อเผยแพร่หรือดำเนินการใดออกไปก็จะได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน ที่สำคัญจะเป็นการคัดกรององค์กรผู้บริโภคที่ทำเพื่อสาธารณะจริงๆ ไม่ใช่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยภาคธุรกิจด้วยซึ่งปัจจุบันเกิดขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ หากมีการประกาศใช้กฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ ก็จะมีองค์กรผู้บริโภคคุณภาพที่จะสามารถรองรับสภาฯ ได้อย่างมีประสิทธิผล และเป็นการส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งของภาคประชาชน จึงต้องสร้างกลไกเพื่อการพัฒนาองค์กรผู้บริโภคขึ้น" ภญ.สรีรโรจน์ กล่าว


การรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพตามหลักเกณฑ์ จะแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1.ขั้นพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมการผนึกกำลังเป็นองค์กรผู้บริโภค มีเกณฑ์ 2.ขั้นมีสิทธิ เพื่อคัดเลือกองค์กรผู้บริโภคที่มีสิทธิเสนอผู้แทนเข้ารับเลือกเป็นกรรมการสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ และ 3.ขั้นสูง เพื่อการพัฒนาองค์กรจากขั้นพื้นฐานให้มีระบบบริหารจัดการที่เข้มแข็งและมีธรรมาภิบาล เป็นองค์กรผู้บริโภคที่ถือว่าพัฒนาดีแล้ว ได้แก่ องค์กรผู้บริโภคที่มีคุณสมบัติขั้นพื้นฐานครบถ้วน และมีคุณสมบัติเพิ่มเติมอีก 2 ข้อ คือ มีระบบบริหารที่เข้มแข็งตามหลักการบริหารสมัยใหม่ และมีระบบธรรมาภิบาล


ผศ.ภญ.ดร.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ ผู้จัดการ คคส. มองว่าการมีเกณฑ์มารับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพ จะเป็นกลไกหนึ่งในการคัดกรองเอ็นจีโอหรือองค์กรผู้บริโภคจัดตั้งจากผู้ประกอบการซึ่งปัจจุบันเจอในลักษณะนี้มากขึ้น ทั้งในรูปแบบขององค์กรและมูลนิธิ อย่างเช่น กรณีประชุมเรื่องการยกเลิกการใช้แร่ใยหินมีองค์กรประกาศตัวว่าเป็นองค์กรผู้บริโภค นำกระเบื้องมาหักโชว์ว่าแร่ใยหินไม่อันตราย แต่ต่อมาก็ตรวจสอบพบว่าเป็นพนักงานของบริษัทกระเบื้องที่ยังคงมีแร่ใยหินอยู่ในกระเบื้อง


ด้าน นายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค บอกว่า ขณะนี้กฎหมายจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว โดยกำหนดให้มีผู้แทนจากองค์กรผู้บริโภคอย่างน้อย 19 คนเข้ามาเป็นสมาชิกสภาฯ ซึ่งจะมาจากการเลือกตัวแทนกันเองจากองค์กรผู้บริโภคที่มีกรรมการอย่างน้อย 10 คน และเป็นองค์กรที่มีการขึ้นทะเบียนและได้รับการรับรองคุณภาพ นอกจากนี้ ในส่วนของระดับภูมิภาค จะมีอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคระดับพื้นที่ ที่มีการกำหนดให้มีภาคประชาชนเข้าเป็นอนุกรรมการ ก็จะส่งผลให้ตัวแนจากองค์กรผู้บริโภคคุณภาพได้เข้าไปมีบทบามากขึ้นด้วย


อีกท่าน ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ รักษาการผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. กล่าวทิ้งท้ายว่า เชื่อมั่นบทบาท ประชาชนทุกคนสามารถเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยได้ แต่ประเทศไทยรัฐยังมีข้อจำกัดในการทำเช่นนี้ สสส.จึงเข้ามาสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคเพื่อทำให้เห็นว่าการมีองค์กรผู้บริโภคคุณภาพที่มีความเข้มแข็งจะเป็นการปิดช่องว่างงานคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศ เมื่อรัฐเห็นประโยชน์ ในระยะยาวรัฐจะเข้ามาสนับสนุนงบประมาณ โดยในปี 2561 จะเริ่มมีการประเมินและรับรองคุณภาพองค์กรผู้บริโภคที่มีกว่า 300 องค์กร

Shares:
QR Code :
QR Code