หนุน “สบทะ” สู่หมู่บ้านเข้มแข็งจัดการขยะ
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบจากเดลินิวส์
สสส.หนุน หมู่บ้านสบทะ จ.ลำปาง ตัวอย่างหมู่บ้านจัดการขยะที่เข้มแข้ง สู่การสร้างเสริมสุขภาวะที่ดี
หมู่บ้านสบทะ หมู่ 7 ต.ป่าตัน อ.แม่ทะ จ.ลำปาง จำนวน 94 หลังคาเรือน ราษฎร 383 คนของหมู่บ้านเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาขยะ จึงได้ช่วยกันดูแลจัดการขยะ นับเป็นหมู่บ้านตัวอย่างของ จ.ลำปาง ที่ทุกคนช่วยกันจัดการขยะอย่างเป็นระบบ ด้วยวิธีการที่เริ่มต้นง่ายๆ จากทุกคนในครัวเรือน จนทำให้หมู่บ้านแห่งนี้มีความเข้มแข็งในการจัดการกับปัญหาขยะ และเป็นหมู่บ้านสีเขียว โดยมีสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรมของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุน โดยเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา จากการรวบรวมข้อมูล พบขยะในหมู่บ้านมากถึง 27,410 กิโลกรัม แต่สามารถแยกขยะได้เกินครึ่งจากจำนวนขยะทั้งหมด โดยเฉพาะขยะรีไซเคิลคัดแยกได้ 3,426 กิโลกรัม ขยะแห้งทั่วไป 10,851 กิโลกรัม ขยะอันตราย 140 กิโลกรัม
นางนุช วงค์สวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่ บ้านสบทะ และประธานกลุ่มคัดแยกขยะของหมู่บ้าน กล่าวว่า ทางภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ พบเห็นปัญหาสุขภาพของคนในหมู่บ้าน เนื่องมาจากการทิ้งขยะ ดังนั้นจึงมีการหารือกันอย่างจริงจังว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องจริงจัง และมีการระดมพลังช่วยกันจัดการกับเรื่องขยะ ด้วยการคัดแยกขยะ เพื่อให้ทุกบ้านเรือนและหมู่บ้านเป็นพื้นที่ที่น่าอยู่ ไม่มีปัญหาขยะที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมตามมา ทำให้ทางหมู่บ้านจัดตั้งกลุ่มคัดแยกขยะขึ้นมากว่า 8 ปีแล้วที่หมู่บ้านแห่งนี้ได้ช่วยกันคัดแยกขยะออกมา เริ่มจากขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล ขยะแห้ง และขยะอันตราย โดยในหมู่บ้านมีการจัดที่ทิ้งขยะต่างๆ ไว้เด่นชัด
เพื่อให้เกิดความสะดวกในการคัดแยก เริ่มจากขยะอินทรีย์ ที่จะมีการสานล้อมไม้ไผ่ไว้ทั้งหมด 4 จุดใหญ่กระจายในหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านนำเศษใบไม้ ใบหญ้า และเศษอาหารมาทิ้งในจุดดังกล่าว เพื่อนำไปทำปุ๋ยหมักใช้รดต้นไม้ ส่วนขยะรีไซเคิล ที่เป็นขวดน้ำพลาสติกนั้น หมู่บ้านที่มีกลุ่มอาชีพทำของประดิษฐ์ ก็จะนำไปทำเป็นของที่ระลึก เช่น พวงกุญแจ และดอกไม้พลาสติกตกแต่ง สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านอีกทาง และขยะรีไซเคิลอื่นๆ ก็จะนำไปขาย เพื่อนำเงินเข้ากองทุนพัฒนาหมู่บ้าน
สำหรับขยะแห้งที่เกิดขึ้นในบ้านเรือนและหมู่บ้านนั้น จะเน้นย้ำกับชาวบ้านว่า อย่าได้นำไปเผา เพราะจะเป็นการสร้างมลพิษในพื้นที่ เพราะควันไฟอาจจะกระทบต่อสุขภาพร่างกายของชาวบ้านในพื้นที่ได้ ถือว่าเป็นการสานนโยบายของจังหวัด ที่ในช่วงแล้งที่ผ่านมา ได้ประกาศไม่ให้เกิดการเผาในพื้นที่ เพื่อป้องกันสถานการณ์หมอกควันไฟ แต่ที่หมู่บ้านแห่งนี้ได้ยึดถือปฏิบัติการงดเผาในทุกวันที่ผ่านมานานแล้ว
ด้านขยะอันตราย ที่ทุกหลังคาเรือนมักจะมีเกิดขึ้น และถือว่าเป็นอันตรายหากเราไม่คัดแยก ทั้งหลอดไฟ ถ่านไฟฉาย เศษแก้ว หรือขยะที่มีสารพิษ ก็ให้นำมาทิ้งในถังสีแดง เพื่อเตรียมรับขยะอันตรายไว้ที่ศูนย์สาธารณสุขหมู่บ้าน ก่อนที่ทางเทศบาลจะนำไปเข้ากระบวนการกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป
จากการระดมพลังกันในหมู่บ้านทำให้เกิดการขับเคลื่อนงานด้านรักษ์สุขภาพ ควบคู่กับการจัดการขยะอย่างต่อเนื่อง ทั้งการตรวจสุขภาพร่างกายทุกวันพุธ หากชาวบ้านคนใดต้องการตรวจวัดความดัน และสุขภาพเบื้องต้น ก็ให้นำขยะรีไซเคิลมาแลกกับงานบริการ โดยชาวบ้านนำกระป๋องและขวดน้ำพลาสติกมาแลกกับการตรวจสุขภาพ นับว่าเป็นหมู่บ้านตัวอย่างที่สามารถจัดการปัญหาขยะได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ด้วยความร่วมมือร่วมใจของคนในพื้นที่