หนุน “ชาวละงู” ใช้สมุนไพรให้ห่างไกลโรค
"สสส." สนับสนุนการรวมตัวของหมอพื้นบ้านและใช้สมุนไพร เพื่อเป็นทางเลือกให้ชุมชนละงูในการดูแลรักษาสุขภาพและห่างไกลโรค
นพ.ปวิตร วณิชชานนท์ ผอ.โรงพยาบาลละงู จ.สตูล เปิดเผยว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านทางรพ.ละงูได้ทำงานขับเคลื่อนและเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้านมาโดยตลอด และขณะนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยเลือกใช้แพทย์แผนไทย หรือแผนปัจจุบัน โดยพบว่าหลายโรค เช่นปวดเมื่อย ปวดขา แน่นท้อง ท้องอืด สามารถรักษาโดยแพทย์แผนไทยได้ ซึ่งแพทย์แผนไทยมีการรักษาหลายแบบ ทั้งนวด อบ ประคบสมุนไพร ยากิน การดูแลหญิงหลังคลอด เป็นต้น
นพ.ปวิตร บอกด้วยว่า การบริหารแบบผสมผสานและอัตราการใช้ยาแพทย์แผนไทยมากขึ้น ส่งผลให้อัตราการใช้ยาแผนสมุนไพร 15% ของมูลค่ายาทั้งหมดในรพ.ละงู ซึ่งเกินกว่าเป้าถึงกระทรวงสาธารณสุข แพทย์ทั้งสองส่วนก็ต้องอาศัยการเรียนรู้กัน เพื่อแก้ไขเบื้องต้น ปรับธาตุสมดุลในร่างกาย ถ้าหายก็ไม่ต้องรักษาแบบอื่น
ด้านนายสาเหล็ม หมาดหวัง หมอพื้นบ้าน กล่าวว่า ใช้มะพร้าวปลอกเปลือกเหลือแต่กะลาทั้งลูก มาเป็นอุปกรณ์สำคัญในการรักษาอาการปวดเมื่อยไปจนถึงอัมพฤกษ์-อัมพาตได้ ก่อนหน้านี้มีอาการเป็นอัมพฤกษ์ จึงเริ่มเรียนรู้การรักษาตัวเองและรักษาหาย เชื่อว่าเป็นนวัตกรรมของขวัญจากพระเจ้าและพร้อมที่จะถ่ายทอดให้คนรุ่นหลัง อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ "สสส." ได้เข้ามาให้การสนับสนุนและทำโครงการร่วมสร้างสมุนไพรให้ห่างไกลโรค ทำให้เกิดการรวมตัวของหมอพื้นบ้านตำบลละงู อีก 4-5คนและร่วมกันจัดกิจกรรมช่วยรักษาชาวบ้าน ควบคู่กับการใช้สมุนไพร ทำให้คนชุมชนหันใส่ใจสุขภาพมากขึ้น
ขณะที่นายเฉลิม บัวดำ แพทย์แผนไทยปฏิบัติการ โรงพยาบาลละงู คณะทำงานโครงการร่วมสร้างสมุนไพรฯ กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลละงู เครือข่ายสาธารณสุข อำเภอละงู และ อบต.ละงู มองเห็นความสำคัญของแพทย์แผนไทย เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุน เป็นแหล่งเรียนรู้เครือข่ายระดับอำเภอ ศูนย์สมุนไพรเรามีเป้าหมายที่ต้องการให้ชาวบ้านรู้ว่าจากที่เคยเป็นป่ามืดๆ รกๆ ที่เขาเคยเห็นในอดีต เคยมีเพิงเก่าๆ น่ากลัว ลึกลับก็จะเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่สุขภาพ โดยเฉพาะหมอพื้นบ้านของเรา คนที่อื่นรู้จักมาหากันเยอะแต่คนในชุมชนกลับไม่ค่อยรู้จัก การทำตรงนี้เป็นการนำเสนอครูภูมิปัญญาให้ที่เป็นที่รู้จัก
ทั้งนี้การถอดองค์ความรู้จากหมอพื้นบ้านจะทำให้ชาวบ้านกลับไปดูแลตัวเองได้ เช่นการประคบสมุนไพร การนวดโดยนั่งทับกะลามะพร้าวแบบหมอสาเหล็มก็ทำได้ง่ายเพราะ ซึ่งเป็นวัสดุที่มีอยู่เยอะในชุมชน รวมทั้งการคืนองค์ความรู้คืนชาวบ้านกลุ่มเป้าหมาย เป็นการทำงานร่วมกับ รพ.สต. สำหรับโรงพยาบาละงูยัง เป็นพี่เลี้ยงให้ชมรมแพทย์แผนไทยตำบลละงูมีความเข้มแข็ง และยั่งยืน ผลที่เกิดมาแล้วชัดเจน ในส่วนของระบบกลุ่มทำให้มีทักษะพัฒนางานและการบริหารจัดการกลุ่มด้วยตนเอง
ด้านนายสุรสิทธิ์ สุรการากุล รองประธานโครงการฯ เล่าว่า ทีมหมอพื้นบ้านในตำบลละงู ปัจจุบัน ได้รับการฝึกอบรมภูมิปัญญา มาจากหมอพื้นบ้านกลุ่มแรกของชุมชน 4-5 คนในปี 2543 การได้ร่วมกันทำสวนสมุนไพรฯ พื้นที่รวมของชุมชน ใช้รูปแบบช่วยกันหามาปลูก และช่วยกันดูแล ตอนนี้สามารถปลูกสมุนไพรไม่ต่ำกว่า 200 ชนิด และกำลังปลูกเพิ่มอีก 100 ชนิด มุ่งให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของทุกคนในชุมชน เพื่อใช้สมุนไพรไปดูแลสุขภาพในเบื้องต้น
เพื่อการปลูกสมุนไพรแห่งนี้ จึงได้มีที่ทำการชมรมครั้งแรกที่นี่ โดยมีอาคารหลังแรก เป็นขนาดเล็กๆ ที่ทำกันเอง หลังจากนั้น อบต.ละงูให้งบมาราวปีละ 30,000 บาท มาดูแลจัดการพันธุ์ไม้ ปุ๋ย น้ำ ชมรมซึ่งตอนนั้นมีราว 25 คน ไม่มีงบสนับสนุน พอได้สนับสนุนจาก สสส. ทำให้มีคณะกรรมการโครงการ แต่ละฝ่ายมีคนมาช่วย ได้อาคารเอนกประสงค์ เป็นที่ประชุม ทำงาน เสาร์อาทิตย์ก็มาร่วม ปลูกต้นไม้ ใส่ปุ๋ย สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพราะเราก็ไม่คิดว่า แค่จะเป็นศูนย์ เกี่ยวกับสมุนไพร แต่จะต้องมีความหมายกว้างเกี่ยวกับสุขภาพทุกอย่าง ในอนาคตเราอยากมีสมุนไพรหลากหลายชนิด เป็นทางเลือกของคนในชุมชน
ที่มา: เว็บไซต์เดลินิวส์