การสร้างพื้นที่เล็กๆ เพื่อสื่อสารความดีแบบชุมชนออนไลน์ ในรูปแบบการเขียนบล็อก (blog) หรือบันทึกออนไลน์ กลายเป็นช่องทางหนึ่งที่สะดวก ประหยัด และขยายผลต่อเนื่องไม่มีสิ้นสุด
นางรัตนา กิตติกร ผู้จัดการโครงการสื่อสารสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า มูลนิธิสนับสนุนให้เกิดโครงการจัดอบรมบล็อกผ่านเว็บไซต์ www.okkid.net ในหัวข้อ “โครงการดี มีคนเห็น” กับการใช้เครื่องมือสื่อสารในรูปแบบ cops (community of practice : เครื่องมือเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้) โดยโครงการพัฒนาเครือข่ายเยาวชนจิตอาสาในสถานศึกษา มูลนิธิกระจกเงา เพื่อเปิดพื้นที่เล็กๆ ผ่านเว็บไซต์เป็นสื่อกลางในการขับเคลื่อนพลังเยาวชนจิตอาสาในสังคมไทย
น.ส.กรวิกา ก้อนแก้ว หัวหน้าโครงการพัฒนาเครือข่ายเยาวชนจิตอาสาในสถานศึกษา กล่าวด้วยว่า โครงการปีที่สองมีการขยายเป็น 10 โรงเรียนและมีนักเรียนเข้าร่วมจำนวน 100 คนในเขตกรุงเทพฯ คาดหวังว่า เด็กจะได้ใช้เครื่องมือเป็น ต่อยอดการทำงานจิตอาสาในโรงเรียน เช่น การรณรงค์ประหยัดพลังงานในโรงเรียน การรักษาความสะอาดในคลอง เป็นต้น เมื่อเด็กๆ เข้ามาอบรม จะสามารถแชร์เรื่องราว และหวังว่าบล็อกนี้จะเป็นศูนย์รวมของเยาวชนที่ทำงานจิตอาสาในที่สุด
นางประไพ จริตเอก ครูโรงเรียนสายน้ำผึ้งในพระอุปถัมภ์ฯ กล่าวว่า โรงเรียนเริ่มต้นทำงานจิตอาสาในกิจกรรม
“1 โครงงาน 1 ความดีถวายในหลวง” เช่น ครูได้พาเด็กไปอบรมเรื่องการต่อต้านเอดส์ และเด็กๆ จะกลับมาคิดต่อว่าจะนำความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษา ยาเสพติดมารณรงค์ได้อย่างไรบ้าง และแตกยอดมาตั้งเป็น
“ส.น.จิตอาสา” (สายน้ำผึ้งจิตอาสา) ทำงานจิตอาสาในโรงพยาบาลเด็ก หรือการลงพื้นที่ช่วยเหลือคนในชุมชนต่างๆ ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา
“กิจกรรมจิตอาสาผ่านสื่อออนไลน์ เช่น น้องเห็นพี่ทำอะไรดีก็อยากไปทำเหมือนพี่ด้วย ชวนกันมาทำดี เด็กมีความสุขที่มีส่วนร่วมให้สังคม ครูก็พลอยมีความสุข นอก จากนี้ เด็กๆ ยังได้ทักษะและได้ในสิ่งที่เขาไม่มีในรั้วโรงเรียน เด็กๆ ได้เจอกับคนหลายรุ่นและร่วมกันแลกเปลี่ยนความดี” นางประไพ กล่าว
ด้าน
น.ส.วิภาวี ผุยนวล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนศรีอยุธยาในพระอุปถัมภ์ฯ หรือโบแบ เล่าว่า เริ่มต้นทำงานจิตอาสาตั้งแต่เรียนชั้นม.3 โดยมีแรงบันดาลใจจากคุณพ่อที่ชอบทำงานช่วยเหลือสังคม จนมีโอกาสเป็นไกด์มหกรรมพลังเยาวชน ออกค่ายจิตอาสาช่วยทำฝายกั้นน้ำ
“การมาอบรมเขียนบล็อก จะนำความรู้ที่ได้ไปสอนเพื่อน สร้างเครือข่ายต่อไปเรื่อยๆ ความรู้จะได้ไม่หยุดแค่เราคนเดียว การทำงานจิตอาสาโรงเรียนมีการบังคับ 20 ช.ม.ต่อปี เหมือนบังคับแต่เด็กที่ไม่เคยทำหากได้มาทำจริงๆ จะรู้สึกชอบ ติดใจไปเลย เมื่อก่อนเวลาใครทำอะไร หนูชอบมองโลกในแง่ร้าย เช่น เพื่อนไปช่วยครูก็รู้สึกว่าเขาอยากได้หน้า ได้คะแนน แต่ลองมองอีกด้าน เขาทำหน้าที่ของเขา การทำจิตอาสายังสร้างคุณค่าให้ตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง ได้รู้จักคนทำงานเพื่อสังคม ได้เพื่อนเพิ่มขึ้น และได้อย่างหนึ่งที่เงินหาซื้อไม่ได้ คือความสุข” น้องโบแบเล่าใบหน้าเปื้อนยิ้ม
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด