หนุนพลังจิตอาสาเด็ก เสริมพัฒนาการในสถานสงเคราะห์
ที่มา : มติชน
ภาพประกอบจาก สสส.
สสส. หนุนพลัง"จิตอาสา""เด็ก"เสริมพัฒนาการ-สร้างแรงบันดาลใจ ในสถานสงเคราะห์
นับตั้งแต่ปี 2561 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนมูลนิธิสุขภาพไทย และภาคี ริเริ่มโครงการพัฒนาแหล่ง (ศูนย์) เรียนรู้และส่งเสริมจิตอาสาเพื่อเด็กในสถานสงเคราะห์ ช่วงเวลา 2 ปี มีอาสาสมัครระยะสั้น รวม 347 คน เป็นชาย 63 คน หญิง 284 คน และมีอาสาสมัครระยะยาว 246 คน ซึ่งช่วยเสริมพัฒนาการ และสร้างแรงบันดาลใจ ให้เด็กใน 5 สถานสงเคราะห์นำร่อง ได้แก่ สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี สถานสงเคราะห์ เด็กอ่อนปากเกร็ด สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนรังสิต สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านเฟื่องฟ้า สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านนนทภูมิ และเตรียมขยายผลอีก 3 แห่ง
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการนำร่องศูนย์กลางในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้หน่วยงานและประชาชนที่สนใจ ร่วมกัน ส่งเสริมสนับสนุนงานอาสาสมัครเพื่อเด็ก รวมถึง เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ของคนทำงานอาสาเพื่อเด็ก ในการพัฒนาสุขภาวะและทักษะชีวิตที่เหมาะสมให้กับเด็ก เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กในสถานสงเคราะห์ผ่านจิตอาสาที่ทำงานอาสาสมัคร ซึ่งจะมีการขยายแนวความคิด ระบบกลไก และตัวอย่างงานอาสาสมัครในสถานสงเคราะห์ให้เป็นแบบอย่างและกระตุ้นให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมในงาน จิตอาสา โดยจะมีการขยายผลอีก 3 แห่ง คือ บ้านธัญพร บ้านมหาราช และสถานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กระยอง
ขณะที่ น.ส.นริศรา อารมณ์ชื่น หัวหน้าโครงการพัฒนาแหล่ง(ศูนย์) เรียนรู้ฯ กล่าวว่า อาสาสมัครระยะสั้น คือ ได้ร่วมดูแลเด็กๆ คนละ ประมาณ 4 – 6 เดือน ส่วนอาสาสมัครระยะยาว หมายถึง อาสาสมัครที่มุ่งมั่นทำงานต่อเนื่องในการดูแลเด็กๆ มากกว่าคนละ 5 – 7 เดือนขึ้นไป ซึ่งการมีอาสาสมัครเข้าไปทำหน้าที่ในสถานสงเคราะห์นั้น ถือเป็นทุนทางสังคมที่สำคัญมากต่อการพัฒนาระบบกลไกและเสริมพัฒนาการให้แก่เด็ก การทำงานอาสาสมัครที่สละแรงกายและแรงใจอย่างต่อเนื่อง ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเด็กที่มีพี่อาสาดูแลนั้นจะมีพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญาดียิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
การที่มีระบบอาสาสมัครเข้าไปทำหน้าที่ช่วยเสริมพัฒนาการให้แก่เด็กในสถานสงเคราะห์ จะเป็นลักษณะประกบตัวต่อตัวอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ต่อเด็ก 1 คน โดยในแต่ละครั้งใช้เวลานานประมาณ 3 ชั่วโมง ภายในเวลาประมาณ 1 – 2 เดือนหลังได้รับการดูแลแบบประกบตัวต่อตัวจากอาสาสมัคร สามารถทำให้เด็กมีพัฒนาการด้านอารมณ์ผ่านการยิ้ม รู้จักการเล่นร่วมกับผู้อื่นมากกว่าที่ผ่านมา และหากเด็กได้รับการดูแลจากอาสาสมัคร ร่วมกับระบบปกติอย่างต่อเนื่อง พบว่า เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนพัฒนาการพื้นฐาน ที่ดีขึ้นในทุกด้าน
น.ส.นริศรา บอกด้วยว่า ปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้ระบบอาสาสมัครดำเนินไปอย่างมีคุณภาพ ประกอบด้วย 1. การที่อาสาสมัครมีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่เหมาะสม คือ มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ใจเย็น จิตใจดี มีเวลาให้อย่างเต็มที่ เอาใจใส่ต่อหน้าที่ รักเด็ก มีความเข้าใจต่อบทบาทหน้าที่ของตนเอง มีทักษะและความรู้เพียงพอที่จะช่วยเสริมพัฒนาการให้แก่เด็กแต่ละวัย หรือในสภาพข้อจำกัดเฉพาะของเด็กที่ต้องดูแลอย่างเพียงพอ
สื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลกับบุคลากรของสถานสงเคราะห์/สถานคุ้มครองที่ดูแลเด็กคนนั้นอย่างสม่ำเสมอ และมีทัศนคติต่อเจ้าหน้าที่ในด้านบวก และ 2. ขั้นตอน การเป็นอาสาสมัคร คือ กรอกข้อมูลใบสมัคร พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชน รูปถ่าย และใบรับรองแพทย์ ผ่านการคัดกรองอาสาสมัคร หรือสัมภาษณ์ เพื่อประเมินวุฒิภาวะบุคลิกและลักษณะนิสัย เข้าร่วมการปฐมนิเทศ เพื่อเรียนรู้งาน ความต้องการของเด็ก และการเลี้ยงดูเด็ก รวมถึง ข้อควรปฏิบัติในการเป็นอาสาสมัคร เพื่อให้ได้บุคคลที่พร้อมสำหรับการดูแลเด็กในแต่ละวัย การเริ่มปฏิบัติงานอาสาสมัคร
โดยร่วมกิจกรรมกับเด็กอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละประมาณ 3 ชั่วโมงมาต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ 4 – 6 เดือน หรือจนกว่าเด็กจะพ้นจากสถานสงเคราะห์ การเข้าร่วมอบรมเสริมศักยภาพอาสาสมัคร เพื่อเสริมทักษะและความรู้สำหรับใช้ในการปฏิบัติหน้าที่อาสาสมัคร และประชุมสรุปบทเรียนการทำงานทุกๆ 1 – 2 เดือน เพื่อร่วมกันรับฟังผลสำเร็จวิธีการและปัญหาอุปสรรคในสิ่งที่ได้พบเห็นจากการปฏิบัติงานอาสาสมัคร
"การที่จะทำให้งานอาสาสมัครเป็นแหล่งศูนย์เรียนรู้และส่งเสริมจิตอาสาเพื่อเด็กในสถานสงเคราะห์ สิ่งที่ท้าทายและต้องก้าวต่อไป คือ ควรให้งานอาสมัครเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ (KPI) ของกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ (พก.) โดยมีระบบแรงจูงใจส่งเสริมให้ระบบงานอาสาสมัครเป็นส่วนหนึ่งของงานในสถานสงเคราะห์และสถานคุ้มครอง รวมถึง แต่งตั้งทีมผู้ประสานงานอาสาสมัครประจำบ้านทุกบ้าน และการส่งต่อข้อมูลพื้นฐานของเด็กให้อาสาสมัคร เพื่อการทำงานร่วมกันในการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก" น.ส.นริศรากล่าว