หนุนพลังคนรุ่นใหม่ แก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
แฟ้มภาพ
‘สาธิต’ หนุนพลังคนรุ่นใหม่แก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ห่วง! เด็ก-เยาวชน ตายจาก จยย. สูงถึง 1,850 ต่อปี พร้อมรับ 5 ข้อเสนอเยาวชนลดอุบัติเหตุ บรรจุเข้าหลักสูตรการศึกษา-ควบคุมโฆษณา-สร้างระบบขนส่ง-บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
วันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักดิ์ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา กรุงเทพฯ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 1 เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “สานพลังเครือข่ายเยาวชนลดอุบัติเหตุทางถนน” ภายในกิจกรรมสัมมนาวิชาการระดับชาติเรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 15 ซึ่งจัดโดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “พลังคนรุ่นใหม่กับการลดการเจ็บตายจากอุบัติเหตุทางถนน”
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตของเด็ก และเยาวชนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยข้อมูลระบบบูรณาการข้อมูลการเสียชีวิต จากอุบัติเหตุทางถนน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปี 2554 – 2563 ประเทศไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน สะสมสูงถึง 206,588 คน เฉลี่ย 20,659 คนต่อปี โดยอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่ง มีสัดส่วนการเสียชีวิตสูงถึง 73.59% หากเทียบกับประเทศอื่น ๆ อัตราการเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์ของคนไทยอยู่ที่ 24.3 คน ต่อแสนประชากร ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของโลก เฉพาะในปี 2563 ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิต จากอุบัติเหตุทางถนนต่อแสนประชากรอยู่ที่ 27.2% กลุ่มอายุที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์สูงสุดคือ กลุ่มอายุ 15-19 ปี และ 20-24 ปี โดยปีนี้กลุ่มอายุ 20-24 เสียชีวิต 1,850 คน สูงกว่ากลุ่มอายุ 15-19 ปี 48 คน
“ประเด็นสำคัญคือ กลุ่มอายุ 0-14 ปี นับรวมเด็กแรกเกิด และเด็กที่ยังไม่ถึงวัยที่สามารถทำใบขับขี่ได้ แต่กลับมีผู้เสียชีวิตรวมกันสูงถึง 797 คน ซึ่งน่าเป็นห่วง ผมเชื่อว่าพลังของคนรุ่นใหม่ คือพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหา หรือการคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ จะเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด เพราะคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ และผ่านการค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การขับเคลื่อนโดยสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ของภาคีเครือข่ายเด็กและเยาวชน จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน มีแนวโน้มลดลงไปได้” ดร.สาธิต กล่าว
ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ภายใต้การสนับสนุนโดย สสส. ได้สร้างกิจกรรมของคนรุ่นขับเคลื่อนพลังเยาวชน ในการลดอุบัติเหตุทางถนน อาทิ กิจกรรมเครือข่ายเยาวชน YOURS Network ที่ขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายความปลอดภัย ภายในสถานศึกษา หรือกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย และสถานศึกษาด้วยกันถึง 8 จังหวัด พื้นที่นำร่อง จ.ระยอง การลงนามความร่วมมือกับวิทยาลัยอาชีวศึกษา จำนวน 5 แห่ง โดยใช้แนวคิด “เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน” สิ่งเหล่านี้จะช่วยกันสร้างความรู้สึกร่วมกับแกนนำนักศึกษา ในการเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหานั้น ๆ และนำมาสู่การร่วมคิด ร่วมทำ เพื่อแก้ปัญหาต่อไป
นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวว่า ข้อเสนอเชิงนโยบาย จำนวน 4 ข้อ ในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน คือ 1. ส่งเสริมให้มีหลักสูตรหรือพัฒนาชุดการเรียนรู้ในระบบการศึกษา เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ตั้งแต่ระดับปฐมวัย 2. เร่งรัดการบังคับใช้กฎหมาย กำหนดมาตรฐานยานพาหนะ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ให้ติดตั้งอุปกรณ์ช่วยลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุ เช่น ระบบป้องกันล้อล็อคตายขณะเบรกฉุกเฉิน (ABS) หรือระบบความปลอดภัยก่อนการชนในรถยนต์ 3. กำกับดูแล และส่งเสริมสื่อโฆษณาสร้างสรรค์ เพื่อลดการใช้เนื้อหาโฆษณาความแรงของเครื่องยนต์ รวมถึงการรณรงค์เรื่องความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง
4. ส่งเสริมให้เกิดทางเลือกอื่นในการเดินทาง โดยเฉพาะการลดอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้า หรือระบบขนส่งมวลชนในประเทศให้สอดคล้องกับรายได้และทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ 5. สถาบันการศึกษา มีกลไกกำกับดูแล ส่งเสริมให้มีการสวมหมวกนิรภัยก่อนขับขี่หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ซึ่ง ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับทั้ง 5 ข้อเสนอจากกลุ่มเยาวชน เพื่อนำไปหารือและดำเนินการต่อไป