หนุนทักษะดูแลผู้ป่วยโรคไตที่บ้าน

ที่มา : เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


หนุนทักษะดูแลผู้ป่วยโรคไตที่บ้าน thaihealth


แฟ้มภาพ


“กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ” เร่งพัฒนาญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ให้เป็นอาสาสมัครประจำครอบครัว หรือ อสค.มีความรู้และทักษะสามารถดูแลผู้ป่วยที่บ้านได้อย่างถูกต้องทั้งเรื่องกินยา อาหาร ออกกำลังกายและจิตใจ  ตั้งเป้าปีนี้ 100,000 คน มุ่งหวังชะลอการเกิดไตเสื่อมให้ได้นานขึ้นถึง 14 ปีและลดป่วยรายใหม่ ระบุขณะนี้ไทยพบผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง 8 ล้านคน ในจำนวนนี้ไตวายระยะสุดท้ายต้องรักษาฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ล้างไตทางหน้าท้อง 2 แสนคน


นายแพทย์ภัทรพล  จึงสมเจตไพศาล รองโฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 9 มีนาคม 2560 เป็นวันไตโลก ซึ่งในประเทศไทยขณะนี้มีผู้ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่ต้องรักษาด้วยวิธีบำบัดทดแทนไต เช่น การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตทางช่องท้อง จำนวน 200,000 คน และมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 10,000 คน  ผู้ที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายนอกจากจะมีความทุกข์ทรมานแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายล้างไตเฉลี่ยเดือนละ 30,000 บาทต่อราย สมาคมโรคไตคาดว่าในปี 2560 นี้ อาจต้องใช้งบประมาณดูแลกว่า 17,000 ล้านบาท จึงต้องเร่งป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังกลายเป็นผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายให้ได้มากที่สุด 


นายแพทย์ภัทรพล กล่าวว่า ในส่วนของกรม สบส.ซึ่งมีบทบาทหลักในการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานเสริมความเข้มแข็งให้ประชาชนมีความรอบรู้ เข้าถึงข้อมูลและตัดสินใจในการประพฤติปฏิบัติตนได้ดี ได้ร่วมกับหน่วยงานกรมวิชาการทั้งในและต่างสังกัด เช่น สถาบันไตภูมิราชนครินทร์ สสส. มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน ดำเนินการพัฒนาอาสาสมัครประจำครอบครัวหรือ อสค. ซึ่งคัดเลือกมาจากลูกหลานญาติพี่น้องหรือสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรวมถึงเพื่อนบ้านหรือบุคคลที่ครอบครัวไว้วางใจให้มาเป็นผู้ดูแลสุขภาพของครอบครัว มาเรียนรู้และฝึกปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยและดูแลสุขภาพเพิ่มเติมร่วมกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ เพื่อเป็นเครือข่ายสุขภาพในระดับครัวเรือนตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข


ในปี 2560 นี้ตั้งเป้าพัฒนาจำนวน 100,000 คน มุ่งหวังเพื่อชะลอไตเสื่อมให้ได้นานที่สุด  นอกจากนี้ยังอบรมลูกหลานหรือญาติของผู้ป่วยอีก 2 กลุ่ม ได้แก่ ผู้สูงอายุติดเตียงและผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงรวมอีก 400,000 คนซึ่งจะช่วยป้องกันผู้ป่วยโรคไตรายใหม่ด้วย เนื่องจากทั้งโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง เป็นสาเหตุเกิดไตวายที่พบบ่อยในรายที่ควบคุมอาการไม่ดี


สำหรับการพัฒนา อสค.ดูแลผู้ป่วยโรคไตนี้  จะเน้นการเรียนรู้พร้อมการลงมือปฏิบัติให้เกิดเป็นทักษะตรง  โดยให้ความรู้เรื่องโรคไต การเกิดภาวะแทรกซ้อน การบำบัดรักษา การฟื้นฟูสภาพ และเรียนรู้วิธีการปฎิบัติดูแลสุขภาพทั้งช่วงปกติและช่วงฉุกเฉิน เช่นการออกกำลังกาย การบริหารสมอง ความจำ การดูแลสุขภาพจิต การเลือกอาหารที่ปลอดภัยและเหมาะกับโรค การกินยาตรงเวลา การเก็บยา การเติมยาที่ถูกวิธี  การพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ตามนัดและรู้วิธีการประเมินคนในครอบครัวว่าเป็นโรคไตหรือไม่ 


รวมทั้งให้ อสค.รู้วิธีการชะลอไตเสื่อม ซึ่งมี 8 ประการได้แก่ 1)ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท 2)ควบคุมน้ำตาลในเลือดให้ต่ำกว่า 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร 3)ดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว ยกเว้นในรายที่แพทย์สั่งจำกัดน้ำ ลดกินหวาน เค็ม โดยใน 1 วัน ไม่ควรกินน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา และไม่ควรใช้น้ำมันประกอบอาหารเกิน 6 ช้อนชา 4)หลีกเลี่ยงการกินยาแก้ปวดที่ส่งผลกระทบต่อไต เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มเอนเสด ยาชุดแก้ปวดหรือที่เรียกว่ายาซ่อมเส้น 5)ออกกำลังกายวันละ 30 นาที 6)งดดื่มสุราและงดสูบบุหรี่ 7)ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และ8)ควรพบหมอโรคไต ซึ่งกรม สบส.ได้จัดทำเป็นคู่มือให้ อสค.ไว้ใช้ที่บ้านด้วย


ทั้งนี้ผลการศึกษาของสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ที่ จ.กำแพงเพชร พบว่าหากผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังได้รับการดูแลตั้งแต่ระยะแรกๆในโรงพยาบาลชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ จะชะลอการเกิดโรคไตวายระยะสุดท้ายได้นานขึ้น จาก 7 ปี เป็น 14 ปี โดยกรม สบส.ตั้งเป้าหมายการพัฒนา อสค.ในระยะเวลา 5 ปีนี้จำนวน  4 ล้านคนทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา อบรมไปแล้ว 50.652 คน

Shares:
QR Code :
QR Code