หนุนจัดนักโภชนาการประจำชุมชน

          จากการที่รัฐบาลเพิ่มงบประมาณโครงการอาหารกลางวันศูนย์เด็กเล็ก จาก 13 บาท เป็น 20 บาท เมื่อปีงบประมาณ 2557 พบว่า ปัญหาหนึ่งในเรื่องการทำให้อาหารกลางวันของเด็กมีคุณภาพนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับงบฯ เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยที่สำคัญอื่นๆ โดยเฉพาะการวางแผนจัดทำเมนูอาหารให้กับเด็ก เพื่อให้ได้รับอาหารครบ 5 หมู่

/data/content/25281/cms/e_abcdkopstw39.jpg

          นายสง่า ดามาพงศ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้เหตุผลว่า แม้ในบางพื้นที่จะได้รับงบฯ เพิ่ม ยังไม่สามารถจัดอาหารได้ตามหลักโภชนาการ เช่น นำงบฯ เพิ่มสัดส่วนอาหารเพียงบางหมู่ ซึ่งต้องแก้ที่บุคลากรที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในส่วนนี้

          “โปรแกรมสำเร็จรูป ซึ่งผ่านการวิเคราะห์จากนักโภชนาการ สามารถใช้วางแผนได้ตั้งแต่การซื้อวัตถุดิบ ว่าต้องใช้เนื้อสัตว์เท่าไหร่ ข้าวเท่าไหร่ ผักอะไรบ้าง และจะมีรายการเมนูที่ทำให้เด็กได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่สลับกันไป ใช้วางแผนได้เป็นรายสัปดาห์ รายเดือน ซึ่งหากส่งเสริมให้ใช้โปรแกรมดังกล่าว นอกจากทำให้เด็กได้รับอาหารครบ 5 หมู่ ก็จะช่วยวางแผนงบฯ ดีขึ้นด้วย แต่ที่ไม่ใช้อย่างแพร่หลาย เพราะในพื้นที่ต่างๆ ยังมองว่าทำงานยาก แต่หากนำมาใช้จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง” นายสง่ากล่าว

           นายสง่ากล่าวว่า ปัจจุบันในหลายประเทศ ให้ความสำคัญกับนักโภชนาการที่ดูแลอาหารของเด็กโดยเฉพาะ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นหากต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก ซึ่งโภชนาการที่ดีจะช่วยให้ร่างกายเด็กเติบโตสมวัย และสมองมีพัฒนาการที่เหมาะสม โดยหากชุมชนให้ความสำคัญ จัดหานักโภชนาการประจำชุมชน นอกจากจะมีหน้าที่ดูแลเมนูของร.ร. ยังสามารถช่วยดูแลชุมชนได้อีกด้วย ดังนั้น การเพิ่มกำลังคนที่ดูแลเรื่องโภชนาการโดยเฉพาะ หรืออบรมให้ผู้ดูแลอาหาร ถือเป็นความจำเป็นอีกอย่างหนึ่ง ที่ต้องผลักดันให้ร.ร. ชุมชน เห็นความสำคัญ

 

           ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

           ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code