หนุนครูยุคใหม่ เป็นที่ปรึกษาทางใจ
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์
แฟ้มภาพ
ปัจจุบันเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเด็กในวัยเรียน มีความเสี่ยงในเรื่องสุขภาพจิต สาเหตุอาจมาจากความเครียดในการเรียน ปัญหาส่วนตัว หรือความผิดหวังต่าง ๆ ซึ่งหากไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้อง ก็อาจป่วยโรคซึมเศร้า หรือคิดทำร้ายตัวเอง ดังนั้นผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เช่น ครูแนะแนว ควรมีบทบาทในการให้คำปรึกษาเมื่อเด็กมีปัญหา โดยต้องฝึกฝนทักษะและสร้างความเชื่อใจระหว่างครูและนักเรียนให้มากขึ้น เพื่อช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤติในวัยเรียนไปได้
ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงกรณีมีเด็กและเยาวชนโทรปรึกษาสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิตเป็นจำนวนมาก และมีตัวเลขพุ่งสูงถึง 300% ซึ่งปัญหาที่โทรปรึกษาส่วนใหญ่เป็นความเครียดเรื่องเรียน ปัญหาครอบครัว และความรักว่า ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นปัญหาพื้นฐานทั่วไปของเด็กและเยาวชน ซึ่งเราต้องมองว่า เป็นเรื่องที่ดีที่เด็กเลือกที่จะโทรปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิตเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นผู้รู้จริงเชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา และดีกว่าที่เด็กจะหันไปปรึกษาเพื่อน หรือคนอื่นที่อาจแนะนำไปในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ทำความร่วมมือกับกรมสุขภาพจิตเรื่องการแก้ปัญหาวัยรุ่นวัยเรียน ดังนั้นประเด็นนี้จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กเลือกโทรปรึกษาสายด่วนมากขึ้น
“การที่เด็กโทรปรึกษาสายด่วนของกรมสุขภาพจิตเป็นจำนวนมากนั้น ผมมองว่าไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล และมองว่าเป็นข้อดีที่เด็กได้รับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยา ดังนั้นเมื่อเด็กโทรปรึกษาและได้รับคำตอบที่พึงพอใจจึงมีการบอกต่อเพื่อนๆ เกิดขึ้น เพราะไม่ต้องเห็นหน้าและไม่ต้องกลัวว่าความลับของตัวเองจะถูกเปิดเผย” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็ทำให้ สพฐ. ต้องหันกลับมามองครูแนะแนวใหม่ด้วยเช่นกัน ซึ่งต่อจากนี้ไปบทบาทครูแนะแนวจะต้องปรับทัศนคติใหม่ ทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่นและไว้วางใจ ในการขอคำปรึกษาจากครูแนะแนวได้ เป็นเหมือนเพื่อนคู่คิดของนักเรียนให้มากขึ้น เพื่อจะได้สร้างความเชื่อใจระหว่างครูและนักเรียนให้มากขึ้น