หนุนคนไทยบริโภคผัก ผลไม้ ลดภาวะโรคเรื้อรัง

การประชุมวิชาการแห่งชาติด้านอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพ ครั้งที่ 1 เรื่อง “ผักและผลไม้เพื่อความมั่นคงทางโภชนาการ” The 1st National Conference on Food and Nutrition for Health “Fruits and Vegetables for Nutrition Security”

เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2557 เวลา 9.00 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรกิจ นาฑีสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการแห่งชาติด้านอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพ ครั้งที่ 1 เรื่อง “ผักและผลไม้เพื่อความมั่นคงทางโภชนาการ” ณ ห้องบอลรูม 1 ชั้น 5 โรงแรมเอส 31 ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ

โดยสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดขึ้นเพื่อเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อโรคโภชนาการต่างๆ มีประเด็นที่สำคัญคือ การเพิ่มการบริโภคผักและผลไม้ในคนไทย ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นนักวิชาการด้านต่างๆ ทั้งด้านโภชนาการ การเกษตร วิทยาศาสตร์การอาหาร และด้านสุขภาพ ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์การพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) รวมทั้งสิ้น 320 คน  เข้าร่วมประชุม

รองศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ  จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานจัดการประชุมฯ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการประชุมนี้เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการที่เกี่ยวกับผักและผลไม้เพื่อสุขภาพที่เป็นปัจจุบันและเพื่อนำเสนอผลงานวิชาการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประยุกต์ความรู้ที่เป็นปัจจุบันในการปฏิบัติงานด้านอาหารและโภชนาการ ตลอดจนเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในหมู่นักวิชาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนางานด้านโภชนาการและอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับคนไทย โดยสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่าย ได้เล็งเห็นร่วมกันแล้วว่าการเพิ่มการบริโภคผักและผลไม้สามารถลดปัญหาที่มีผลกระทบต่อสุขภาพได้

“การจัดประชุมนี้นักวิชาการจะได้มีโอกาสนำเสนอองค์ความรู้ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidences base) ที่เกี่ยวกับประโยชน์ของผักและผลไม้ต่อสุขภาพรวมทั้งประยุกต์องค์ความรู้นั้นเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยทุกกลุ่มวัยให้ตระหนักถึงประโยชน์ของการบริโภคเพื่อสุขภาพและการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สามารถเข้าถึงแหล่งของผักและผลไม้ปลอดภัยส่งผลให้มีการเพิ่มปริมาณการบริโภคผักและผลไม้ในคนไทยให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดว่าควรบริโภคผักและผลไม้ 400 กรัมต่อวัน”

รองศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐกล่าวต่อไปว่า แม้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของความหลากหลายของผักและผลไม้ แต่จากการสำรวจสภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2546-2547 พบว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป เพศชายบริโภคผักและผลไม้ประมาณ 268 กรัมต่อวัน ขณะที่เพศหญิงบริโภคผักและผลไม้ประมาณ 283 กรัมต่อวัน และการบริโภคผักผลไม้ลดลงตามอายุ โดยในกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไปบริโภคน้อยที่สุด ประมาณ 200 กรัมต่อวัน

“นอกจากนี้ ข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552 จากการใช้เกณฑ์ความเพียงพอตามปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน พบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปร้อยละ 76.2 บริโภคผักเฉลี่ยต่อวันต่ำกว่าข้อแนะนำมาตรฐานที่ให้บริโภค วันละ 3 ส่วน และร้อยละ 71.8 บริโภคผลไม้เฉลี่ยต่อวันต่ำกว่าข้อแนะนำมาตรฐานที่ให้บริโภควันละ 2 ส่วน และแม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะมีการรณรงค์ให้คนไทยบริโภคผักและผลไม้มากขึ้น แต่จากรายงานโครงการศึกษาวิจัยแผนการลงทุนด้านสุขภาพในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) พบว่าคนไทยมากกว่าร้อยละ 75 บริโภคผักและผลไม้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน”

ทั้งนี้พฤติกรรมการบริโภคผักและผลไม้ของคนไทยในยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ จากอดีตที่วัฒนธรรมการบริโภคอาหารไทยที่มักมีผักโดยเฉพาะผักพื้นบ้านเป็นส่วนประกอบ คนไทยนิยมกินผักในรูปของผักเคียงจิ้มน้ำพริก และผักในแกงต่าง ๆ ได้เปลี่ยนไปเป็นการบริโภคอาหารจานด่วนที่ไม่มีผักเป็นส่วนประกอบหลัก ทำให้ขาดความสมดุลของสารอาหาร การบริโภคผักและผลไม้น้อยในคนไทยเป็นสาเหตุของภาระโรคในอันดับต้นๆก่อให้เกิดการสูญเสียทางสุขภาพ ส่งผลต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคมะเร็ง เป็นต้น

ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล กล่าวอีกว่า การศึกษาวิจัยจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าการบริโภคผักและผลไม้อย่างน้อย 400 กรัมต่อวันสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้ร้อยละ 33 และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้ร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับคนที่บริโภคผักและผลไม้น้อยกว่า  ดังนั้น การที่สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่าย จัดการประชุมวิชาการแห่งชาติด้านอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพ ครั้งที่ 1 เรื่อง “ผักและผลไม้เพื่อความมั่นคงทางโภชนาการ” ในครั้งนี้ จะช่วยสร้างแรงกระตุ้นและแนวคิดในการเพิ่มการบริโภคผักและผลไม้ในคนไทยได้อย่างปลอดภัยและมั่นคง

 

 

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

Shares:
QR Code :
QR Code