หนุนคนบ้านถ้ำผุดปลูกสมุนไพร

"สสส." หนุนชาวบ้านบ้านถ้ำผุดปลูกสมุนไพร ตามโครงการสมุนไพรสร้างสุขบ้านถ้ำผุด เน้น "ปลูกได้-กินง่าย-ขายดี" เพื่อทำให้คนในชุมชนใช้เป็นยารักษาโรคต่างๆ อีกทั้งสามารถขายสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง


หนุนคนบ้านถ้ำผุดปลูกสมุนไพร thaihealth


สมุนไพรถูกนำมาใช้เป็นยาและสิ่งบำรุงร่างกายมานานนับพันปี โดยที่สมุนไพรเหล่านี้ มีทั้งแบบนำมารับประทานสด หรือการนำมาต้มรับประทานแบบยาแผนโบราณ ในเรื่องนี้ นายเอื้อน เสนดำ หรือ "ลุงเอื้อน" ผู้ที่ใช้สมุนไพรในการรักษาโรคมะเร็ง ในพื้นที่หมู่ที่ 11 บ้านถ้ำผุด ต.ต้นยวน อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี เล่าให้ฟังว่า ตัวเองเคยป่วนเป็นมะเร็งที่ลิ้น หลังได้รับการผ่าตัด ก็มารักษาด้วยสมุนไพร ช่วงแรกต้องไปซื้อยาต้มสมุนไพร จากอ.อ่าวลึก ราคาห่อละ 1,000 บาท กินต่อเนื่องมา 6 ชุด แต่ภายหลังมาพบว่า มีหมอพื้นบ้านได้แนะนำให้กินใบทุเรียนน้ำ โดยนำมาต้มน้ำดื่ม ทำให้อาการดีขึ้นตามลำดับ


"ยังดื่มมาจนถึงทุกวันนี้ จึงมีความเชื่อมั่นในการรักษาแบบพื้นบ้าน และมาร่วมเป็นผู้ยืนยันถึงผลการรักษาด้วยยาสมุนไพร ทั้งยังเป็นต้นแบบในการปลูกพืชสมุนไพรเพื่อใช้ในครัวเรือนในโครงการสมุนไพรสร้างสุขบ้านถ้ำผุด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ)" ลุงเอื้อนระบุ


หนุนคนบ้านถ้ำผุดปลูกสมุนไพร thaihealthทางด้านนายสิทธิ คงเรือง ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการฯ เล่าถึงสถานการณ์ปัจจุบันของคนในชุมชนบ้านถ้ำผุดว่า มีความเสี่ยงทางด้านสุขภาพมากขึ้น ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนวัยทำงาน และกลุ่มเด็กเยาวชน โดยการเจ็บป่วยในกลุ่มผู้สูงอายุ มีการสำรวจข้อมูลจากอาสาสมัครด้านสุขภาพในชุมชนพบว่า กลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนป่วยเป็นโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้น เช่น โรคความดัน เบาหวาน หัวใจ ส่วนในกลุ่มคนวัยกลางคนและกลุ่มคนวัยทำงานพบว่า มีอาการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น เช่น อาการปวดเมื่อยตามข้อกระดูกปวดหลัง ภูมิแพ้ และในกลุ่มเด็กเยาวชนในพื้นที่พบว่า มีปัญหาสุขภาพในเรื่องโรคอ้วน ฟันผุ ปวดท้อง ท้องเสีย บางคนเป็นโรคกระเพาะ ซึ่งสาเหตุของปัญหาด้านสุขภาพส่วนใหญ่มาจาก "พฤติกรรมการบริโภค" และเมื่อมีอาการเจ็บป่วย ก็นิยมใช้ยาปฏิชีวะนะมารักษา ทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น


ผู้ใหญ่สิทธิ เล่าต่อว่า ตนและแกนนำในชุมชน จึงมีแนวคิดที่ต้องการให้ชุมชนบ้านถ้ำผุดตื่นตัวในเรื่องของสมุนไพร ทั้งเรื่องการปลูกและการใช้ประโยชน์จากสมุนไพร ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารเป็นยา หรือการรักษาสุขภาพเบื้องต้นด้วยสมุนไพร แทนการใช้ยาแผนปัจจุบัน ตลอดจนการนำสมุนไพร ทั้งสด หรือพัฒนาเพื่อแปรรูป ไปสู่การสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ที่สำคัญซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของบ้านถ้ำผุดคือการมีสภาพดินที่ดีมาก ทำให้สมุนไพรดั้งเดิมหลายชนิดมีคุณภาพที่ดี


ทั้งนี้มีการส่งสมุนไพรบางตัวของบ้านถ้ำผุดไปตรวจสอบคุณภาพ พบว่ามีเปอร์เซ็นต์สารที่เป็นตัวยาสูง โดยเฉพาะขมิ้นชัน ไพล ซึ่งมีปริมาณสูงเป็นอันดับ 1 ของแต่ละพื้นที่ที่นำไปส่งตรวจ นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากนายนบภา โสภา นายก อบต.ต้นยวน ที่สนับสนุนงบประมาณบางส่วนในการให้ชาวบ้านได้เรียนรู้วิธีการปลูกสมุนไพร ช่วยประสานกับเจ้าหน้าที่ เพิ่มความรู้ให้กับชาวบ้าน มีการแนะนำกลุ่มอาชีพมาช่วยจัดการเรื่องสมุนไพรในชุมชน เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชนหนุนคนบ้านถ้ำผุดปลูกสมุนไพร thaihealth


          เบื้องต้นมีการเชิญหน่วยงานต่างๆ เข้ามาให้ความรู้ด้านการใช้สมุนไพรให้กับชาวบ้าน เช่น รพ.สต.บ้านเขานาใน กลุ่มแปรรูปสมุนไพรบ้านเขานาใน ซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลกด้านสมุนไพร และชมรมแพทย์แผนไทยจ.สุราษฏร์ธานี เป็นต้น ทำให้เกิดการสร้างแกนนำการปลูกสมุนไพร เพาะสมุนไพรใส่ถุงดำ เพื่อที่จะแจกจ่ายไปยังบ้านเรือนต่างๆ ถือเป็นมุมมองใหม่ๆ ของชุมชน ที่จะหันมาปลูกสมุนไพรถุงดำ ง่ายต่อการแจกจ่ายและแลกเปลี่ยนกัน อีกทั้งมีการสร้างข้อตกลงกันในชุมชนว่า "แต่ละบ้าน" จะต้องปลูกพืชสมุนไพรอย่างน้อย 5 ชนิด โดยมีภาคีของโครงการที่เป็นแพทย์แผนไทย รพ.สต. จะเข้ามาเสริมความรู้สมุนไพร และจะมีการทำแผนผังสมุนไพรในชุมชนด้วย นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มสมุนไพรในพื้นที่ใกล้เคียง ที่มีการแปรรูปยาสมุนไพรที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ต้องการที่จะให้ชุมชนบ้านถ้ำผุดเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบสมุนไพรที่ส่งเข้าไปยังศูนย์ และยังช่วยแนะนำการแปรรูปสมุนไพรเพื่อใช้ในชุมชนด้วย.


 


 


ที่มา: เว็บไซต์เดลินิวส์ 


ภาพประกอบจากเว็บไซต์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code