หนุนขึ้นภาษีสินค้าอันตราย เหล้า-บุหรี่-น้ำอัดลม
องค์กรด้านสุขภาพ หนุนขึ้นภาษีสินค้าอันตราย ทั้งเหล้า บุหรี่ น้ำอัดลม ชี้ประเทศจะได้ทั้งสุขภาพและเม็ดเงินภาษี เสนอสังคมจับตาดูความจริงใจของรัฐบาล
จากแนวคิดในการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตสินค้าบาปและสินค้าฟุ่มเฟือยเพื่อทดแทนรายได้ของรัฐจากภาษีน้ำมันนั้น น.พ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า ในฐานะคนทำงานด้านสุขภาพต้องขอสนับสนุนแนวคิดของรัฐบาลในการปรับขึ้นภาษี สินค้าบาปที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ องค์การอนามัยโลกได้รายงานว่าการปรับขึ้นภาษีเหล้าและบุหรี่เป็นแนวทางที่ถือว่ารัฐควรดำเนินการที่สุดในการจัดการปัญหาสุขภาพที่ทวีความรุนแรง โดยเฉพาะกับเยาวชน ซึ่งมีปัญหาตามมามากมาย ในส่วนของภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น รัฐบาลควรให้ความสนใจกับการปรับขึ้นภาษีโดยรวม และการลดความแตกต่างของอัตราภาษีระหว่างเครื่องดื่มประเภทต่างๆ รวมถึงการปรับฐานภาษีตามมูลค่ามาใช้ราคาขายปลีก ข้อจำกัดประการหนึ่งคืออัตราภาษีในปัจจุบันเต็มเพดานในหลายประเภท ซึ่งอาจจะต้องขยายเพดานก่อนปรับอัตราจริง รัฐบาลไม่ควรกังวลว่าการขึ้นภาษีสินค้าบาปเหล่านี้จะเป็นการเพิ่มภาระการครองชีพของประชาชน เพราะงานวิชาการชี้ให้เห็นว่าการขึ้นภาษีจะมีผลกระทบกับประชาชนจำนวนไม่มากนัก และในภาพรวมการลดการบริโภคสินค้าบาปจะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ และจะทำให้เยาวชนเข้าถึงได้ยากขึ้น หรือดื่มน้อยลง เพราะมีเงินจำกัด ขอเรียกร้องให้สังคม ทั้งภาควิชาการและภาคประชาชนช่วยจับตาดูความจริงใจของรัฐบาลในการใช้ระบบภาษีเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนไทย”
ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า “ข้อมูลวิชาการสามารถยืนยันให้เห็นว่า จากประสบการณ์ของประเทศไทยนั้น การขึ้นภาษีบุหรี่เป็นสถานการณ์ที่รัฐมีแต่ได้กับได้ กล่าวคือได้ทั้งการปกป้องสุขภาพคนไทย ในขณะที่รัฐบาลจะได้เม็ดเงินภาษีเพิ่มมากขึ้นด้วย ในส่วนของการควบคุมยาสูบนั้น อยากให้รัฐบาลสนใจภาษีของยาเส้น ซึ่งในปัจจุบันถูกจัดเก็บในอัตราภาษีที่ต่ำมาก หรือถูกยกเว้นในบางประเภทด้วยซ้ำ ส่งผลให้ยาเส้นมีราคาต่ำมาก นอกจากนั้นรัฐบาลควรปรับขึ้นภาษีบุหรี่ในอัตราที่สูงกว่าค่าเงินเฟ้อ ซึ่งจะเป็นกลไกลดแรงจูงใจกระตุ้นการสูบบุหรี่ ในช่วงที่ผ่านมาราคาที่แท้จริงของบุหรี่ถูกลง เมื่อเทียบกับภาวะเงินเฟ้อ และยังพบปรากฏการณ์ที่ผู้ผลิตบุหรี่สามารถนำบุหรี่ราคาถูกมาทำการตลาดในประเทศไทยได้”
ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ผู้จัดการแผนงานรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูงแต่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ เป็นมาตรการที่องค์การอนามัยโลกระบุว่ามีความคุ้มค่าสูงในการ จัดการ ทั้งปัญหาโรคอ้วนและวิกฤติโรคเรื้อรัง งานวิจัยของนักวิชาการมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ซึ่งตีพิมพ์ในสัปดาห์ที่แล้วยืนยันให้เห็นว่า การขึ้นภาษีเครื่องดื่มรสหวาน เป็นมาตรการที่มีประสิทธิผลและคุ่มค่าที่สุดในการจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินในเด็ก ปัจจุบันหลายประเทศได้เริ่มจัดเก็บและขยายภาษีในอาหารและเครื่องดื่มที่มีผลกระทบทางสุขภาพ ในปัจจุบันระบบภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มของไทย เครื่องดื่มรสหวานกลับถูกเก็บภาษีถูกกว่า ตรงกันข้ามกับลักษณะที่ควรเป็น
ที่มา: หนังสือพิมพ์ astv ผู้จัดการ