หนึ่งสัปดาห์หลังวันงดสูบหรี่โลก พบผู้สูบลดลง 110,000 คนต่อปี
สูบลดลงในทุกกลุ่มอายุ รวมทั้งกลุ่มวัยรุ่น
กระแสตอบรับของฝ่ายต่างๆ ในสังคมไทยต่อวันงดสูบบุหรี่โลกที่เพิ่งผ่านพ้นไป เป็นไปอย่างกว้างขวางและคึกคัก
ปีนี้เป็นปีที่ 20 นับตั้งแต่องค์การอนามัยโลก กำหนดให้มีวันงดสูบบุหรี่โลกขึ้นในวันที่ 31 พฤษภาคม 2531 คำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลก 2550 ที่แปลเป็นไทยว่า “ไร้ควันบุหรี่ สิ่งแวดล้อมดี ชีวีสดใส” นับเป็นครั้งที่สี่ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดคำขวัญรณรงค์เกี่ยวกับเขตปลอดบุหรี่ อันแสดงถึงความสำคัญของเรื่องนี้ เพียงแต่ปีนี้เรียกร้องให้ทุกที่ปลอดบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ได้จัดเสวนาสถานที่ที่จัดเขตปลอดบุหรี่ได้ดี เป็นต้นแบบ ทั้งห้างร้าน โรงเรียน โรงพยาบาล หน่วยงานใหญ่ขนาดกองทัพเรือ จนถึงจังหวัดมุกดาหารทั้งจังหวัด ว่าเขาทำให้หน่วยงานของเขาปลอดบุหรี่ได้อย่างไร
กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขได้ทำพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่หน่วยงานราชการกระทรวงต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการจัดเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย
ขณะที่ทีวีและวิทยุออกสปอตรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ในบ้าน เพื่อสื่อประเด็นบ้านและทุกที่ต้องปลอดบุหรี่
การสำรวจพบว่าประชาชนร้อยละ 80 สนับสนุนการที่จะออกกฎหมายให้ตลาดนัดจตุจักรปลอดบุหรี่ รวมถึงคนที่ไปเที่ยวผับ บาร์ส่วนใหญ่ก็สนับสนุนที่จะให้ผับบาร์ปลอดบุหรี่
นอกจากความตื่นตัวเรื่องเขตปลอดบุหรี่แล้วดัชนีหลายๆ ตัวยังบ่งชี้ว่า การควบคุม ยาสูบเดินสู่ทิศทางที่ดีขึ้น จำนวนผู้สูบบุหรี่ ประจำลดลงเหลือ 9.5 ล้านคน อันเป็นจำนวนผู้สูบบุหรี่ไทยที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ พ.ศ.2529 ที่มีที่ผู้สูบ 10.3 ล้านคน แต่หากจะเปรียบเทียบกับสถิติในปีที่รัฐบาลไทยเริ่มมีมาตรการทางกฎหมายต่างๆ เพื่อการควบคุมยาสูบอย่างจริงจัง ระหว่าง พ.ศ.2534 ถึง พ.ศ.2549 พบว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่ไทยลดลง 110,000 คนต่อปี และอัตราการสูบบุหรี่ลดลงในทุกกลุ่มอายุ รวมทั้งกลุ่มวัยรุ่น
สถิติในปี พ.ศ.2549 ยังพบว่าเฉลี่ยจำนวนมวนบุหรี่ที่สูบต่อวันลดลง ยอดขายบุหรี่ลดลง แม้ผู้สูบบุหรี่เอง ก็เห็นด้วยกับมาตรการ ห้ามตั้งซองบุหรี่ ณ จุดขาย และคำเตือนรูปภาพบนซองบุหรี่มีผลทำให้ผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่สูบน้อยลง ภาระโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ตกลงมาอยู่ที่อันดับสาม จากที่เดิมอยู่ที่อันดับที่สองในปี พ.ศ.2542
ประเด็นที่ยังน่าเป็นห่วงคือ เปอร์เซ็นต์ การสูบบุหรี่ภายในบ้านขณะสมาชิกอยู่ในบ้านด้วยของคนไทยยังสูบถึง 85 เปอร์เซ็นต์ และมีคนไทยถึง 16 ล้านคน ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง ที่บ้านในจำนวนนี้ 5.6 ล้านคน เป็นเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี
ในอเมริกา อัตราการสูบบุหรี่ในบ้านอยู่ที่ร้อยละ 30 โดย ร้อยละ 70 ของบ้าน ห้ามสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งพบว่านักเรียนไทยอายุ 13-15 ปี ร้อยละ 49 ได้รับควันบุหรี่มือสองในสถานที่สาธารณะ ในขณะที่การวัดระดับควันพิษจากบุหรี่ในผับบาร์ 150 แห่งที่วัยรุ่นชอบไปเที่ยวอยู่ในระดับที่สูงจนน่าตกใจ คือสูงกว่าระดับมาตรฐานที่ปลอดภัยถึง 35 เท่า
การสำรวจยังพบว่า วัยรุ่นหญิงมีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นและอายุการติดบุหรี่ของหญิงไทยลดลงเหลือ 19 ปีเศษ จากเดิมที่อายุ 21 ปี
ขณะที่บริษัทบุหรี่ต่างประเทศกำลังวางแผนทำตลาดบุหรี่เพศหญิงในไทยใหม่ โดยการขออนุญาตนำเข้าบุหรี่ที่ผลิตสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะหลายยี่ห้อ
ข่าวดีก็คือ องค์การอนามัยโลกเลือกกรุงเทพเป็นสถานที่จัดประชุมใหญ่เป็นประเทศคู่อนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบครั้งที่สอง โดยเป็นครั้งแรกที่จัดนอกกรุงเจนีวา ต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ จะมีสมาชิก 142 ประเทศส่งผู้แทนรวมเกือบพันคนมาร่วมประชุม เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามมาตรการต่างๆ ในการควบคุมยาสูบตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญา
เป็นโอกาสที่ผู้แทนสมาชิกปะเทศต่างๆ จะได้มาเห็นด้วยตาตนเอง ถึงรูปธรรมการควบคุมยาสูบของไทยที่เป็นที่กล่าวขานกันในเวทีต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งในภาพรวมกล่าวได้ว่าประเทศไทยได้ดำเนินการตามรายละเอียดส่วนใหญ่ที่ระบุไว้ในอนุสัญญาควบคุมยาสูบแล้ว เช่น มาตรการทางภาษี การห้ามโฆษณา การพิมพ์คำเตือน การห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ
สิ่งที่อยู่ในแผนที่กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการผลักดันต่อไปคือการออกประกาศสถานที่ห้ามสูบบุหรี่เพิ่มเติม เช่นตลาดทั่วประเทศ เปลี่ยนสถานะสถานที่สาธารณะที่ยังอนุญาตให้สูบบุหรี่ได้ในที่ที่จัดไว้เป็นห้ามสูบบุหรี่ทั้งหมด เช่น โรงพยาบาลทั่วประเทศ การห้ามสูบบุหรี่ในผับบาร์ โดยให้มีเวลาเตรียมตัวพอสมควร การบรรจุยาอดบุหรี่เข้าบัญชียาที่เบิกได้ การพิมพ์หมายเลขให้คำปรึกษาเพื่อเลิกสูบบุหรี่ไว้บนซองบุหรี่การยกเลิกการขายบุหรี่ปลอดภาษี การแก้กฎหมายให้ผู้ที่ซื้อบุหรี่ต้องแสดงหลักฐานว่าอายุเกิน 18 ปี ตลอดจนการแก้เพดานภาษีบุหรี่เพื่อให้ขึ้นภาษีได้
พร้อมๆ กับการทำให้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะมีผลบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพไปทั่วประเทศ และการรณรงค์ให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ที่คนไทยไม่สูบบุหรี่ในบ้าน
แต่ความสำเร็จในการคุ้มครองสุขภาพของคนที่ไม่สูบบุหรี่ ไม่ใช่จะฝากความหวังอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น แต่อยู่ที่ผู้สูบบุหรี่ทุกคนที่จะเคารพกฎหมายและสิทธิของผู้ไม่สูบบุหรี่ และความรักและความห่วงใยคนใกล้ชิดในครอบครัว ที่จะไม่สูบบุหรี่ในที่สาธารณะที่ทำงานและในบ้าน
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
Update:23-07-51