"หนึ่งชุมชน หนึ่งศูนย์เรียนรู้"

กุญแจสำคัญ สร้างชุมชนเข้มแข็ง

 "หนึ่งชุมชน หนึ่งศูนย์เรียนรู้"

          แม้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 จะเขียนรองรับให้ประชาชนชาวไทยได้รับสวัสดิการและการคุ้มครองจากรัฐอย่างเสมอภาคกัน โดยให้หลักประกันว่าจะคุ้มครองในฐานะพลเมืองนับตั้งแต่ “อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน” มีหลักประกันทางการศึกษาที่เขียนไว้ในมาตรา 49 ระบุว่า ให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 12 ปี ทั้งนี้ต้องเป็นไปอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังมีหลักประกันสิทธิอีกเป็นอันมาก โดยมีเจตนารมณ์เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับสังคมไทย อาทิ สิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิในที่อยู่อาศัย สิทธิในการพิทักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น ฯลฯ ข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่พยายามกรุยทางสร้างสังคมแห่งความสุข ทว่าหลักประกันอันสวยหรูนี้ ใช่ว่าจะสามารถปฏิบัติได้จริง 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะสภาพปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้ ทั้งปัญหาประชาชนด้อยการศึกษา ยาเสพติดระบาดหนักเด็ก-เยาวชนติดเกมออนไลน์ ครอบครัวแตกแยก เป็นต้น เป็นปัญหาที่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามเร่งแก้ไข

 

          แนวทางหนึ่งที่จะเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาสังคม จึงควรมองที่ตัวปัญหาอันแท้จริงนั่นคือ “ครอบครัว” โดยมุ่งเน้นมองสภาพปัญหาจาก “ชุมชน” เป็นตัวตั้ง นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างการเรียนและสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบทางเลือก และเปิดเผยว่า “จากที่ได้เฝ้ามองสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งปัญหาการไร้การศึกษา ที่มีงานวิจัยระบุว่าคนไทยอ่านหนังสือเพียงปีละ 7 บรรทัด อีกทั้งประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงการบริหารสาธารณสุขอย่างเพียงพอ แม้จะหน่วยงานที่เฝ้าดูแลในด้านนี้อยู่แล้ว ทว่าผู้คนส่วนใหญ่ในหลายพื้นที่ก็ไร้การเหลียวแลไม่เพียงเท่านั้นปัญหาที่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่และถือเป็นต้นธารของปัญหาในอนาคตนั่นคือ ปัญหาที่เกิดขึ้นในเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นการเสพสื่อลามก การมีเซ็กส์ก่อนวัยอันควร มั่วสุม เป็นต้น มีข้อมูลจากโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด(Child Watch)ของสถาบันรามจิตติที่ติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชน 76 จังหวัดทั่วประเทศ ในช่วงปี 2548-2549 พบว่าเด็กวัยมัธยมถึงอุดมศึกษาดื่มเหล้าและสูบบุหรี่เป็นครั้งคราวถึงประจำในอัตราที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 38.33 และ 17.24 และพบว่าดูซีดีโป๊เป็นครั้งแรก 39.27 ดูเป็นประจำ 27.32 ส่วนดูเว็บโป๊สูงสุด ร้อยละ 49.67 นอกจากนี้ยังพบอีกว่าเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีถูกละเมิดทางเพศจำนวน 31.32 คนต่อประชากรแสนคนหรือราว 5,300 คนต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 15 คน

 

          ปรากฏการณ์เช่นนี้ทางออกและทางแก้ไข คือ ความร่วมมือจากครอบครัวผ่านกระบวนการของการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ดังนั้น สสส. จึงมีแนวคิดที่จะสร้างศูนย์การเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในชุมชน โดยมองว่าในประเทศไทยมี 76,000 หมู่บ้าน หากชุมชนสร้างชมรมรักการอ่านให้เกิดขึ้นในทุกหมู่บ้านก็จะเป็นใบเบิกทางให้คนในหมู่บ้านมีจุดสนใจในการอ่านหนังสือมากขึ้น นอกจากนี้ “ศูนย์เรียนรู้ภายในชุมชน” ควรเกิดขึ้นจากการผสานใจของคนในชุมชนนั้น ๆ ผ่านการระดมสมองเพื่อให้เป็นศูนย์กลางของชุมชนอย่างแท้จริง โดยอาจจะเป็นเหมือนศาลาประชาคมที่เกิดขึ้นจากความต้องการของคนในชุมชนเอง ทั้งนี้เพื่อให้เป็นแหล่งรวมแนวความคิดของคนในชุมชนที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาแบบชาวบ้าน

 

          ตามปกติในแต่ละชุมชนจะมีการรวมตัวกันอยู่แล้ว แต่เป็นการรวมตัวกันแบบหลวมๆ หากสามารถทำให้คนในชุมชนรวมเป็นเนื้อเดียวกันเพื่อคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาร่วมกันจะทำให้ชุมชนนั้นๆ เป็นปึกแผ่นมากขึ้น โดยแนวคิดนี้ สสส. ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นผ่านภาคีเครือข่ายของ สสส.ที่มีอยู่กว่า 500 เครือข่ายทั่วประเทศก่อน แต่การผลักดันก็ต้องคำนึงถึงความต้องการของชุมชนเป็นหลัก ซึ่งจะเรียกว่า “หนึ่งชุมชน หนึ่งศูนย์เรียนรู้” “เมื่อมีชุมชนต้นแบบแล้ว หากชุมชนอื่นเห็นว่าเป็นเรื่องดีก็สามารถเดินตามรอยได้ โดยกระบวนในลักษณะนี้สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นทั้งชุมชนเมืองและชุมชนชนบท เหตุที่เราต้องขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาผ่านชุมชนนั้น เพราะคิดว่า ไม่มีใครรู้ปัญหาดีเท่ากับคนในครอบครัว หรือชุมชนนั้น ๆ เพียงแต่ห้วงระยะเวลาที่ผ่านมาคนในชุมชนไม่มีปากมีเสียงไม่ได้ลุกขึ้นมารวมตัวกันแล้วระดมสมองแก้ไขปัญหาเท่าที่ควร แต่คราวนี้ศูนย์เรียนรู้จะเป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาของวัยรุ่น เยาวชน คนในครอบครัว ในลักษณะการพึ่งพาตัวเอง เพราะในแต่ละศูนย์ฯ จะมีห้องสมุดระดับหมู่บ้าน มีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมของคนในชุมชน ที่เน้นให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของเยาวชนและคนทุกระดับ

 

          หากสามารถสร้างศูนย์เรียนรู้ในระดับหมู่บ้านได้ อาจจะขยายเป็นศูนย์เรียนรู้ระดับตำบลที่มีประชากรเพิ่มขึ้นถือเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมในระดับตำบลที่ควรเน้นการส่งเสริมให้ทุกตำบลมีศูนย์ศิลปะ ศูนย์กีฬา พิพิธภัณฑ์ สวนพฤกษศาสตร์ ใน 7,600 ตำบล ให้เป็น “หนึ่งตำบล หนึ่งศูนย์เรียนรู้” หรือถ้าเป็นไปได้ก็สามารถขยายไปในระดับอำเภอ หรือจังหวัดต่อไปทั้งนี้ “นางเพ็ญพรรณ” ยังมั่นใจว่า การขับเคลื่อนผ่านการแก้ไขปัญหาผ่านศูนย์เรียนรู้ชุมชนจะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขทุกปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะการแก้ไขปัญหาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเอง ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคม เป็นเพียงพี่เลี้ยงหรือที่ปรึกษา ซึ่งคาดว่า เราจะสามารถผลักดันให้เป็นรูปธรรมภายใน 1-2 ปีนี้ เมื่อสังคมสามารถพึงพาตัวเองได้ ชุมชนมีความเข้มแข็ง ทุกคนของชุมชนก็จะมีสุขภาวะที่ดี

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

ภาพประกอบ : หนังสือรายงานประจำปี 2549 กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

 

 

 

 

Update : 25-08-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code