หนังสือ ‘ฝึกอ่าน’ ตามระดับ ชุด ‘อ่าน อาน อ๊าน’

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ภาพประกอบจากแฟนเพจอ่าน อาน อ๊าน


หนังสือ 'ฝึกอ่าน' ตามระดับ ชุด 'อ่าน อาน อ๊าน' thaihealth


วิกฤติการอ่านหนังสือของเด็กไทยกำลังเป็นที่น่าวิตก การศึกษาปฐมวัย โดยสสส.จึงนำปฏิบัติการนวัตกรรมการอ่าน "หนังสือฝึกอ่านตามระดับ – Thai Reading Tree ชุด อ่าน อาน อ๊าน" เพื่อเด็กช่วงวัย 3-7 ปี ประมวลความรู้จากหนังสือชุด Oxford Reading Tree เครื่องมือสำหรับพัฒนาทักษะภาษาของเด็กอังกฤษ มาใช้ปลดล็อกวิกฤติพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กไทย ซึ่งหลายเสียงยืนยันความสำเร็จที่วัดผลได้ประจักษ์ชัด


นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระบวนการพัฒนาสมองเด็กด้วยหนังสือที่มีคำประกอบภาพ จะช่วยพัฒนาการด้านภาษา ควบคู่กับสติปัญญา พร้อมกับปลูกฝังด้านคุณธรรมและจริยธรรมให้กับเด็กได้ เปรียบเหมือนตัวปลดล็อกที่ทรงพลังมหาศาล เพราะหนังสือประเภท Leveled Book หรือหนังสือฝึกอ่านตามระดับความสามารถแบบนี้ ได้ทลายกำแพงของความเชื่อเดิม มันท้าทายให้เด็กอยากอ่าน มีการผูกเรื่องราว เด็ก ๆ สนุก อยากอ่านซ้ำ ๆ เป็นบันไดการอ่านที่ทำให้เด็ก ๆ เรียนรู้เรื่องชีวิต เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและเรื่องราวรอบตัว ทั้งยังช่วยสานสัมพันธ์ในครอบครัว และทำให้ครูมีมิติในการพูดคุยกับเด็กได้มากขึ้น


สุดใจ พรหมเกิด ผู้อำนวยการโครงการฯ และ ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน (สสส.) กล่าวว่า หลังจากใช้เวลาพัฒนากว่า 2 ปี และได้นำชุดหนังสือนี้ไปทดลองใช้ในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พบว่าคุณครูมีความรู้ ความเข้าใจในการใช้หนังสือเพื่อพัฒนาทักษะการอ่าน และพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของเด็กมากขึ้น เด็ก ๆ เองมีความสุขจากการอ่านหนังสือได้ด้วยตัวเองมากขึ้น


หนังสือ 'ฝึกอ่าน' ตามระดับ ชุด 'อ่าน อาน อ๊าน' thaihealth


ระพีพรรณ พัฒนาเวช ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า หนังสือชุดนี้ต้องการให้เด็กรักการอ่านและพัฒนาทักษะการอ่าน จึงสร้างสรรค์หนังสือภาพตามพัฒนาการเด็กที่มีพื้นเรื่องเห็นได้ในชีวิตประจำวันทั่วไป ทั้งครอบครัว สิ่งแวดล้อมที่ตัวเด็กคุ้นเคย และใส่ความเป็นไทยเข้าไป พร้อมเพิ่มเทคนิคการ์ตูนในภาพเพื่อสื่อให้เห็นอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครในเรื่อง ทำให้เด็กมีส่วนร่วมได้ง่าย ส่วนภาษาที่ใช้ในหนังสือต้องมีความพอดี มีความเป็นวรรณกรรม และหลักภาษาตามบัญชีคำพื้นฐานระดับต่าง ๆ ที่เด็กไทยคุ้นเคย โดยต้องใส่ตัวช่วยและความท้าทายเข้าไป ซึ่งแตกต่างจากนิทานอย่างชัดเจน


ลัยลา สะอิมิ ครูโรงเรียนเทศบาลเทพราชบุรีรมย์ กล่าวว่า หลังจากเด็กได้อ่านหนังสือชุดนี้ ได้เห็นความพยายามของเด็กที่จะเข้าถึงหนังสือ มีความสุขกับหนังสืออย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกับ ธัญวาเรส จำปานิล ครูโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล ที่เห็นพฤติกรรมเด็กเปลี่ยนไป มีความตื่นเต้นทุกครั้งที่มีโอกาสเลือกหนังสือที่เขาอยากฟังด้วยตัวเอง ทำให้เด็กรู้สึกมีส่วนร่วมกับหนังสือมากขึ้น ขณะที่ไพลิน นวลนก ครูศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนพิทักษา ที่บอกว่านวัตกรรมการอ่านแบบนี้ว่าจะทำให้เด็กเริ่มรักที่จะเรียนรู้ อยากจะอ่านเล่มต่อไป และพัฒนาไปสู่วิถีรักการอ่านโดยอัตโนมัติ

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ