หนังสือรวมเรื่องสั้นว่า “ปัน”
เมื่อตัวหนังสือเดินทางมาสู่เส้นทางจิตอาสา ตัวหนังสือจึงกลายเป็นสื่อกลางเพื่อบอกเล่าเรื่องราวมาแบ่งปัน ทั้งจากการเรียนรู้จักตัวเองในเรื่องจิตอาสา การมีจิตอาสาภายนอกแต่ลืมจิตอาสาภายใน จิตอาสาจริงกับจิตอาสาปลอม และผลของความไม่สำนึกต่อปัญหาสังคม
ซึ่งนี่เป็นเรื่องราวจิตอาสาที่ถูกสะท้อนออกมาด้วยพลังของเด็ก เยาวชน และนักเขียนมืออาชีพ ใน”โครงการนักผลิตสื่อและสื่อสารสุขภาวะรุ่นใหม่ (เด็กเฮ้ว โปรเจ็กต์)” ด้วยสื่อเรื่องสั้นจิตอาสา สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ, ชมรมเยาวชนคนสร้างหนังแห่งประเทศไทย, มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน ร่วมกับปิ๊งส์, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, เครือข่ายองค์กรงดเหล้า, สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, กองทุนศรีบูรพา, มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่, สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย และกลุ่มพลังแห่งต้นกล้า ซึ่งจากการประกวดนั้นมีผลงานเขียนออกมา 25 เรื่อง ภาพวาด 25 เรื่อง ซึ่งทุกเรื่องล้วนได้ถ่ายทอดเรื่องราว ที่เป็น “จิตอาสา” ในรูปแบบต่างๆ เอาไว้ได้อย่างน่าสนใจทั้งสิ้น
และเพื่อเป็นการต่อยอดผลงานจึงได้มีการนำเรื่องเขียนที่น่าสนใจ มาจัดพิมพ์เป็นรวมเล่มภายใต้ชื่อ หนังสือรวมเรื่องสั้นว่า “ปัน” โดยในครั้งนี้ได้ ไพลิน รุ้งรัตน์ มาเป็นบรรณาธิการ โดยได้เขียนไว้ในหนังสือว่า…
เมื่อจิตอาสาต้องการวรรณศิลป์ในการสร้างพลัง
หลายครั้งที่ตัวหนังสือของนักเขียนทำให้เราเข้าใจโลกและชีวิตกระจ่างแจ้งขึ้น บางครั้งก็ในทันทีที่ได้อ่าน บางครั้งก็อาศัยเวลาการเติบโตของผู้อ่าน และบริบททางสังคมเข้าประกอบก่อน แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ผลงานวรรณกรรมที่มีวรรณศิลป์ลึกซึ้งย่อมมีโอกาสเข้าถึงนักอ่านได้เร็วขึ้น เพราะงานวรรณกรรมผ่านการปรุงแต่งทางอารมณ์ ผ่านการเรียนรู้เรื่องภาษา เพื่อส่งเนื้อหาอันเป็นสารสำคัญที่สุดให้ถึงผู้อ่านได้มากที่สุด ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้
นั่นเป็นที่มาของการจัดทำโครงการใช้ตัวหนังสือเป็นสื่อเพื่อสร้างพลังจิตอาสาของเยาวชน ในชื่อโครงการว่า โครงการเด็กเฮ้ว-เยาวชนสร้างพลังจิตอาสาเพื่อสังคม มีเยาวชนเข้าร่วมโครงการในฐานะนักเขียน 25 คน แทบทั้งหมดเป็นมือใหม่สมัครเล่น มีคนสองคนเท่านั้นที่เคยผ่านการอบรมในค่ายการเขียนมาก่อน พวกเขากระตือรือร้นอยากเขียน แต่การอ่านน้อยทำให้การเขียนเต็มไปด้วยความยากลำบาก วิทยากรพี่เลี้ยงอันประกอบด้วยชมัยภร แสงกระจ่าง, ขจรฤทธิ์ รักษา, อุรุดา โควินท์ และจะเด็จ กำจรเดช อ่านผลงานของพวกเขาทั้ง 25 คนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ให้คำแนะนำและพวกเขาก็แก้แล้วแก้อีก บางคนมีฝีมือเคยเขียนหรือเคยอ่านมาก่อนพอสมควร แทบไม่ต้องแก้ไขอะไรเลยก็มี แต่บางคนก็ทำซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเรียกได้ว่า “ช้ำ” ช้ำทั้งผลงานและช้ำทั้งใจของผู้เขียน แต่ในที่สุด ระยะเวลาประมาณเดือนเศษ ๆ พวกเขาก็สามารถก้าวผ่านได้ตามคุณภาพของตัวเอง ผลงานที่คัดสรรมารวมเล่มครั้งนี้เป็นผลงานที่วิทยากรพี่เลี้ยงมั่นใจแล้วว่า สามารถประกาศให้สาธารณะรับทราบได้แล้วว่า เด็กเฮ้ว หรือเยาวชนผู้มึความสุขทั้งทางกายและทางจิตเหล่านี้สามารถให้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องจิตอาสาได้ดีเพียงใด
การเรียนรู้จักตัวเองในเรื่องจิตอาสา
ความจริงเยาวชนทุกคนมีประสบการณ์ชีวิตอยู่แล้ว คำว่า “จิตอาสา” ไม่ได้อยู่ห่างไกลชีวิตและการเรียนรู้ เพียงแต่พวกเขายังไม่ได้ทดลอง “อ่าน” ประสบการณ์ชีวิตและการเรียนรู้เหล่านั้นแล้วถ่ายทอดออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อวิทยากรพี่เลี้ยงกระตุ้นมากๆ เข้า น้องๆ เยาวชนก็ทบทวน ย้อนรำลึกและทดลอง “อ่าน” ประสบการณ์ตัวเองแล้วถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษร อาทิ วรวิช วนธรรมสุจริต เขียนเรื่อง “การแข่งขัน” โดยนำประสบการณ์ในวัยเด็กมาพิเคราะห์ ใคร่ครวญและเขียนเพื่อตั้งคำถามเอากับการกระทำในเชิงจิตอาสาว่ามาจากจุดเริ่มอันใดกันแน่ จริงหรือจอมปลอม ในขณะที่นุชชา ประพิณ เขียน “ปัน” เพื่อแสดงให้เห็นกระบวนการต่อสู้ภายในใจของตัวละครที่เป็นตัวแทนเยาวชนในยามที่ต้อง “เสียสละ”เพื่อคนอื่น แต่บางที เธอก็รู้แต่ยังไม่ได้ทำ หรือยังไม่อยากทำ ซึ่งเธอก็เรียนรู้ว่า มีผู้ใหญ่พร้อมจะให้ความเข้าใจเยาวชนในเรื่องนี้ด้วย
จุดเริ่มของการมีจิตอาสามิใช่การถูกสั่ง หรือถูกบังคบให้ทำ หากแต่มีที่มาจากการมีความเห็นใจคนอื่นเป็นอันดับแรก “เม้ยคะนอง” ของอุรุดา โควินท์ วิทยากรพี่เลี้ยงก็คือภาพง่ายๆ ของการเห็นใจชีวิตอื่น อาทิ แมว หมาที่อยู่ใกล้ตัว แต่การจะเห็นใจคนอื่นนี้มิได้เกิดขึ้นได้ด้วยตัวคนนั้นเองเดี่ยวๆ อาจเกิดเพราะการอบรมเลี้ยงดูหรือสภาพแวดล้อม อธิวัฒน์ กุลวงษ์ เขียน “มีแต่ไห้กับให้” สะท้อนให้เห็นความเห็นใจคนแก่ของเยาวชนคนหนึ่งเพราะเขาคิดถึงคนแก่ที่บ้านของเขาเป็นอันดับแรก ในขณะที่รัตนา แก้วดวง ใน“ถุงเท้านางฟ้า” เรียนรู้จากการให้ “ถุงเท้า” แก่เด็กยากจน ที่ไม่มีรองเท้าใส่ว่า เพียงการสละของใกล้ตัวเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้คนอื่นมีความสุขได้
จุดเริ่มต้นของการเป็นจิตอาสา บางครั้งอาจจะไม่ได้มาจากความตั้งใจ แต่เมื่อได้ลงมือปฏิบัติแล้ว ผู้มีจิตอาสาจะเกิดความเข้าใจมนุษย์ เข้าใจชีวิตมากขึ้น และมองเห็นคนอื่นเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ดังที่ปรากฏใน “ผีเสื้อไร้แสง” ของ ปัณณพร เทพพานิช ที่สะท้อนความเป็นเพื่อนระหว่างคนตาดีกับคนตาบอด หรือบางครั้งการเห็นใจและเข้าใจคนอื่น จะเริ่มมาจากประสบการณ์ของตนเองหรือประสบการณ์ใกล้ตัวที่น่าเห็นใจ สิริธร หาญใจไทย สะท้อนไว้ใน “ขายควาย” ให้เห็นภาพอันสุดสะเทือนใจของครอบครัวชาวนาที่ขายควายพรากลูกกับแม่ และค้นพบว่า ยามที่พ่อต้องพรากไปจากครอบครัวเช่นเดียวกับควายนั้นมันทรมานและเจ็บปวดขนาดไหน
การมีจิตอาสาภายนอกแต่ลืมจิตอาสาภายใน
การมีจิตอาสาเป็นความตื่นเต้นประการหนึ่ง เพราะได้ออกไปพบสังคมภายนอก ได้ช่วยเหลือคนอื่นๆ เป็นการประกาศตัวตนให้โลกรู้จัก แต่จิตอาสาบางคนก็ลืมคนใกล้ตัว หรือลืมบ้านตัวเอง หรือลืมแม้กระทั้งงานของตนเองที่มีหน้าที่รับผิดชอบไปก็มี ใน “ดอกไม้จะบาน” ของ พาขวัญ พินิจกิจวัฒน์ สะท้อนปัญหาง่ายๆ ของจิตอาสาที่ตื่นเต้นกับการเสียสละเพื่อส่วนรวมจนลืมคนในบ้าน
ความเจ็บปวดของจิตอาสาหรือคนเฝ้ามองจิตอาสาประการหนึ่งก็คือ การที่จิตอาสาได้รับการยอมรับจากสังคมภายนอกอย่างสูง แต่สำหรับชีวิตหรือหน้าที่การงานที่เป็นการส่วนตัวกลับล้มเหลว “เก้าอี้ว่าง” ของนลิน สินธุประมา ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาของคุณครูที่ออกไปทำกิจกรรมภายนอก และลืมสอนเด็กนั้น เป็นปัญหาอันหนักหนาสาหัสที่ต้องใคร่ครวญ ทบทวนกันอย่างจริงจัง
จิตอาสาจริงกับจิตอาสาปลอม
จิตอาสาเป็นการทำเพื่อคนอื่น เป็นการกระทำเพื่อสังคมโดยรวม หากสังคมสงบสุข จิตอาสาก็ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด แต่ในทันทีที่มีปัญหาหรือวิกฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จิตอาสาจะช่วยแก้ปัญหา เยียวยาในระดับหนึ่งก่อนที่อำนาจรัฐจะเข้ามาจัดการ นั่นหมายความว่า คนที่เข้ามาจัดการในฐานะผู้บริหารประเทศไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดก็ตามจะต้องมี “จิตสำนึก”เรื่อง “จิตอาสา”ในระดับสูงด้วย ไม่ใช่มุ่งเข้ามากอบโกยผลประโยชน์
ขจรฤทธิ์ รักษา วิทยากรพี่เลี้ยง เขียน “ลูกแม่ไม่สั่งสอน” สะท้อนปัญหาของการไม่มีจิตสำนึกต่อส่วนรวมของคนในหน่วยงานของรัฐ ไม่ดูแลประชาชน ไม่มีมนุษยธรรม ผู้ถูกกระทำจึงต้องหาทางแก้แค้นแปลกๆ ไปตามมีตามเกิด เช่นเดียวกับ “พลเมืองมือสอง” ของ จเด็จ กำจรเดช วิทยากรพี่เลี้ยงแสดงให้เห็นถึงความละเลย เพิกเฉยของรัฐที่ทำให้สังคมเกิดมี “พลเมืองชั้นสอง” ที่ไม่เกิดแต่เพียงกับคนต่างชาติที่เข้ามาอาศัยแผ่นดินไทย หากแต่เกิดกับคนไทยเองด้วย พวกเขาเป็นผู้ที่ถูก “ลืม” ถูกลบความทรงจำไปแล้วเกี่ยวกับความทุกข์ความเศร้าที่ไร้การเยียวยา
เมื่ออำนาจรัฐล้มเหลว ไม่สามารถดูแลหรือจัดการให้สังคมสุขสมบูรณ์ตามที่ควรจะเป็นได้ จิตอาสาก็ต้องลุกขึ้นมาดูแลผู้คนในสังคมกันเอง ทำให้เป็นจิตอาสาเอกชน เช่นที่ ชมัยภร แสงกระจ่าง วิทยากรพี่เลี้ยงเขียน “สรวลเสียงสำเนียงป่า” สะท้อนเรื่องราวของคนรักป่าที่ยอมลงทุนปลูกป่าแทนรัฐ ในขณะเดียวกันพิมพ์กานต์ ภานุรักษ์ ก็สะท้อนปัญหาเรื่องการปลูกป่าไว้เช่นเดียวกัน ในเรื่อง “นานมาแล้ว ไม่มีวันลืม”สะท้อนจิตสำนึกรักป่าของครอบครัวหนึ่งที่สืบทอดการปลูกป่าส่งต่อกันไปเป็นทอด ๆจากปู่จนถึงหลานได้อย่างงดงาม
ระดับของจิตอาสาอาจพัฒนาไปถึงระดับอุดมคติ เป็นจิตอาสาที่ไม่ได้นึกถึงตัวเองหรือครอบครัว แมน คล้ายสุวรรณ สะท้อนภาพจิตอาสาในอุดมคติไว้ใน “รากแก้ว” ผ่านครูผู้เลี้ยงเด็กกำพร้าไว้ถึง 12 คนและเด็กคนหนึ่งที่ชื่อวายุ ก็ได้เป็นจิตอาสาในอุดมคติเหมือนกัน และเสียสละชีวิตไปในเหตุการณ์ความรุนแรงที่ภาคใต้
ในขณะเดียวกัน ชนาพร รัตนสะอาด ก็ได้สะท้อนภาพตำรวจในอุดมคติผู้มีจิตสำนึกเพื่อสังคมสูง ในเรื่อง “มือที่เอื้อมไปไม่ถึง” เขามีจิตอาสา สมัครไปอยู่ที่จังหวัดที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงภาคใต้โดยไม่กลัวตาย ทั้งที่รู้ว่าอันตรายใหญ่หลวง และลงจบด้วยการสละชีวิตอันถึงพร้อมด้วยอุดมคตินั้น
ตรงกันข้ามกับจิตอาสาอุดมคติ เยาวชนเสนอปัญหาจิตอาสาปลอม คือผู้อาสามิได้มีจิตอาสาจริง เพียงแต่อยากสร้างภาพลักษณ์ชั่วครั้งชั่วคราว ปรากฏอยู่ในเรื่อง “ไก่ไม่มีกระดูก” ของอาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณสะท้อนให้เห็นภาพลวงตาที่มาจากค่านิยมของสังคม
ผลของความไม่สำนึกต่อปัญหาสังคม
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการไม่สำนึกต่อปัญหาสังคม ไม่สนใจว่าใครคนอื่นจะเป็นอย่างไร ทำอะไร ไม่สนใจแม้กระทั่งว่าปัญหาสังคมคืออะไร ย่อมก่อให้เกิดปัญหาสืบเนื่องตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย เยาวชนได้สะท้อนให้เห็นว่า ทุกครั้งที่เกิดมีการกระทำผิดขึ้น ไม่ว่าจะร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง หากเมินเฉย ไม่ใส่ใจ การกระทำนั้นอาจขยายบานปลายจนเกินกว่าจะเยียวยาได้ “ใครกัน” ของ พรภวิษย์ ไตรคุ้มพันธุ์ สะท้อนให้เห็นว่า หากเขาใส่ใจเพื่อน ช่วยเพื่อนแก้ปัญหาแต่แรก เพื่อนก็จะไม่ฆ่าคนตาย เช่นเดียวกับ “มรสุมกลุ่มควัน”ของ สิรี จิตตรีกวีผล สะท้อนให้เห็นความเพิกเฉยระดับสูงขึ้นไปอีก สำหรับนักซิ่งมอเตอร์ไซค์ เพราะแม้มีการรณรงค์อยู่ตรงหน้า รวมทั้งเขาก็สนใจผู้หญิงผู้รณรงค์ด้วย เขายัง “กระด้าง” ในจิตถึงระดับที่ขับรถชนเธอตายได้ การสำนึกภายหลังจนยอมจับกุมคุมขังจึงเป็นผลลัพธ์ที่ไม่อจคืนชีวิตใครได้
เหนือยิ่งกว่านั้น บางครั้งปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมของเราไม่ใช่เพราะผู้กระทำและผู้ถูกกระทำเท่านั้น หากแต่เพราะมีผู้เพิกเฉยมึนชาต่อปัญหา เข้าข่ายว่า “ธุระไม่ใช่” กัณฐารัตน์ เส้งสุ้น สะท้อนความตายของนักศึกษาปีสุดท้ายคนหนึ่งเอาไว้ใน “น้ำตาที่ไหลอาบแก้ม” เพราะไม่มีใครช่วยเธอ คนที่อยู่รอบตัวเธอล้วนแต่เป็นผู้ร้ายร่วมกระทำต่อเธอโดยไร้สำนึกมนุษยธรรม
เรื่องสั้น 19 เรื่องในรวมเล่มนี้ ทำให้เห็นความหมายโดยรวมของคำว่า “จิตอาสา” ทำให้รู้ว่า ที่มาของคำนี้มิได้อยู่ห่างไกล หากแต่เกิดมาจากในเนื้อในตัวของมนุษย์ เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ ล้วนเรียนรู้และเข้าใจแล้ว เพียงแต่เขายังไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาออกมาได้เต็มร้อยดังที่ใจต้องการ ผลงาน 15 ชิ้นในที่นี่ และของวิทยากรพี่เลี้ยงอีก 4ชิ้น จึงเป็นตัวแทนของจิตอาสาทั้งมวล ด้วยความหวังว่า จะส่งผลสะเทือนต่อผู้คนทั้งหลาย เพื่อการก้าวไปสู่สังคมแห่งจิตสำนึกงดงามสมใจ
เรื่องสั้นทั้งหมดนี้จะหาอ่านได้ในหนังสือรวมเรื่องสั้น “ปัน” ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-612-6996-7 ต่อ 102
ที่มา : แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.