หญิงวัย 40 ปีขึ้นไป เสี่ยง ‘โรคนิ้วล็อก’
กรมการแพทย์แนะผู้หญิงที่มีอายุ 40 ขึ้นไป เลี่ยงหิ้วของหนัก ไม่ใช้งานมือนาน ให้พัก และออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อ
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคนิ้วล็อกเป็นความผิดปกติของนิ้วมือที่มีการสะดุดหรือล็อก ไม่สามารถกำหรือเหยียดนิ้วมือได้ปกติ พบในเพศหญิงร้อยละ 80 และเพศชายร้อยละ 20 โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป อาจเป็นเพราะใช้มือทำงานซ้ำๆ มากกว่าผู้ชาย เช่น หิ้วถุงหนักๆ บิดผ้า ซักผ้า กวาดบ้าน ถูบ้าน สับหมู สับไก่ และมีพฤติกรรมเหล่านี้เป็นเวลานานๆ รวมถึงผู้เป็นโรคเบาหวาน หรือผู้ที่เป็นโรครูมาตอยด์มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้มากขึ้น
อาการคือ ระยะแรกจะปวดบริเวณโคนนิ้วมือ กำมือไม่ถนัด หรือกำได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะตอนเช้าหลังตื่นนอน เวลางอที่จะเหยียดนิ้วมือมักจะได้ยินเสียงดังกึก ต่อมาจะมีอาการนิ้วล็อก คือ เวลางอนิ้วจะเหยียดขึ้นเองไม่ได้ มักเกิดกับมือข้างถนัดที่ใช้งาน ซึ่งอาจเป็นเพียงนิ้วเดียว หรือเป็นพร้อมกันหลายนิ้วก็ได้ บางรายอาจรุนแรงถึงนิ้วบวมชา ติดแข็งจนไม่สามารถใช้งานได้
สำหรับการรักษามีหลายวิธี ขึ้นกับอาการและความรุนแรงของโรค การรักษาในระยะแรกคือ พักการใช้งานของมือ ไม่ใช้งานรุนแรง รับประทานยาต้านอักเสบ ทำกายภาพบำบัด ช่วยลดอักเสบและติดยึดของเส้นเอ็นกับปลอกเอ็น แต่ในกรณีที่เป็นรุนแรงขึ้นอาจรักษาโดยใช้ยาต้านอักเสบร่วมกับฉีดสเตียรอยด์เข้าไปบริเวณปลอกเอ็น ซึ่งสเตียรอยด์มีคุณสมบัติลดอักเสบ ลดบวมของเส้นเอ็นและปลอกเอ็น ทำให้อาการดีขึ้นได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน และจะสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก
ทั้งนี้ ร้อยละ 50 ของผู้ป่วยจะหายจากอาการนิ้วล็อกหลังฉีดยาเข็มที่หนึ่ง ส่วนอีกร้อยละ 25 จะหายหลังฉีดยาเข็มที่สอง ซึ่งไม่ควรฉีดยาเกิน 2 ครั้ง ในกรณีที่นิ้วล็อกติดรุนแรงหรือพังผืดหนามากฉีดยาจะไม่ได้ผลแพทย์จะพิจารณาใช้วิธีผ่าตัด
ข้อแนะนำสำหรับวิธีหลีกเลี่ยงโรคนิ้วล็อก คือ ไม่หิ้วของหนักเกินไป ถ้าจำเป็นต้องหิ้วให้ใช้ผ้าขนหนูรอง และหิ้วให้น้ำหนักตกที่ฝ่ามือ อาจใช้วิธีอุ้มประคองหรือรถเข็นลากแทน เพื่อลดรับน้ำหนักที่นิ้วมือ หากเป็นช่างที่ต้องใช้เครื่องมือทุ่นแรง เช่น ไขควง เลื่อย ค้อน ควรใส่ถุงมือหรือห่อหุ้มด้ามจับให้นุ่มขึ้นและทำขนาดที่จับให้เหมาะสมกับการใช้งาน
สำหรับผู้ที่ต้องใช้มือทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ควรพักใช้มือเป็นระยะๆ และออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อมือบ้าง ไม่ควรขยับนิ้วหรือดีดนิ้วเล่น เพราะจะทำให้เส้นเอ็นอักเสบมากยิ่งขึ้น ถ้าข้อนิ้วฝืดตอนเช้าหรือมือเมื่อยล้า ให้แช่น้ำอุ่นร่วมกับขยับมือกำแบเบาๆ ในน้ำ จะทำให้ข้อนิ้วฝืดลดลง ฉะนั้น โรคนิ้วล็อกสามารถป้องกันและรักษาให้หายได้ ถ้ารู้จักวิธีดูแลตนเองอย่างถูกต้อง
ที่มา: เว็บไซต์สยามรัฐ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต