ส้มตำปูดิบ เสี่ยงพยาธิในปอด

/data/content/26769/cms/e_aefgmnprtuw9.jpg


          ความเสี่ยงในการรับประทานปูนาดิบที่อาจจะพบของแถมเป็นปลิง หรือพยาธิ โดยเฉพาะที่ใส่ลงไปในส้มตำ แต่ดูเหมือนประชาชนยังไม่ได้ตระหนักเท่าที่ควร


          แม้แพทย์จะออกมาเตือนบ่อยๆ เกี่ยวกับความเสี่ยงในการรับประทานปูนาดิบที่อาจจะพบของแถมเป็นปลิง หรือพยาธิ โดยเฉพาะที่ใส่ลงไปในส้มตำ แต่ดูเหมือนประชาชนยังไม่ได้ตระหนักเท่าที่ควร เปิบส้มตำปูกันอย่างแพร่หลายเช่นเดิม ล่าสุดหนุ่มชาวกรุงสั่งส้มตำปูรสเด็ด แงะกระดองปูออกก็เจอแจ๊กพอต ได้พยาธิตัวเป็นๆ ติดมาด้วย


          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เล่าให้ฟังว่า เพราะปูจะกินอาหารจากทั้งในดิน และในนํ้า จึงสะสมความอันตรายเอาไว้ 2 อย่าง คือด้วยการสะสมเชื้อโรค ต่าง ๆ จำนวนมาก โดยหลัก ๆ จะพบอยู่ 2 อย่างคือแบคทีเรียที่มีทั้งชนิดรุนแรงและไม่รุนแรง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดท้องเสีย แต่แบคทีเรียพวกนี้สามารถฆ่าได้ด้วยความร้อน ความเสี่ยงอีกอย่างคือได้สัตว์นํ้าอย่างอื่นตามมา อาทิ “ปลิง” ซึ่งตามปกติไม่สามารถอยู่ในตัวคนได้ เมื่อรับประทานเข้าไปจะถูกนํ้าย่อยย่อยทำให้ตายได้ แต่เชื้อโรคที่มากับปลิงอาจจะเข้าสู่ร่างกายได้เช่นกัน


          แต่ที่เป็นปัญหามากจากการรับประทานปูนา คือ พยาธิ ซึ่งมีหลายชนิดมาก ทั้งพยาธิตัวจี๊ด แต่ที่พบปัญหาจริง ๆ คือ “พยาธิใบไม้ในปอด” เวลากินปูดิบ ๆ เข้าไปก็มีโอกาสกินไข่ หรือตัวอ่อน ของพยาธิตัวนี้เข้าไป ซึ่งนํ้าย่อยในกระเพาะไม่สามารถฆ่าให้ตายได้ แม้พยาธิตัวนี้จะไม่สามารถแพร่พันธุ์ในตัวคนเราได้ แต่จะชอนไชเข้าไปในปอดฟัก ตัวอยู่ประมาณ 1 เดือนจนทำให้มีอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด และทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งบางคนจำไม่ได้ด้วยซํ้าว่าไปกินอะไรมา


          ทั้งนี้ การรักษามี 2 อย่าง คือ 1. รับประทานยาฆ่าพยาธิ แต่ตรงนี้ต้องเตือนก่อนว่าห้ามไปซื้อมารับประทานเอง เพราะยาฆ่าพยาธิที่มีในท้องตลาดไม่สามารถฆ่าพยาธิใบไม้ในปอดให้ตายได้ ต้องเป็นยาแรงที่แพทย์สั่งจ่ายเท่านั้น และในกรณีที่เป็นรุนแรงถึงขั้นเลือดออกไม่หยุดจะต้องผ่าตัด แต่สิ่งสำคัญการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือดแพทย์อาจจะไม่ได้นึกถึงโรคพยาธิใบไม้ปอดเจอได้น้อย และยังมีอาการคล้ายกับวัณโรค ปอดอักเสบ หรือมะเร็ง มากกว่า นี่จึงเป็นความท้าทายในการวินิจฉัย


          ในประเทศไทยโอกาสเจอผู้ป่วยไม่มากนัก นาน ๆ เจอที ถ้าเทียบปีหนึ่งไม่ถึง 10 ราย ส่วนใหญ่จะพบทางภาคเหนือ และภาคอีสาน เพราะประชาชนที่นั่นนิยมรับประทานปูดิบ ๆ และยังพบมีการทำนํ้าปูดอง คล้าย ๆ กับนํ้าปลาร้าเพื่อประกอบอาหาร โดยเฉพาะส้มตำ เป็นส่วนประกอบ ซึ่งวิธีการดองนั้นไม่มั่นใจว่าจะสามารถฆ่าพยาธิได้หรือไม่ ยกตัวอย่างพยาธิใบไม้ในตับที่อยู่ในปลานํ้าจืดชนิดเกล็ดนั้นเวลาทำปลาร้าจะต้องดองเกลืออย่างเข้มข้น และใช้เวลานานพอสมควร


           “ปูดองที่ใส่ในส้มตำในท้องตลาดบางทีเราก็ไม่รู้ว่าเขาดองนานแค่ไหน ดองกี่เดือน เพราะฉะนั้นการจะฆ่าพยาธิได้ก็ต้มให้สุกพยาธิก็ตาย โดยเฉพาะพ่อค้า แม่ค้าต้องช่วยด้วยการต้มให้สุก เพราะมันมีแบคทีเรียหลายอย่างที่ทำให้ท้องเสีย เพราะปูกิจอาหารในดิน ในนํ้าแบคทีเรียที่ทำให้ท้องเสีย” นพ.โอภาส กล่าวในตอนท้าย และตบท้ายด้วยว่า สำหรับเมนู “ปูคั่วเกลือ” ก็ไม่แน่ใจว่าที่เห็นกระดองเหลือง ๆ นั้นจะสุกจริง ๆ หรือไม่ หากแค่สุก ๆ ดิบ ๆ เชื่อได้เลยว่าพยาธิใบไม้ในปอดมันยังไม่ตาย


 


 


          ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code