ส่องความคิด สุดใจ พรหมเกิด ผู้เชื่อมั่นในพลังแห่งการอ่าน

ที่มา : เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์


ส่องความคิด สุดใจ พรหมเกิด ผู้เชื่อมั่นในพลังแห่งการอ่าน thaihealth


แฟ้มภาพ


การขับเคลื่อนส่งเสริมให้สังคมได้ตระหนักเห็นถึงความสำคัญของการอ่าน เพื่อเด็กและเยาวชนไทย ต้องอาศัยมุ่งมั่นตั้งใจ พร้อมประสานการทำงานรณรงค์ร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่องยาวนาน จึงจะสำเร็จเป็นจริงได้


เธอดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ซึ่งได้รับการสนับสนุนหลักจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเป็นผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) โดยเนื้องานของเธอ จึงมีความเชื่อมโยง สอดคล้อง สอดประสาน และคู่ขนานกับทั้งสองหน่วยงานที่เธอเป็นหัวขบวนหรือหัวเรือใหญ่ ทั้งยังร่วมด้วยภาคีเครือข่ายอีกไม่น้อยที่มาร่วมขับเคลื่อนรณรงค์การสร้างเสริมการอ่าน ชี้ชวนและร่วมลงมือลงแรงปฏิบัติ รังสรรค์หนังสือที่มีคุณค่าอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้สังคมเห็นถึงพลังและศักยภาพของการอ่าน


เธอคือ สุดใจ พรหมเกิด อดีตผู้จัดการ “สถาบันการ์ตูนไทย” ภายใต้ร่มเงาของมูลนิธิเด็ก ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เธอบริหารจัดการ สถาบันการ์ตูนไทยได้ชื่อว่าผลิตผลงานสร้างสรรค์เป็นจำนวนมาก และกวาดรางวัลมากมายจากหลายเวทีทั้งในและต่างประเทศ กระทั่ง ได้รับแรงดลใจจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี ประธานกรรมการมูลนิธิเด็ก ที่มองว่าหนังสือของสถาบันการ์ตูนไทย แทบจะกวาดรางวัลหนังสือดีเด่นจากการประกวดมากมาย แต่ทำไมจำนวนเล่มที่ตีพิมพ์ จึงไม่เขยิบขึ้นสักที กอปรกับเธอเองมีความสนใจส่วนตัว เมื่อมีโอกาสได้พบเจอนักเขียนหนังสือเด็กชั้นนำและบรรณาธิการหลายท่าน จึงเห็นแง่มุมว่าถ้าหากไม่วางรากฐานให้แข็งแกร่งตั้งแต่เด็กเล็ก ก็นับเป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้คนมาสนใจการอ่านเมื่อโตขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าสังคมให้ความสำคัญกับเรื่องของการอ่านน้อยมาก ด้วยความสนใจ แรงผลักดัน และภาคีเครือข่ายที่ร่วมให้การสนับสนุน ก่อกำเนิดเป็นองคาพยพของการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านที่น่าสนใจยิ่ง


อาทิ กิจกรรม ‘อ่านยาใจ’ ที่ช่วยเยียวยาจิตใจผู้สูญเสียบุคคลที่รักจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งระดมสมองผลิต สร้างสรรค์หนังสือนิทานที่ช่วยปลอบประโลมจิตใจของเด็กเล็กในภาวะวิกฤติโควิด-19 เช่นเดียวกัน การผสานความร่วมมือจากเครือข่ายที่หลากหลาย ทำให้หนังสือนิทาน และกิจกรรมการอ่าน แพร่ไปยังหลายพื้นที่ ไม่ว่าโรงพยาบาลสนาม ศูนย์เเยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation)


ไม่เพียงเท่านั้น ในปี 2565 สุดใจ ยังมีแนวคิด และตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะผลักดันให้เกิดสวัสดิการหนังสือสำหรับเด็กแรกเกิด โดยผสานความร่วมมือกับทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งกุมารแพทย์ เพื่อให้สังคมตระหนักถึงพลังของการอ่านที่เริ่มขึ้นได้นับแต่คุณแม่ตั้งครรภ์ เพื่อให้เด็กเล็กได้ซึมซับพลังแห่งความรัก ความไว้วางใจ อันเป็นรากฐานสำคัญของสังคมที่ดีงาม


‘อุดมคติ’ และยุทธศาสตร์ที่เธอคนนี้บอกเล่า ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่เธอคิด ขับเคลื่อน และผลักดันร่วมกับภาคีเครือข่าย ย่อมเกิดขึ้นได้จริง และเมื่อนั้น สังคมย่อมตระหนักในคุณูปการของสิ่งที่เธอสร้างสรรค์และรณรงค์อย่างมุ่งมั่นตั้งใจตลอดระยะเวลานานปีที่ผ่านมา


ภาพรวมการทำงานด้วย ‘หมวกสองใบ’ ที่สอดคล้องเชื่อมโยง


ถามถึงภาพรวมในกระบวนการทำงาน ทั้งในฐานะประธานมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน หรือในฐานะผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ว่าทั้งสองงานทำงานเชื่อมโยงกันอย่างไร มีกระบวนการทำงานที่น่าสนใจอย่างไร


สุดใจตอบว่า “เราเป็นเพียงมูลนิธิฯ เล็กๆ คณะกรรมการที่มาร่วมก่อตั้งก็ล้วนเห็นความสำคัญ งานของเรา เดิมทีหาทุนสนับสนุนค่อนข้างยาก ดังนั้น การที่เราได้ทุนสนับสนุนจาก สสส. ก็เพราะเป็นภารกิจที่ตรงกัน จึงคิดว่าเป็นงานที่น่าสนใจมาก ซึ่งงานของ สสส. เขาจะมีทั้งยุทธศาสตร์และแผนงาน เราเหมือนทำหน้าที่แทน สสส. เพราะฉะนั้น เมื่อคุณเป็นแผนงานและเป็นแผนงานเชิงรุกด้านยุทธศาสตร์ และหนุนเสริมสุขภาวะทางสังคม คุณก็ต้องทำงานรอบด้าน ซึ่งตามเป้าหมายของมูลนิธิฯ เราต้องการทั้งด้านแรก คือ การสร้างต้นแบบให้คนได้เห็น ได้เข้าใจ และได้ตระหนักถึงความสำคัญ ด้านที่สอง คือสื่อสารกับสังคม ซึ่งเรามีทั้งเว็บไซต์ มีแฟนเพจเฟซบุ๊คไว้เผยแพร่ข้อมูลรณรงค์ต่างๆ


ด้านที่สามคือ การทำงานวิชาการ ทำงานเผยแพร่ความรู้ และงานขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เมื่อต้องกลายเป็นแผนงานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนของ สสส.เราก็ทำเหมือนกันเลย แต่ว่าทำให้มันรอบด้านในแต่ละปี สุดใจกล่าวว่า ในส่วนของมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ปี 2564 นี้ รณรงค์เรื่องสวัสดิการหนังสือเด็ก โดยรณรงค์ให้มีการเอาหนังสือไปมอบ ซึ่งการมีทุนจาก สสส. ทำให้สามารถทำงานได้ทั้งสามด้านที่กล่าวไว้ข้างต้น สิ่งที่เห็นได้บ่อยๆ จะเป็นเรื่องกิจกรรมสื่อสารรณรงรงค์สังคม ซึ่งใช้เพจอ่านยกกำลังสุขเป็นพื้นที่ไลฟ์สด และจัดกิจกรรมวิชาการเผยแพร่สาธารณะ


งานพัฒนาความรู้ ผ่านรูปแบบสองประการ


สุดใจกล่าวว่า กิจกรรมหลักๆ จะเป็นงานพัฒนาความรู้ที่มีอยู่สองรูปแบบ


รูปแบบแรก ทำออกมาเป็นวารสารต่างๆ เรียกว่า ‘วารสารอ่านสร้างสุข’ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ ประเวศ วะสี ได้วางเอาไว้ ว่า ความสุขของเด็ก ต้องผูกติดอยู่กับความเพลิดเพลินรื่นรมย์เท่านั้น จึงจะทำให้เด็กเกิดการแสวงหาความรู้และจมดิ่งอยู่กับการอ่าน และก็สามารถต่อยอดไปยังเรื่องสื่ออื่นๆ หากการอ่านหนังสือนั้นแข็งแรง ก็สามารถพลิกแพลงแสวงหาความรู้ได้ทุกด้าน


“วารสารอ่านสร้างสุข เป็นการเก็บข้อมูลความรู้ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมทั้ง การทำงานของเราเอง ถอดบทเรียนออกมาเป็นซีรีส์ ตอนนี้ก็มี 20-30 เล่มแล้ว ก็เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ สามารถดาวน์โหลดอ่านฟรีได้หมดเลย


ประการที่สอง หากเราต้องการสร้างพฤติกรรมเด็กโดยนิทาน


เราควรจะออกแบบหนังสือแบบไหน ประเด็นนี้จะมีข้อปัญหาอยู่สองประการ ที่คนอาจเข้าไม่ถึงคือ ประเด็นปัญหาแรก ไม่รู้ว่าหนังสือสำคัญมาก โดยเฉพาะนิทานสำหรับเด็กนั้นสำคัญมาก


และประเด็นปัญหาที่สองคือ บางทีก็รู้ แต่ไม่อาจเข้าถึงหนังสือนิทานได้เลย


สำหรับคนยากคนจน เงินจำนวน 120 บาท ที่ซื้อหนังสือนิทานได้หนึ่งเล่ม เขาสามารถใช้เงินจำนวนนี้ซื้อข้าวกินได้สามวัน เพราะฉะนั้น เราต้องพยายามที่จะอุดช่องว่างตรงนี้ หนังสือที่เราผลิตขึ้นมาจึงกระจายไปยังกลไกต่างๆ ของเครือข่ายสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ที่ สสส. สนับสนุนอยู่แล้ว หนังสือก็จะกระจายไป และเข้าถึงเด็กให้มากที่สุด


อย่างเช่นช่วงที่เกิดสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 เราก็ต้องรีบผลิตหนังสือนิทาน ช่วงนั้นก็สับสนอลหม่านกันพอสมควร แต่บังเอิญว่า เราใกล้ชิด สสส. ซึ่งทำเรื่องสร้างเสิรมสุขภาพอยู่แล้ว เราก็สามารถผลิตหนังสือ มีข้อมูลที่สามารถกลั่นออกมาได้ และได้ ‘ครูแต้ว-ระพีพรรณ พัฒนาเวช’ มาเป็นบรรณาธิการเขียนเรื่องเอง และไปขอความร่วมมือกับ ‘ครูชีวัน’ บ้าง ( หมายเหตุ : ชีวัน วิสาสะ หรือ 'ครูชีวัน' นักเขียน-นักวาดภาพประกอบนิทานเด็ก ) หารือกับนักสร้างสรรค์ภาพ และเริ่มเผยแพร่ออกไปให้เร็วที่สุด กว้างที่สุด เนื่องจากงบประมาณเรามีจำกัด เราก็ต้องผสานพลังกับหลายฝ่าย ที่ผ่านมามีทั้งกรมอนามัย สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต และหลายๆ องค์กร เช่น องค์การค้าของคุรุสภา ก็มาช่วยเราจัดพิมพ์และเผยแพร่กระจายหนังสือ


‘องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย’ นี่ช่วยเราจัดพิมพ์ภาษาพม่าเลยนะคะ แล้วส่งไป จ.สมุทรสาคร ช่วงที่เกิดการระบายระลอกใหม่ล่าสุด เป็นต้น ปี 2564 นี้ โดยที่ยังไม่ถึงสิ้นปี เราก็มีหนังสือพิมพ์ออกมาจำนวนสามแสนเล่มแล้ว ซึ่งแต่ละองค์กร หน่วยงาน แต่ละภาคส่วนช่วยกันกระจายหนังสือออกไปให้ถึงเด็กๆ ให้มากที่สุด”


สุดใจระบุอย่างชัดเจนถึงความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ก่อนจะกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อมีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และศูนย์เเยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) ในความเห็นส่วนตัว สุดใจมองว่าน่าห่วงใยมาก เนื่องจาก เด็กๆ ที่ต้องไปอยู่ตามสถานที่เหล่านี้ ล้วนไปอยู่เฉยๆ ไม่มีกิจกรรมให้เด็กทำ หรือกรณีที่เด็กต้องกักตัวกับพ่อแม่อยู่ที่บ้าน ก็มีความเครียดมาก สุดใจพบว่าหนังสือหลายๆ เล่มของมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ที่เป็นเรื่องกิจวัตรประจำวันล้วนช่วยเยียวยาและปลอบประโลมจิตใจเด็กๆ และครอบครัวได้


สุดใจมองว่า หากสังคมเราต้องอยู่กับวิกฤติโควิด-19 ไปอีกนาน หนังสือนิทานของมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน จะสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งพบว่าสามารถช่วยปลอบประโลมได้


ดังเช่น หนังสือในโครงการอ่านยาใจ นอกจากนี้ หนังสือนิทานของมูลนิธิฯ ต้องส่งไปถึงเด็กๆ ที่อยู่ในโรงพยาบาลสนามและศูนย์เเยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation)


ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการจัดตั้งธนาคารหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยออนไลน์ขึ้น จัดตั้งกิจกรรมขึ้นในโรงพยาบาลสนาม เป็นต้น และกระจายหนังสือนิทานไปหลายที่ โดยมีหลายองค์กรมาร่วมสนับสนุน เช่น กำลังหลักอย่างสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ก็มีส่วนช่วยในการกระจายหนังสือ


สุดใจตอบว่า การที่ สสส. ให้ทุนสนับสนุนเรา ก็อาจเรียกได้ว่า แทบจะทำงานให้ สสส. เป็นหลัก แต่ก็มีหน่วยงานอื่นให้ทุนสนับสนุนเราบ้าง เช่น องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย (UNICEF) ให้เรา Training บุคลากรในกรุงเทพมหานคร เช่น ศูนย์พี่เลี้ยงเด็ก ศูนย์นมแม่ โดยส่วนใหญ่จะมีงาน Support อื่นๆ แต่ส่วนใหญ่จะทำงาน แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส.


เมื่อขอให้ช่วยเล่าถึงความเป็นมาของแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส.และมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ว่าก่อตั้งขึ้นมาด้วยแรงใจและวัตถุประสงค์ใด ก่อตั้งมากี่ปีแล้ว


สุดใจตอบว่า จริงๆ แล้ว อาจกล่าวได้ว่าเหมือนตนเองกับทำงาน สสส. มาก่อนแล้วด้วยซ้ำ ตั้งแต่ก่อนที่จะก่อตั้งมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ในปี พ.ศ.2559 เนื่องจาก ก่อนหน้านั้น สุดใจทำงานที่มูลนิธิเด็กมาก่อน โดยทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสถาบันการ์ตูนไทย ซึ่งอยู่ใต้ร่วมเงาของมูลนิธิเด็ก


“แล้วเราก็มีข้อตั้งคำถามตลอด ท่านอาจารย์ประเวศ วะสี ( หมายเหตุ : ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี ประธานกรรมการมูลนิธิเด็ก ) ท่านบอกว่า หนังสือของสถาบันการ์ตูนไทย แทบจะกวาดรางวัลหนังสือดีเด่นจากการประกวดมากมาย ไม่ว่าหนังสือดีเด่น ของ สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) หรือรางวัลของ รักลูกอวอร์ด เซเว่นบุ๊คอวอร์ด แล้วบางทีเราก็ส่งไปประกวดระดับ International Award ที่ประเทศญี่ปุ่น เราก็ชนะหลายๆ ประเทศ เราได้ทั้ง เหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดงน่ะค่ะ


ท่านอาจารย์ประเวศก็สงสัยว่า ทำไมพิมพ์ครั้งแรก จำนวน 2,000-3,000 เล่ม ทำไมไม่เขยิบจำนวนขึ้นสักที แล้วเราก็มีความสนใจส่วนตัว ซึ่งก็บังเอิญว่า มีโอกาสได้พบเจอนักเขียนหนังสือเด็กชั้นนำและบรรณาธิการหลายท่าน เราก็เห็นแง่มุมว่าถ้าเราไม่วางรากฐานให้แข็งแกร่งตั้งแต่เด็กเล็ก ก็เป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้คนมาสนใจการอ่านเมื่อโตขึ้น ซึ่งเราจะเห็นว่าสังคมให้ความสำคัญกับเรื่องของการอ่านน้อยมาก จริงอยู่ อาจดูให้ความสำคัญ แต่ในส่วนของรูปธรรมเรามองว่า เขายังให้ความสำคัญน้อยมากและมีการจัดสรรงบประมาณน้อยมาก หรือแผนที่ทำก็ไม่มี ไม่ว่าแผนเชิงปฏิบัติการ หรือตัวชี้วัดที่มันได้ผล” สุดใจระบุ


และกล่าวเพิ่มเติมว่า ระหว่างการที่ได้มาร่วมงานช่วย สสส. ทดลองโครงการเล็กๆ ก่อนหน้านั้นว่าถ้าเราจะทำแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน เราจะทำอย่างไร ซึ่งในปีที่สุดใจเข้ามาช่วยงาน สสส. นับเป็นช่วงปีที่รัฐบาลมีการขับเคลื่อนวาระการอ่านแห่งชาติ จึงได้รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่าน และเห็นการขับเคลื่อนในระดับนโยบายรัฐ ทว่า ในมุมมองของสุดใจ เห็นว่าเอาเข้าจริงแล้ว แผนในระดับนโยบาย ไม่สามารถแปรไปสู่ภาคปฏิบัติได้ ซึ่งเธออยากทำงานนี้ อยากขับเคลื่อนเรื่องการอ่าน


“ดังนั้น เมื่อ สสส.ชวน ก็เลยกระโดดเข้ามาทำงานในแผนงานยุทธศาสตร์สร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านอย่างเต็มตัวค่ะ” เธอระบุอย่างชัดถ้อยชัดคำและกล่าวเพิ่มเติมว่า จริงๆ แล้ว ในความรู้สึกลึกๆ มีความรู้สึกว่าเราต้องกลับมาสร้างรากฐานการอ่านในกลุ่มเด็กเล็ก โดยเฉพาะเมื่อเธอศึกษางานในต่างประเทศ พบข้อมูล งานวิจัยว่าไม่ใช่แค่เรื่องการอ่านเท่านั้น แต่ถ้าเราทำเรื่องเด็กเล็ก ควรต้องบูรณาการร่วมกับอีกหลายเรื่อง


พลังแห่งนิทาน ‘การอ่าน’ และ ‘การเล่น’ เพื่อช่วงชีวิตอันงามของเด็ก


สุดใจกล่าวว่า ช่วง 0-6 ปี นับตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ ถือเป็นช่วงมหัศจรรย์ของชีวิตมนุษย์เลยนะคะ เพราะทางการแพทย์พบว่า ในช่วงเวลานั้น สมองมนุษย์เติบโต มากกว่า 80%-90% ของชีวิตที่เหลือแล้ว ดังนั้น เราจะเสริมเรื่องอะไรในวัยเด็กเล็ก ถ้าเราช่วยทำให้เขางาม เขาก็งาม ให้เขารักตัวเอง รักชุมชน รักครอบครัวเป็น รักประเทศชาติเป็น และสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ในเรื่องการใช้สื่อ สุดใจเห็นว่า มีอยู่สองเรื่องที่คิดว่าเป็นฐานจำเป็นสำหรับการพัฒนาเด็กคือเรื่องของ ‘การอ่าน’ และ ‘การเล่น’


สุดใจระบุว่า การอ่านเป็นเรื่องของหนึ่งในกระบวนการเล่นกับเด็ก เนื่องจากหนังสือสำหรับเด็กเล็ก มีขึ้นเพื่อให้ผู้ใหญ่อ่านให้เด็กฟัง เมื่อผู้ใหญ่อ่านให้เด็กฟัง ผู้ใหญ่ต้องพูดกับเด็ก ต้องพูดคุย ต้องซักถาม เธอจึงยิ่งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ เห็นความสำคัญของการอ่าน ยิ่งทำให้สนใจมากยิ่งขึ้น


ในมุมมองของสุดใจ การอ่านของกลุ่มเด็กไม่ใช่เพียงเครื่องการเรียนรู้ทางภาษา หรือการเรียนรู้คลังคำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สำคัญ ถือว่าเป็นหัวใจของการวางฐานกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมด เพราะเมื่อไหร่ที่เด็กถอดรหัสการเรียนรู้ภาษา เขาจะเกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองแล้วเขาจะรู้ว่าเขาจะสามารถแสวงหาการเรียนรู้ได้จากที่ไหน มีอะไรที่สนองตอบการเรียนรู้ของเขาได้


สุดใจกล่าวว่า เมื่อคุยเรื่องภาษา เรื่องคลังคำของเด็ก อาจจะเรียกได้ว่าคือสิ่งที่กำหนดอนาคตหรือการเรียนรู้ของเด็ก ว่าเด็กจะเรียนรู้อย่างไร หรือจะดรอป จะออกจากโรงเรียนกลางคันหรือไม่ ถ้าเด็กเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตั้งแต่ในช่วงนี้ มีความเพลิดเพลิน โดยข้อบ่งชี้ที่สำคัญที่สุดก็คือ เด็กมีความสุขกับชีวิตหรือไม่ มีความสุขกับการอ่านตั้งแต่เล็กๆ หรือไม่ ซึ่งต่อให้เขาออกจากโรงเรียนกลางครัน แล้วเขายังสามารถค้นหาศักยภาพของตนเองเจอ เขาก็สามารถเติบโตขึ้นมาได้อย่างมีคุณภาพ


นั่นทำให้ สุดใจยิ่งเห็นภารกิจสำคัญของนิทานว่าตอบสนองความสนใจ ตอบสนองความต้องการไปพร้อมกับธรรมชาติของเด็ก นิทานทำให้เด็กสนุกสนาน ผ่อนคลายอารมณ์ ไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีภายนอกได้ตั้งแต่ตอนนั้น


สุดใจระบุว่า นอกจากนี้ หนังสือนิทานเด็ก ยังไม่ค่อยพบว่ามีกระบวนการมอมเมาเด็ก หนังสือเด็กหลายเล่มจากนักเขียนนิทานระดับท็อป หรือแม้แต่นักเขียนที่ก้าวเข้ามาใหม่ในแวดวง เมื่อเขาออกแบบหนังสือ หรือทำหนังสือนิทาน เขาเหล่านั้นล้วนทำมาเพื่อให้ผ้าขาวยิ่งมีความสดใสมากขึ้นด้วยซ้ำ


“หนังสือนิทาน จะบ่มเพาะคุณธรรมจริยธรรม และกระตุ้นพัฒนาการ ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม ที่เราเรียกว่าBandura น่ะ ตัวแบนดูรา (หมายเหตุ : อัลเบิร์ต แบนดูรา Albert Bandura นักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่ให้ความสนใจงานที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม ) เชื่อว่าเด็กเรียนรู้พฤติกรรมจากตัวแบบเชิงสัญลักษณ์ ตัวละครในนิทานเด็กจึงสำคัญมาก เที่ยงธรรมมาก เด็กจึงอยากจะเป็นคนดีดังเช่นตัวละครที่เขาสัมผัส และมักจะเป็นตัวละครที่ก้าวข้ามอุปสรรคนานาประการได้เสมอ ทำให้เด็กเล็กเข้าใจพฤติกรรมการแสดงออกที่เหมาะสมทางสังคม” สุดใจระบุถึงพลังและความสำคัญของนิทานที่ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก


หัวใจของการสร้างสรรค์นิทานสำหรับเด็ก


เมื่อหัวข้อสนทนากล่าวถึงกระบวนการในการทำหนังสือนิทาน สุดใจกล่าวว่า สิ่งที่เป็นหัวใจในการทำนิทานของมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านคือ


“เรามองว่าหนังสือที่เราออกแบบ ต้องไปเปิดหน้าต่างแห่งโอกาส (Windows of Opportunity) ของเด็กๆ ตามทฤษฎีหน้าต่างแห่งโอกาส ในปีแรกๆ ของการทำงาน เรายังไม่ได้ผลิตหนังสือของตัวเอง ในปี แรกๆ เราก็ใช้วิธีเชิญเพื่อนๆ สำนักพิมพ์ต่างๆ มา แล้วก็มาดูหนังสือกันว่า มีหนังสือแบบไหนที่ตอบสนองทฤษฎีหน้าต่างแห่งโอกาส ทฤษฎีที่ว่านี้มองว่า หน้าต่างแต่ละบานของการเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพมนุษย์ จะไม่เปิดขึ้นพร้อมๆ กัน


หน้าต่างบานแรกที่เปิด เป็นหัวใจที่เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ คือ ถ้าขาดสิ่งนี้ไป จะไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับใครได้เลย จะรักใครไม่เป็น จะเกลียดชังสังคม หน้าต่างนี้ จะเปิดในช่วง 0-2 ปีแรกของเด็ก ก็คือเรื่องของความรักความผูกพัน ความไว้วางใจ ซึ่งหาได้จากหนังสือง่ายมาก ดังที่เราเห็นได้จากหนังสือนิทานหลายเล่ม ที่ทำเรื่องการกอด การไว้เนื้อเชื่อใจกัน ตัวหนังสือแบบนี้เราก็ผลิตขึ้นมา แล้วเราก็ได้ใช้โอกาสอย่างมากในการส่งต่อหนังสือชุดเหล่านี้ให้เด็กๆ เมื่อเกิดโรงพยาบาลสนามและศูนย์เเยกกักตัวในชุมชน(Community Isolation)” สุดใจระบุได้อย่างเห็นภาพของการให้ความสำคัญต่อการสร้าสรรค์หนังสือนิทานสำหรับเด็ก และกล่าวเพิ่มเติมว่า


หนังสือนิทานชุดต่อมาที่มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านผลิตขึ้น ชุดหนังสือนิทานสำหรับชั้นอนุบาล ชุดที่น่าสนใจมาก เช่น ชุดหนังสือนิทานที่ทำให้รู้จักการแบ่งปัน การไม่ใช้ความรุนแรง ช่วยให้เกิดความรับผิดชอบ การก่อเกิดวินัย ซึ่งจริงๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้นในเด็กอย่างสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ 6 ขวบแรกของชีวิต


แนวคิดเหล่านี้คือสิ่งที่น่าสนใจ ที่สุดใจและมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการนำมาใช้เป็นฐานในการทำงาน และมอบให้กับเด็กๆ ซึ่งหนังสือนิทานทั้งหมดที่มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ผลิตขึ้น ณ ตอนนี้ มีเกือบร้อยเรื่องแล้ว โดยมีการอัพโหลดนำขึ้นระบบของเว็บไซต์ธนาคารหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยออนไลน์ เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองและครูสามารถโหลดไปใช้ได้ แนวคิดนี้เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติโควิด-19 เนื่องจากห้องสมุดหลายแห่งปิดทำการ ห้องสมุดก็ปิด ในสภาวการณ์เช่นนี้ ส่งผลกระทบต่อเด็ก ทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ถดถอยมาก


“ในช่วงภาวะวิกฤติโควิด-19 เราก็ได้ภาคีเครือข่ายมาช่วย และเราได้เปิดตัว เว็บไซต์ธนาคารหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยออนไลน์ ใครมีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ก็สามารถเข้าไปดูหนังสือของเราได้ เรารวบรวมหนังสือนิทานไว้หมดเลย ความตั้งใจก็เนื่องมาจาก โลกทุกวันนี้ เราอาจจะไม่สามารถ Protect เด็กออกจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตได้ แต่เราก็พยายามรณรงค์ว่าอย่างน้อยในช่วง 1-2 ปีแรกของเด็ก พ่อแม่ ต้องห้าม ไม่ให้เด็กใช้หน้าจอเหล่านี้เลย ใบหน้าของพ่อแม่ต่างหาก ที่สำคัญกับลูกมากกว่าหน้าจอโทรศัพท์


ดังนั้น ในเว็บไซต์ธนาคารหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยออนไลน์ จึงมีการบรรจุข้อมูลต่างๆ เพื่อให้พ่อแม่ทำความเข้าใจว่า ก่อนจะจูงลูกไปสู่หน้าจอ ต้องมีเงื่อนไขอะไรบ้างเพื่อให้พ่อแม่ได้รู้ นอกจากนี้ เราก็รวบรวมข้อมูล สรรพวิชาต่างๆ ว่าสำคัญอย่างไรต่อเด็ก พ่อแม่ก็สามารถเข้าไปดูได้ เพื่อเปรียบเทียบและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง” สุดใจระบุถึงคลังความรู้ที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อให้พ่อแม่เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของหนังสือที่มีต่อพัฒนาการเด็กมากกว่าหน้าจอโทรศัพท์”สุดใจระบุ


อ่านยาใจ : ปลอบประโลมใจผู้สูญเสียและมีบาดแผลทางใจ


ไม่อาจปฏิเสธว่า หนึ่งในโครงการของมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากประชาชน คือโครงการอ่านยาใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงภาวะวิกฤติโควิด-19 ที่เรื่องราวจากโครงการดังกล่าว มีส่วนอย่างยิ่งในการช่วยปลอบประโลมและเยียวยาจิตใจของผู้ที่บุคคลในครอบครัวต้องเสียชีวิตเพราะโควิด-19


สุดใจกล่าวว่า โครงการนี้ มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ทำงานร่วมกับหลายองค์กรมาก อาทิ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย The Publishers and Booksellers Associations of Thailand (PUBAT) รวมถึงเครือข่ายการ์ตูนไทยสร้างสรรค์สังคม และสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต


“ปีแรกที่จัดประกวด เราจับมือกันกับภาคีเครือข่าย ก่อนวิกฤติโควิด-19 ซึ่งจริงๆ แล้ว นอกจากวิกฤติโควิด-19 ยังมีสถานการณ์ที่น่าห่วงใยเรื่องหนึ่ง คือ ปัญหาการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น ข้อมูลที่เราเจอ เราพบว่าเด็กที่ฆ่าตัวตาย มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 11-19 ปี และมีแนวโน้มอายุน้อยลงเรื่อยๆ มีการฆ่าตัวตาย และมีการโทรมาปรึกษาสายด่วยสุขภาพจิตกับกรมสุขภาพจิตเรื่องการฆ่าตัวตายเป็นหมื่นครั้งเลยนะคะ


โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนกลุ่ม 11-19 ปี และ 20-25 ปี คิดเป็น 20.1% ถือเป็นสัดส่วนรวมเลยว่าเด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตาย เพราะเป็นโรคซึมเศร้าและมีความเครียดด้วยค่ะ ดังนั้น เราก็เลยคิด ว่าจะนำเอาการอ่านไปช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร การอ่านที่เราอยากให้เป็น ‘วิถี’ ว่า อยากให้คิดถึงสิ่งนี้ก่อน คือ ‘หนังสือ’ อยากให้หยิบฉวยมาใช้ นอกจากนี้ งานวิจัยหลายๆชิ้น ก็วิเคราะห์แล้วว่า ‘การอ่าน’ ช่วยลดความเครียดได้ดีมาก ลดความเครียดได้เร็วมากกว่าการเดิน มากกว่าการไปดื่มกาแฟ ซึ่งจริงๆ แล้ว เราอาจคิดว่าการไปออกกำลังกายนี่จะช่วยคลายเครียดได้ดีที่สุดใช่ไหมคะ แต่ในความจริงแล้ว คือ ‘การอ่าน’ ช่วยคลายเครียดได้ดีมากกว่า ซึ่ง แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ท่านก็นำเอาไปสืบค้นข้อมูลต่อนะคะ ทำให้พบว่าในสหรัฐอเมริกามีสถาบันกวีในระดับชาติเลย แล้วเขาก็ใช้บทกวีมาเยียวยาจิตใจ ในต่างประเทศ ก่อนที่หมอจะสั่งยาให้คนไข้ เขาสั่งหนังสือให้คนไข้ไปอ่านก่อนนะคะ


ตัวอย่างเช่นหนังสือบางเล่มของ สถาบันกวีของอเมริกา เขาก็มีการหมุนเวียนกันให้ยืมกันอ่าน กลายเป็นว่าในหนังสือแต่ละเล่ม หนังสือเหมือนเป็นยา บางเล่ม อ่านแล้วคุณจะเห็นคุณค่าของตัวเอง บางเล่ม อ่านแล้ว คุณจะเห็นคุณค่าของชีวิต บางเล่ม อ่านแล้ว จะยกระดับคุณค่าของจิตใจ แต่ทั้งหมดทั้งมวล คืออ่านแล้วสามารถคลายความเครียดได้ทันที ยกเว้นคนที่เป็นเยอะๆ หรือบางคนไม่อาจที่จะอ่านอะไรได้เลย แต่คุณหมอก็เชื่อว่า หากวางรากฐานการอ่านตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ เด็กเขาจะมีต้นทุน และเขาจะหยิบฉวยหนังสือก่อนสิ่งอื่นเลย เขาจะมีต้นทุนที่แข็งแรงมาก เพื่อเอาไว้ใช้ต่อสู้ชีวิตในทุกเรื่อง เพราะมันเหมือนกับว่า เขาอ่านเรื่องของคนอื่นมาเยอะมากแล้ว กระทั่งเวลาที่เขาต้องเผชิญมันด้วยตนเอง เขารู้ว่าเขาจะหยิบฉวยหน้าไหน ตอนไหนมาอ่านมาหยิบใช้ มันจะเป็นไปตามโดยอัตโนมัติ เหมือนการสั่งสมประสบการณ์”


สุดใจเล่าได้อย่างเห็นภาพของพลังที่หนังสือมีต่อการเยียวยาจิตใจผู้คน ก่อนเล่าถึงรายละเอียดของการอ่านยาใจ ว่า ในช่วงแรกๆ มีการประกวดเรื่องสั้นก่อน โดยให้ผู้ที่มีความทุกข์ เขาเขียนเล่าประสบการณ์มา แล้วนำผลงานที่ชนะการประกวดมารวมเป็นเล่ม ชื่อว่า ‘ความทุกข์ที่ผ่านพ้น’ ซึ่ง ณ ตอนนี้ก็มีให้อ่านในเว็บไซต์ https://www.happyreading.in.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน


สุดใจระบุด้วยว่า ได้รับเสียงตอบรับจากหลายๆ คน ที่เมื่อได้อ่านเล่มนี้แล้วมักจะบอกว่าทุกข์ของตนเองน้อยกว่าทุกข์ของคนที่เขียนเสียอีก แล้วบางคน มีความรู้สึกว่ามันเป็นสะพานหรือบันได ให้เขาก้าวผ่านความทุกข์ได้


ในประเด็นต่อมา สุดใจระบุว่า สิ่งที่น่าสนใจคือ หนังสือที่จะช่วยให้เขาผ่านความทุกข์ได้เร็วมากกว่าเรื่องสั้นก็คือบทกวี ซึ่งในปี 2564 นี้ ก็มีการประกวดเรื่องสั้น และบทกวี หมดเขตไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในช่วงปลายปี 2564 นี้ก็อยู่ระหว่างคัดสรร คาดว่าน่าจะประกาศผลและรวมเล่มได้ ประมาณช่วงต้นปี พ.ศ.2565


นอกจากนี้ เครือข่ายที่ทำงานร่วมกัน อาทิ เครือข่ายการ์ตูนไทยสร้างสรรค์สังคม ซึ่งมีโอกาสร่วมงานกันตั้งแต่เมื่อครั้งที่สุดใจเป็นผู้จัดการที่สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก ก็ยังคงทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และในบางทีก็ทำงานแบบคู่ขนาน


“ในบางทีที่เราทำงานแบบคู่ขนานกัน แต่ก็มาบรรจบกันได้ค่ะ เช่นเมื่อครั้งที่เราทำ ‘วรรณกรรมยาใจ’ เขาก็บอกว่า ‘ทำไมไม่ทำศิลปะยาใจด้วยล่ะ’ เราจึงได้รวบรวมนักเขียนการ์ตูน นักเขียนภาพและข้อความให้กำลังใจ เผยแพร่ผ่านเพจ อ่านยกกำลังสุข” สุดใจระบุ


เมื่อขอให้เล่าถึงพลังแห่งการอ่านในห้วงวิกฤติโควิด-19 ว่า โครงการอ่านยาใจ ที่ได้ส่งหนังสือให้กับเด็กๆ ตามศูนย์เเยกกักตัวในชุมชน(Community Isolation)และโรงพยาบาลสนาม รวมถึงสถานที่ต่างๆ ยังมีอะไรอีกบ้าง ที่สะท้อนให้เห็นได้อีกว่า การอ่านยาใจได้เยียวยาจิตใจเด็กๆ และผู้ป่วยในสังคมในแง่มุมอื่นใดอีกบ้าง และมีอะไรที่อยากจะทำเพิ่มเติมอีกนอกเหนือจากการรวมเล่มบทกวี


สุดใจตอบว่า เมื่อไม่นานมานี้ ได้จัดงาน “อ่านยาใจ : ภูมิคุ้มใจเพื่อเด็กปฐมวัย” ขึ้น ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ธนาคารจิตอาสา มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง (Peaceful Death) ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน


พลังแห่งการอ่าน เพื่อเยียวยาจิตใจจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก


สุดใจกล่าวว่า ที่ผ่านมา โครงการอ่านยาใจ ส่วนใหญ่แล้ว ทำงานกับวัยรุ่น แต่โดยฐานงานของสุดใจ มากกว่า 80% จะทำงานในกลุ่มเด็กเล็ก ดังนั้น การอ่านยาใจ จึงมีเวอร์ชั่นเด็กเล็กด้วย โดยเมื่อปี 2563 หรือปีที่แล้ว พบว่า มีเด็กที่เป็นกำพร้าประมาณ 300-400 คน เด็กบางคน คุณพ่อคุณแม่เสียชีวิต หรือเด็กๆ ที่อยู่กับผู้เฒ่าผู้แก่ แล้วคนเหล่านั้นเสียชีวิตด้วยโควิด-19 เด็กเล็กๆ เขายังไม่เข้าใจเรื่องความตาย ไม่เข้าใจว่าทำไม จู่ๆ เขาถึงไม่เห็นคนๆ นี้ ประเด็นนี้ เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจและน่าสนใจมาก เนื่องจาก กว่าเด็กจะเข้าใจเรื่องความตายอย่างจริงๆ จังๆ ก็ล่วงเข้าวัย 9 ขวบแล้ว ที่เขาจะรู้ว่าการเสียชีวิตเป็นอย่างไร การที่ร่างกายหยุดทำงานเป็นอย่างไร


หรือในบางแง่มุมที่พบ พบว่าบางครั้ง คนที่ใกล้ตัวเด็ก ก็อาจจะเศร้ามาก จนไม่รู้ว่าเด็กเล็กเองก็มีความสับสนกังวลใจ เศร้า และเครียดเป็น ในเวลาที่ผู้ใหญ่เครียดและโกรธ เด็กก็จะสามารถรับรู้อารมณ์เหล่านั้นได้ทั้งหมด สิ่งนี้จึงน่ากังวลอย่างยิ่ง และเป็นที่มาให้จัดกิจกรรม “อ่านยาใจ : ภูมิคุ้มใจเพื่อเด็กปฐมวัย” ขึ้น เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2564 ในวันนั้น ก็จะเป็นการจัดงานร่วมกับ องค์กรหลักๆ และภาคีเครือข่ายดังที่กล่าวไปข้างต้น ในวันงานนั้น มีผู้บริหารอาทิ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มี พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข มีนางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีผู้เชียวชาญด้านจิตวิทยา


สุดใจกล่าวว่า “ภาพของหนังสือที่งดงาม ถ้าผู้ใหญ่อ่านให้เด็กฟัง และทำให้เด็กเข้าใจเรื่องนี้ ก็จะเป็นเครื่องมือที่ได้พูดคุยกับเด็กด้วยว่า เหมือนบ้านเราเลยนะ บ้านเราเกิดอะไรขึ้น แล้วเราก็ไม่อยากให้เด็กจมจ่อมอยู่กบความเศร้า เราก็เลยจะมีหนังสืออีกพาร์ทหนึ่ง ที่สามารถปลุกพลังใจเชิงบวกให้เด็กๆ เดินไปข้างหน้าพร้อมกับผู้ใหญ่ได้ เวลาผู้ใหญ่เล่า ตัวนิทานทำหน้าที่เล่าเรื่อง


ดังนั้น นิทานไม่ได้ปลุกปลอบแค่เด็ก แต่ยังปลุกปลอบผู้ใหญ่ด้วย ดังนั้น เมื่อไหร่ที่ผู้ใหญ่มีขวัญที่ดี เขาก็จะอยู่เคียงข้างกับเด็ก ทำให้เด็กซึมซับความเข้มแข็งขึ้นน่ะค่ะ วันนั้น เราก็เปิดตัวนิทานสองเรื่อง คือ ‘ตุ๊กตาของหนู’ โดยอาจารย์ปรีดา ปัญญาจันทร์ ซึ่งเราก็อัพโหลดให้อ่านฟรีในเว็บไซต์ของธนาคารเพื่อเด็กปฐมวัยออนไลน์ ควบคู่ไปกับ หนังสืออีกเล่ม คือ ‘หางตุ้มกับหูตั้ง’


เขียนโดยคุณ ระพีพรรณ พัฒนาเวช (นักวาดภาพ : ชาญศิลป์ กิตติโชติพาณิชย์ จัดพิมพ์และเผยแพร่ : แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน )”


ถามว่า เมื่อผู้ได้รับหนังสือ เขาอ่านแล้ว เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไรแก่ตัวเขาและครอบครัวบ้าง


สุดใจยกตัวอย่างว่า “มีเคสที่สะเทือนใจค่ะ มีกลุ่มแม่วัยใส ที่เขาทำงานกับกลุ่มแม่วัยรุ่น เราก็รู้กันว่าแม่วัยรุ่นไม่ได้มีงานที่รายได้เยอะ บางครั้ง ก็อาจจะตกงานทั้งคู่กับสามี กลุ่มแม่วัยใสเขาไปช่วยเหลือ เวลาเขาตั้งกลุ่มไลน์ อ่านนิทานให้ลูกฟัง เราก็ได้ทราบความลำบากของแต่ละคน บางคนก็บอกว่า กินมะม่วงมา 3 วันแล้ว ไม่มีข้าวตกถึงท้องเลย เมื่อพบปัญหาแบบนี้ เราก็พยายามระดมทุนไปช่วยเหลือ สนับสนุน ทั้งเรื่องนม และหนังสือด้วย


มีแม่บางคน เขาเขียนมาเล่าให้ฟังว่า สิ่งหนึ่งที่ปลอบใจเขาได้อย่างมาก คือเมื่อไหร่ที่เขาหาทางออกไม่ได้ แต่เมื่อเขาหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านให้ลูกฟัง เขาจะมีความสุขมาก เป็นช่วงเวลาเดียวที่จิตใจเขาได้สงบ เขารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งเดียวที่ปลอบประโลมเขา เมื่อกอดลูกอยู่เขารู้สึกว่าเขามั่นคงขึ้น มีความสุขขึ้น และมันทำให้เขารู้สึกเลยว่าเขาจะต้องเข้มแข็งเพื่อลูก เราฟังแล้วเรารู้สึก ‘ใช่เลย’ หนังสือเหล่านี้จึงไม่ใช่เพียงแค่ ‘ยาใจ’ แต่ยัง ‘ปลุกปลอบใจ’ ให้เข้มแข็งด้วย” สุดใจบอกเล่า


‘นิทาน’ ที่เชื่อมโยงพลังแห่งการอยู่รอด


ไม่เพียงระบุพลังแห่งการอ่านยาใจและปลุกปลอบใจให้เข้มแข็ง สุดใจยังกล่าวเพิ่มเติมว่า


“นิทานบางเรื่องที่เราทำออกมา เพราะเราคิดว่า ช่วง Long Covid-19 เราต้องหาอะไรที่เป็นการอ่านที่เชื่อมโยงกับความอยู่รอด เราก็เลยคิดชุดหนังสือขึ้นมาชุดหนึ่ง ชื่อว่า นิทาน ‘ปลูกผักสนุกจัง’ เริ่มจากเล่มแรก จริงๆ แล้วไอเดียเราเป็นอย่างนี้ค่ะ


เราคาดหวังให้เกิดความเข้าใจว่า เมื่อพ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง ต้องอ่านอย่างไร คือต้องอ่านแบบไม่ชี้นำ อ่านแล้วคุยกับลูก แต่หลังจากอ่านหนังสือจบ คุณต้องให้เวลาที่มีคุณภาพกับลูกด้วย คุณต้องชวนลูกคุย ให้ลูกแสดงทัศนะ ได้เปิดโอกาสให้ลูกแสดงความคิดเห็น สิ่งเหล่านี้สำคัญมาก ดังนั้น อย่าจบแค่อ่านหนังสือ


ดังนั้น สำหรับหนังสือชุด ‘ปลูกผักสนุกจัง’ เล่มแรกที่ตีพิมพ์ออกมาแล้ว พ่อแม่สามารถชวนลูกไปเพาะต้นหอมและถั่วงอก แล้วทำกินได้เลย เพราะมันใช้เวลาแค่ไม่ถึง 7 วันค่ะ


เล่มต่อมา ก็มี ‘สวนผักของตา’ เพราะเราอยากให้พ่อแม่ ก้าวไปอีกก้าว นั่นคือผักบางชนิดปลูกครั้งเดียวแล้วกินได้แรมปีเลย อาทิ คะน้า ผักไชยา ผักหวานบ้าน อ่อมแซบ แล้วเราพบว่านิทานเรื่องนี้สนุกมาก เพราะเป็นกิจกรรมระหว่างที่พ่อแม่ Work From Home หลายครอบครัว สนุกกับเล่มนี้มาก


เล่มสุดท้ายในชุดนี้คือ ‘ดอกไม้ของแม่’ เราจะเห็นว่า ดอกไม้นั้น จริงๆ แล้ว อาจจะใช้เป็นสิ่งที่พ่อแม่สามารถพูดเชื่อมโยงไปได้ไกลๆ ได้ เช่น บ้านเรามีพื้นที่ อยู่ไร่หนึ่ง สามารถโยงไปไกลๆ ให้ลูกเห็นว่า เราสามารถเก็บไว้เพื่อปลูกดอกไม้ได้ เพื่อให้ผึ้งคืนชีวิตกลับมาผสมเกสร คุณสามารถปลูกดอกไม้ง่ายๆ ได้ เช่น ทองอุไร มะลิ กุหลาบ ปลูกได้หลายอย่าง เอามากินได้ด้วย อย่างเช่น ดอกชบานี่นำมาทอดกรอบอร่อย สิ่งเหล่านี้ทำได้เอง สนุกมาก เพื่อทำให้เห็นว่า ดอกไม้ถ้าจะทำให้ปลูกแล้วกินได้ คุณต้องปลูกเอง จะไปซื้อที่ตลาดมาทำอาหารนี่ไม่ได้เลยนะคะ เพราะไม่รู้ว่าเขาใส่สารอะไรมาบ้าง” สุดใจถ่ายทอดใจความสำคัญและกิจกรรมน่าสนใจที่คุณพ่อคุณแม่สามารถชวนลูกทำได้ไม่ยากหลังอ่านหนังสือจบ ก่อนจะเล่าเพิ่มเติมว่า หนังสือชุด‘ปลูกผักสนุกจัง’ นี้ไปสานพลัง กับ ‘โครงการ อาหารปลอดภัย’ ที่เน้นเรื่องของความปลอดภัยในอาหาร ซึ่งสุดใจทำงานร่วมกับกลุ่มคนจนเมือง มีหลายคนลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้ ไม่เพียงเท่านั้น เขายังทำโครงการพี่อ่านหนังสือให้น้องฟัง และลุกขึ้นทำแปลงผักเองด้วย ซึ่งเป็นแปลงผักที่มีสมุนไพร ช่วยให้เขาสามารถนำสิ่งที่ปลูกมาดูแลตนเองได้ และช่วยให้เขารอดจากโควิด-19 ทำให้เราได้เห็นว่า หนังสือกลายเป็นสิ่งที่สามารถช่วยได้หลายชีวิต


“และสิ่งที่เราคิดว่าเป็นประโยชน์มากที่สุดคือ นับตั้งแต่มีโครงการนี้เข้าไป มันมีโอกาสที่ช่วยให้เด็กๆ ได้มาพบกันเพื่อแลกเปลี่ยนหนังสือ คุณย่าคุณยายบางคน ยอมมาเป็นอาสาสมัคร ทำให้เกิดบรรยากาศของความเป็นชุมชนกลับคืนมา คุณพ่อบางท่านนี่ขัดเขินมาก เดินเอาเงินออมสำหรับสร้างบ้านมาให้ บอกว่า ‘ขอออมนะเดือนนี้ ขอออมเท่านี้ แต่ขอให้ลูกอ่านหนังสือให้ฟังด้วย’


เรามีความรู้สึกว่า การอ่านเป็นการสานความสัมพันธ์ของชุมชน ครอบครัว และฟื้นพลังของทั้งชุมชนให้มาทำเรื่องดีๆ ด้วยกัน เป็นสิ่งเหลือเชื่อและมหัศจรรย์มาก” สุดใจระบุถึงพลังของหนังสือที่ช่วยฟื้นบรรยากาศของความเป็นชุมชนให้คืนกลับมา


ยุทธศาสตร์ ‘สาม ส.’ รัฐต้องตระหนัก-สร้างสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็ก


นอกจากพลัง คุณูปการของนิทานและการอ่านที่มอบให้กับผู้คนในสังคมแล้ว สุดใจกล่าวว่า ยังมีเรื่องที่อยากเอ่ยถึง คือหลักการที่องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ได้วางเอาไว้ว่า ถ้าสังคมสามารถทำให้การอ่านเข้มแข็งได้ เด็กต้องไม่ซื้อหนังสือเอง รัฐต้องเป็นผู้จัดสรรและทำให้เกิด ‘สวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กแรกเกิด’ เป็นหนังสือเพื่อเด็กแรกเกิด หรืออย่างน้อยต้องมีหนังสือเด็กในทุกๆ บ้าน


สุดใจระบุว่า เมื่อสองปีที่แล้ว สำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำการเก็บข้อมูลและพบว่า ครอบครัวไทย มีครอบครัวที่ไม่เคยมีหนังสือเด็กเล็กในบ้านและไม่เคยเห็นหนังสือเด็กเล็กเลยมีจำนวนมาก 1.1 ล้านครัวเรือน


ดังนั้น จะทำอย่างไร ให้หนังสือไปถึงเด็กๆ ทุกบ้าน จึงจะมีการระดมทุน ระดมความเห็นกันครั้งใหญ่ในปี 2565 สุดใจประเมินว่าจะร่วมมือกับหลายๆ องค์กร เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญว่า เราต้องมีสวัสดิการหนังสือ เพื่อพัฒนาการในการเรียนรู้ เพื่อสมรรถนะของเด็กปฐมวัย ทุกๆ องค์กรต้องมาช่วยกัน


“เราจะขอให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ มาช่วยกัน หน่วยงานไหนที่ช่วยให้เกิดสวัสดิการหนังสือได้ อย่างเช่นองค์กรภาคเอกชนที่มีความสามารถอยู่แล้ว ลองมาทำดูไหม เช่น มอบหนังสือให้แม่ตั้งครรภ์ และในช่วง 2 ปี แรก เด็กต้องมีหนังสือครบ หรือศูนย์อนามัยต่างๆ ทุกครั้งที่เด็กไปฉีดวัคซีน มีหนังสือให้เด็กได้ไหม โดยเราจะใช้ ยุทธศาสต์ ‘สาม ส.’


ส. แรก ก็คือ ‘สร้างเสริมการอ่านตั้งแต่แรกเกิด’ โดยบุคลากรทาการแพทย์ควรให้ความรู้แก่แม่ตั้งครรภ์ แม่ต้องมีความรู้ว่าต้องอ่านหนังสือให้ลูกฟังนะ ต้องอ่านหนังสือกับลูก ต้องเน้นย้ำ ถ้าให้หนังสือดีๆ กับแม่ ให้บทกวีดีๆ กับแม่ไปได้ ตั้งแต่แรกๆ ก็จะยิ่งมีประโยชน์แก่เด็ก


ส. ที่สอง คือ ‘โอกาส การเข้าถึงหนังสือ’ เด็กทุกคน ควรจะมีโอกาสเป็นเจ้าของหนังสืออย่างน้อยสามเล่มในบ้าน นี่เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงนะคะ และเราจะมีแผนปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับเด็กอยู่แล้ว ซึ่งหลายๆ ทั่วโลก ก็ทำเรื่องนี้ เรื่องสวัสดิการหนังสือ


ส. ที่สาม คือ ‘สร้างเสริมศักยภาพ บุคลากรและชุมชน’ เพื่อพัฒนาและทำให้การอ่านเป็นวิถีวัฒนธรรมจริงๆ เช่น อาจขอให้กระทรวงมหาดไทย หรือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมกิจการเด็กและเยาวชน และ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงาน องค์กรเหล่านี้ต้องมีบุคคลที่ส่งเสริมการอ่านในทุกระดับได้ จึงจะสามารถทำให้แผนปฏิบัตินี้เป็นจริง


ต้องมีมุมหนังสือในบ้าน รวมทั้งในสถานที่สาธารณะ แม้แต่ในสนามเด็กเล่ม ทุกๆ ที่เราสามารถทำมุมหนังสือได้” สุดใจทิ้งท้ายอย่างเชื่อมั่นและชัดเจนในสิ่งที่สร้างสรรค์ นั่นคือการรณรงค์สร้างเสริมการอ่าน เพื่อให้สังคมตระหนักถึง ‘พลังของหนังสือ’ และ ‘การอ่าน’ ว่าเปี่ยมพลานุภาพ ทรงประสิทธิผลต่อสังคมเพียงไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเริ่มต้นนับแต่เด็กปฐมวัย เพื่อสร้างรากฐานการอ่านอย่างมั่นคง


ตราบนั้น เด็กที่มีจิตใจเต็มเปี่ยม ได้เรียนรู้หลากหลายสิ่งจากหนังสือนิทานที่มีคุณค่า โดยเฉพาะเรื่องราวที่สะท้อนถึงความรัก ความไว้วางใจ และหนังสือที่ให้แง่คิดอันงาม เหมาะกับแต่ละช่วงวัยของเด็ก ตราบนั้น เขาย่อมเติบโตขึ้นมาอย่างผู้ที่ตระหนักถึงคุณค่าในตนเองอย่างแท้จริง

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ